จากการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่มีสหรัฐฯ สหราชอณาจักร ฝรั่งเศส รัสเซีย และจีนเป็นสมาชิกถาวร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้พยายามเสนอเรื่องการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ เนื่องจากเกาหลีเหนือได้ทดลองการปล่อยขีปนาวุธกว่า 2 ครั้ง ตลอดระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเกาหลีเหนืออ้างว่าเป็นขีปนาวุธนำทางเชิงยุทธวิธีที่ตนพัฒนาขึ้น
อย่างไรก็ดี ความพยายามของสหรัฐฯ กลับล้มเหลว เนื่องจากจีนและรัสเซียได้ “ชะลอ” ข้อเสนอของสหรัฐฯ ทำให้เกิดความโกลาหลบนเวทีประชาคมโลก โดยเฉพาะพื้นที่คาบสมุทรเกาหลีของแปซิฟิกมากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม ถึงแม้เกาหลีเหนือจะอ้างว่า ตนได้ทดลองปล่อย “ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิค” ซึ่งเป็นขีปนาวุธทีมีความเร็วเหนือแสงกว่า 5 เท่าตัว
นักการทูตให้ข้อมูลว่า จีนใช้ข้ออ้างในการชะลอข้อเสนอคว่ำบาตรเกาหลีเหนือของสหรัฐฯ ว่า คณะกรรมการยังต้องทำการศึกษาเรื่องการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือเพิ่มเติม ในขณะที่รัสเซียอ้างว่า ตนต้องการหลักฐานเพิ่มเติมมากกว่านี้ เพื่อที่จะสามารถให้การรับรองข้อเสนอจากทางสหรัฐฯ ได้
จากแถลงการณ์ร่วมของคณะมนตรีความมั่นคงถาวรและไม่ถาวร ได้แก่ สหรัฐฯ อัลแบเนีย บราซิล ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ระบุว่า การทดลองขีปนาวุธในครั้งนี้ของเกาหลีเหนือ “แสดงให้เห็นถึงความความพยายามของระบอบการปกครอง (เกาหลีเหนือ) ที่จะมุ่งมั่นไปกับโครงการพัฒนาอาวุธทำลายล้างสูงและขีปนาวุธในทุกวิถีทาง ซึ่งรวมถึงการขูดรีดด้านการเงินของประชาชนของตนเองด้วย”
“มันจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐสมาชิกทั้งหลายจะต้องออกมาตรการที่จำเป็น ในการคว่ำบาตรอำนาจทางกฎหมายของพวกเขา หรือการปล่อยให้เกิดความเสี่ยงที่รัฐบาลเกาหลีเหนือจะพัฒนาอาวุธไปได้โดยง่าย” แถลงการณ์ข้อเสนอการคว่ำบาตรเกาหลีระบุ นอกจากนี้ ในข้อเสนอการคว่ำบาตรยังมีการเสนอให้มีการห้ามการโอนถ่ายสินทรัพย์และการเดินทางบุคคลชาวเกาหลีเหนือ 5 ราย ซึ่งทั้ง 5 รายกำลังอาศัยอยู่ในรัสเซียและจีน
มติการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ จำเป็นจะต้องอาศัยฉันทามติเดียวกันจากสมาชิกทั้ง 15 ชาติ ซึ่งเป็นสมาชิกถาวร 5 ชาติ และสมาชิกไม่ถาวรอีก 10 ชาติ ทั้งนี้ สหรัฐฯ พยายามหารือกับเกาหลีเหนือมาโดยตลอดในการยุติโครงการพัฒนาขีปนาวุธนิวเคลียร์ อย่างไรก็ดี การพูดคุยเจรจากลับสะดุดหยุดลงตั้งแต่ปี 2562 ในยุคสมัยของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ความพยายามในการหารือเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือภายใต้ยุคสมัยของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบันยังคงไม่ราบรื่น และห่างไกลจากความสำร็จ ในการสร้างบทสนทนาระหว่างสองชาติเพื่อนำไปสู่หนทางของการปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ เนื่องจาก คิม จองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือปฏิเสธการพูดคุยเจรจา ก่อนเดินหน้าโครงการทดลองขีปนาวุธอย่างไม่หยุดยั้ง
เกาหลีเหนือใช้ข้ออ้างในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เพื่อการป้องกันตนเองจากภัยคุกคามของต่างชาติ โดยเฉพาะ “จักรวรรดินิยมสหรัฐฯ” มาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลังคิมผู้นำรุ่นที่สามครึ่งครองอำนาจเกาหลีเหนือต่อจากผู้เป็นพ่อและปู่ ทั้งนี้ โลกยังคงต้องจับตาการเจรจา ตลอดจนมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือต่อไป ว่าจะช่วยลดความร้อนแรงในคาบสมุทรเกาหลีเหนือ หรืออาจสุมไฟความขัดแย้งให้ฝังรากลงลึกมากยิ่งขึ้น
ที่มา: