แม้จะทำหนังของตัวเองมาไม่กี่เรื่อง แต่ชื่อของ อเล็กซ์ การ์แลนด์ ถือว่ามีความสำคัญต่อวงการภาพยนตร์อย่างมาก เขาคือคนเขียนนิยายเรื่อง The Beach (1996) (ถ่ายทำในประเทศไทยจนเกิดเรื่องอื้อฉาว) เป็นคนเขียนบทหนังดังๆ อย่าง 28 Days Later (2002), Sunshine (2007), Never Let Me Go (2010) และ Dredd (2012) จะเห็นได้ว่าเครดิตการเขียนบทของการ์แลนด์เกี่ยวพันกับหนังไซไฟมาตลอด เมื่อกำกับหนังของตัวเองเขาก็มุ่งในแนวทางนั้นอย่างแน่วแน่ โดยการ์แลนด์ทำหนังมา 2 เรื่อง คือ Ex Machina (2014) และ Annihilation (2018) (ผู้เขียนเคยเขียนถึงไว้ที่นี่)
ข้อโดดเด่นในผลงานของการ์แลนด์คือการตั้งคำถามถึง ‘ความเป็นมนุษย์’ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะชายหนุ่มที่มีความรู้สึกดีให้กับหุ่นยนต์สาวใน Ex Machina หรือเหล่านักวิทยาศาสตร์ผู้เผชิญกับสิ่งมีชีวิตและธรรมชาติที่กลายพันธุ์ เอาเข้าจริงแล้วหากพูดให้ชัดเจนขึ้น ธีมที่การ์แลนด์สำรวจอยู่เสมอคือเมื่อมนุษย์ได้ปะทะกับเทคโนโลยีหรือสิ่งที่มีภูมิปัญญาสูงกว่าเรา สิ่งเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อความเป็นมนุษย์อย่างไร หรือมันทำให้ตัวละครมีความเป็นมนุษย์ลดน้อยลงหรือไม่
ปี 2020 การ์แลนด์กลับมาอีกครั้งกับ Devs ซีรีส์ความยาว 8 ตอนที่ออกอากาศทางช่อง Hulu แม้ผลงานก่อนหน้าอย่าง Annihilation จะซับซ้อนจนค่ายหนังตัดสินใจไม่ฉายโรงและไปลงเน็ตฟลิกซ์แทน แต่ดูเหมือนการ์แลนด์จะไม่เข็ดหลาบแต่อย่างใด Devs จึงกลายเป็นงานที่ไม่ประนีประนอม มีทั้งพล็อตที่เข้าใจยาก รวมไปถึงบทพูดยาวเหยียดของตัวละครที่บางครั้งก็ทำเอาคนดูอุทานในใจว่า “นี่พวกมันพูดเรื่องอะไรกันอยู่(วะ)”
Devs เล่าถึงลิลลี่ (โซโนยะ มิซุโนะ) หญิงสาวที่ทำงานด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ในบริษัทเทคโนโลยีชื่อดัง แฟนหนุ่มของเธอได้รับเลือกเข้าโครงการลับสุดยอดของบริษัทที่ชื่อว่า Devs ลิลลี่ไม่รู้เลยว่ามันเกี่ยวข้องกับอะไร ทว่าวันถัดมาแฟนของเธอกลับหายตัวไปอย่างลึกลับ การตามหาคนรักและสืบสาวเบื้องหลังของ Devs ทำให้ชีวิตของลิลลี่พลิกผันชนิดที่ตัวเธอไม่มีทางคาดถึง
แม้จะถูกนิยามว่าเป็นแนว Techno-Thriller แต่ Devs ไม่ใช่ซีรีส์ลุ้นระทึกที่ขับเน้นด้วยการตัดต่อหวือหวาหรือเพลงเร้าอารมณ์ ตรงกันข้ามว่ามันดำเนินเรื่องอย่างเนิบนาบ ดนตรีประกอบเป็นเพลงแอมเบียนต์หลอกหลอน แถมบางช่วงยังมีเพลงฝั่งตะวันออกสุดประหลาด แต่สิ่งที่ปรากฏเสมอในงานของการ์แลนด์คือการออกแบบความเป็นไซไฟด้วยบรรยากาศเฉพาะตัว ไล่ตั้งแต่ห้องทดลองกลางป่าใน Ex Machina, รุ้งประหลาดจาก Annihilation ส่วนห้องแล็บใน Devs เต็มไปด้วยไฟวูบวาบสีทอง เหมือนดิสโก้เทคมากกว่าแล็บทางเทคโนโลยี
(บทความต่อจากนี้เปิดเผยเนื้อหาของ Devs)
หลังจากมึนงงกับเรื่องราวในซีรีส์ไปพักใหญ่ ช่วงท้ายเรื่องผู้ชมได้รับการเฉลยว่า Devs คือเทคโนโลยีที่รวบรวม big data จนสามารถฉายภาพของ ‘อดีต’ และ ‘อนาคต’ ในรูปแบบภาพเคลื่อนไหวได้ ทีมสร้างย้อนไปดูเหตุการณ์พระเยซูถูกตรึงไม้กางเขน ขณะเดียวกันพวกเขาก็ดูเรื่องราวในภายภาคหน้าด้วยภาพคมชัดไม่ต่างอะไรจากการชมภาพยนตร์
ฟอเรสต์ (นิค ออฟเฟอร์แมน) เจ้าของโครงการ Devs สร้างสิ่งนี้ขึ้นมาด้วยบาดแผลในอดีตที่สูญเสียภรรยาและลูกสาวไปจากอุบัติเหตุรถยนต์ แต่เขาไม่ได้ต้องการหาทางย้อนอดีตไปแก้ไขเหตุการณ์แต่อย่างใด เพราะฟอเรสต์เชื่อในแนวคิด determinism หรือการที่ทุกสิ่งอย่างถูกกำหนดไว้แล้วไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ฟอเรสต์สร้าง Devs ขึ้นมาเพื่อพิสูจน์ว่าแม้เราจะได้เห็นภาพอนาคต เราก็ไม่สามารถเปลี่ยนการกระทำของตัวเอง เขาต้องการยืนยันว่าเมียกับลูกของเขาถูกกำหนดไว้แล้วว่าต้องตาย
ความคิดที่ว่า “ถ้าฉันไม่โทรไปหาเธอตอนขับรถ พวกเขาคงไม่ตาย” ไม่มีอยู่จริง เพราะชีวิตของคนเรานั้นมีเส้นทางเดียว พูดอีกแบบว่าฟอเรสต์ปฏิเสธแนวคิดว่าคนเราอาจมีชีวิตในรูปแบบอื่นหรือ Many-worlds interpretation อย่างสิ้นเชิง
นอกจากนั้นฟอเรสต์ยังไม่ใช่พวกนักวิทยาศาสตร์เพ้อคลั่งที่พยายามชุบชีวิตลูกสาวตัวเอง อย่างที่กล่าวไปว่าเขาเชื่อกับชุดคำอธิบายว่า ‘ลูกถูกกำหนดไว้แล้วว่าต้องตาย’ การได้ดูความเคลื่อนไหวในอดีตของลูกสาวผ่าน Devs จึงเป็นสิ่งที่ฟอเรสต์พึงพอใจแล้ว ถึงกระนั้นกลับมีเรื่องน่าประหลาดว่า Devs ได้โปรเจกต์ภาพอนาคตไว้ว่าฟอเรสต์จะถูกลิลลี่ลั่นไกสังหาร จากนั้นทั้งคู่ก็เสียชีวิตด้วยตกจากที่สูง ซึ่ง Devs สิ้นสุดการฉายภาพไว้ ณ ตรงนี้
แต่เมื่อซีรีส์ตัดกลับมายังเส้นเรื่องปัจจุบัน ปรากฏว่าลิลลี่ตัดสินใจไม่ยิงฟอเรสต์ นั่นทำให้เข้าใจได้ว่าทำไม Devs ถึงไม่สามารถบอกเล่าอนาคตต่อไปได้ เนื่องจาก Devs สร้างบนแนวคิด determinism หากแต่ลิลลี่ ‘เลือก’ ตัดสินใจด้วยตัวเอง นั่นแปลว่าลิลลี่มีเจตจำนงเสรีหรือ free will (ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับ determinism) หรือกล่าวได้ว่าลิลลี่คือคน ‘ทำลาย’ ระบบของ Devs
เนื้อหาในฉากนี้ยังอิงกับแนวคิดทางศาสนาคริสต์ด้วย ก่อนหน้านั้นฟอเรสต์ได้เปิดเผยว่า แท้จริงแล้วชื่อของ Devs คือ Deus ซึ่งแปลว่าพระเจ้า การกระทำของลิลลี่จึงเป็นการท้าทายพระเจ้า ลิลลี่ไม่ต่างอะไรจากอดัมและอีฟที่ฝ่าฝืนคำสั่งของพระเจ้าเข้าไปกินแอปเปิลในสวนเอเดน เช่นนั้นแล้วจุดเริ่มต้นของมนุษยชาติและจุดจบของ Devs (หรือ Deus-พระเจ้า) ล้วนมาจากสิ่งเดียวกันนั่นคือ ‘ความดื้อแพ่ง’ (disobedience) ของมนุษย์
อย่างไรก็ดี แม้ลิลลี่จะแสดงถึง free will ของตัวเอง แต่ท้ายสุดแล้วเธอและฟอเรสต์ก็ตายจากการตกจากที่สูงเช่นเดิม ในขณะที่ผู้ชมกำลังสับสนกับความก้ำกึ่งของ free will กับ determinism และคำถามสำคัญว่ามนุษย์เราสามารถกำหนดทิศทางชีวิตตัวเองได้หรือไม่ ซีรีส์ก็ยิ่งสร้างความเหวอมากขึ้นไปอีก เมื่อฟอเรสต์กับลิลลี่กลับมามีชีวิตอีกครั้งในสถานะ post-human โดยทั้งคู่มีชีวิตอยู่ในโลกจำลอง (simulation) ของ Devs เป็นโลกที่ภรรยาและลูกของฟอเรสต์ยังมีชีวิตอยู่และแฟนหนุ่มของลิลลี่ยังไม่หายตัวไป ลิลลี่รู้สึกสับสนว่าเธอควร ‘ดำเนินชีวิต’ อย่างไรในโลกจำลองแห่งนี้ ฟอเรสต์กลับตอบเธออย่างง่ายๆ ว่า “ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ก็แค่ตามน้ำไป”
จะเห็นได้ว่า Devs เป็นซีรีส์ที่เล่นกับความคลุมเครือในหลายประเด็น อย่างเช่นสถานะของ ‘พระเจ้า’ หากมองเผินๆ ฟอเรสต์อาจมีสถานะเหมือนพระเจ้าที่สร้าง Devs ขึ้นมา ทว่าเขาไม่สามารถควบคุมการตัดสินใจของลิลลี่ได้ แต่ในตอนจบลิลลี่ก็ต้องไปอยู่ในโลกจำลองที่ฟอเรสต์สร้างขึ้นมา ถึงกระนั้นฟอเรสต์ไม่ใช่คนที่มีอำนาจสูงสุดในโลกจำลอง คนดูได้รับทราบต่อมาว่าลูกน้องของฟอเรสต์ได้ขอร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลเปิดสวิตช์การทำงานของ Devs ไว้ตลอดกาล (เพื่อไม่ให้โลกจำลองหายไป) ก็เหมือนเป็นเรื่องตลกร้ายที่ผู้มีสถานะใกล้เคียงพระเจ้าที่สุดคือรัฐบาล
ความคลุมเครือสำคัญอีกอย่างคือเรื่องของ free will ในบทสรุปของซีรีส์ ลิลลี่เลือกการตัดสินใจที่ต่างออกไปจากเดิม เธอไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับ Devs เธอทิ้งคนรักแล้วกลับไปหาแฟนเก่า (เธอได้เรียนรู้จากตอนยังอยู่ใน ‘โลกจริง’ ว่าแฟนเก่าคือคนที่รักเธออย่างไม่มีเงื่อนไข) คำถามคือการเลือกในที่นี้ของลิลลี่ถือเป็น free will ได้หรือไม่ หรือมันเป็นการเลือกที่มีเงื่อนไขของโลกจำลองครอบอยู่ และเราจะถือว่าฉากที่ลิลลี่กับแฟนเก่าสวมกอดกันเป็นแฮปปี้เอนดิ้งหรือเปล่า คำถามเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องขบคิดกันต่อไป
แต่อย่างหนึ่งที่ดูเหมือนจะชัดเจน คือในบางสถานการณ์ หากเรา ‘เชื่อง’ ไปกับระบบ เราก็จะได้รับความสะดวกสบายที่ยากจะต้านทาน จึงเชื่อได้ว่าลิลลี่ในเวอร์ชันโลกจำลองคงไม่คิดก่อการ disobedience อีก