ไม่พบผลการค้นหา
'สว.ถวิล' ขอกระทรวงยุติธรรมทบทวน บทลงโทษและระเบียบของราชทัณฑ์ เหตุอำนาจย่อหย่อน ทำคนไม่กลัวคุก

วันที่ 26 ธ.ค. ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 5 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) ที่มี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ถวิล เปลี่ยนศรี สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวหารือกรณีถึงกระบวนการยุติธรรมที่ดี จะต้องปกป้องคุ้มครองคนดี ผู้ถูกกระทำ และอีกทางหนึ่งต้องทำให้คนไม่ดีเกรงกลัวต่อการถูกลงโทษและไม่กล้ากระทำความผิดซ้ำอีก แต่สังคมไทยในวันนี้การบังคับโทษให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลกลับย่อหย่อน และไม่เกิดเกิดขึ้นจริงในทางปฎิบัติอาจทำให้คนในสังคมไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายการลงโทษ ทำให้เกิดความไม่ยับยั้งชั่งใจในการกระทำความผิดและเป็นอันตรายต่อสังคมขึ้นเรื่อยๆ 

ถวิล ได้ยกตัวอย่างเรื่องโทษประหารชีวิตในประเทศไทยว่าขณะนี้ยังมีอยู่ทั้งในข้อกฎหมายและคำพิพากษาของศาล แต่การปฏิบัติให้เป็นจริงกลับไม่ปรากฏตลอดมา โดยการประหารชีวิตครั้งล่าสุดของประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อปี 2561 ห่างจากการลงโทษประหารชีวิตครั้งก่อนหน้าถึง 9 ปี และหลังจากปี 2561 แล้ว ประเทศไทยยังไม่มีมีการประหารชีวิตเกิดขึ้นอีกเลย เช่นเดียวกับการลงโทษจำคุกตลอดชีวิตก็ไม่เป็นจริง ในทางปฎิบัติเกิดการลดโทษและติดคุกเพียงไม่กี่ปี ซึ่งบางคดีติดคุกเพียง 6-7 ปีเท่านั้น

เช่นเดียวกับโทษอื่นๆ ที่มีการพักโทษและอภัยโทษ กระทั่งเหลือจำคุกเพียงไม่กี่ปี เช่น คดีทุจริตจำนำข้าว ที่ผู้กระทำความผิดถูกตัดสินจำคุกตั้งแต่ 36 ปี 40 ปี 48 ปี และ 50 ปี ปรากฏว่าได้รับการลดโทษ และติดคุกเพียงไม่กี่ปี และบางรายใกล้พ้นโทษออกมาแล้ว

“จึงเป็นคำถามที่ตามมาในสังคมว่า เมืองนี้ใจดีเกินไปหรือไม่ มีมาตรการลดโทษพักโทษ ระเบียบของราชทัณฑ์มากเกินไปหรือไม่ ซึ่งไม่รวมถึงการจำคุกนอกเรือนจำอีก ประเทศนี้จะอยู่กันอย่างนี้หรือ คนเริ่มไม่กลัวคุกตาราง ไม่กลัวการลงโทษอะไรอีกแล้ว ทุกขั้นตอนกว่าจะเอาคนผิดมาลงโทษนั้นต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมที่ยากเย็นเยอะแยะยากเย็น และมีขั้นตอน ต่างๆมากมาย แต่เมื่อได้รับโทษแล้วมีมาตรการที่มาผ่อนปรน จนกระทั่งไม่ได้รับโทษจริง“

ถวิล ระบุว่า ต้องการให้กระทรวงยุติธรรมทบทวนเรื่องเหล่านี้ให้รอบคอบ ทั้งกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะในชั้นของกรมราชทัณฑ์ ที่เป็นจุดอ่อนถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด ไม่ว่าผู้ต้องขังจะได้รับโทษกี่ปี ท้ายที่สุดก็จะถูกตัดทอน