การเปิดตัวพรรคใหม่ 'พรรคประชาชาติ' เป็นผลมาจากการประชุมพรรควันนี้ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่ประชุมซึ่งมีทั้งนักการเมืองหน้าเก่าและนักกิจกรรมรุ่นใหม่ได้คัดเลือกผู้บริหารพรรคจากการเปิดตัวสมาชิกคนทำงาน โดยพรรคประชาชาติชูแนวทางทำงานในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้
พรรคประชาชาติเป็นการจับมือกันระหว่างกลุ่มการเมืองที่ทำงานเกี่ยวข้องกับภาคใต้ โดยเฉพาะคนที่เคยร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย ที่สำคัญคือแกนนำกลุ่มวาดะห์ที่เคยอยู่กับพรรคเพื่อไทย และพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นอกจากนั้นยังมีกลุ่มนักกิจกรรมรุ่นใหม่เข้าร่วมงานด้วย
นายวันมูฮัมมัดนอร์ มะทา ในฐานะหัวหน้าพรรค และพ.ต.อ.ทวี เลขาธิการพรรคได้นำทีมแถลงข่าวให้รายละเอียดเรื่องแนวทางของพรรคว่า พรรคนี้เน้นให้ความสำคัญกับความปรองดอง การอยู่ร่วมกันของคนในสังคมที่หลากหลายกลุ่มและชาติพันธุ์ การใช้ความยุติธรรมที่ "ตรงไปตรงมา" แก้ไขความขัดแย้ง และการกระจายอำนาจเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหามากขึ้น
นายวันมูฮัมมัดนอร์ระบุว่าพรรคประชาชาติเป็นที่รวมของผู้คนที่หลากหลาย "เราเน้นในเรื่องของความเสมอภาคของคนทุกชาติพันธุ์และทุกภูมิภาค ไม่ใช่เฉพาะชนชาติมลายูหรือภาคใต้ ไม่ว่าเผ่าพันธุ์ใด" และเรื่องการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างให้เกียรติกัน
"ที่ผ่านมา นโยบายของรัฐบาลหรือความคิดคนไทยมักคิดเชิงเดี่ยว คนไทยมีพวกเดียว คนอื่นเราไม่ค่อยแคร์ บ้านเมืองนั้นมีความหลากหลายทั้งศาสนา ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ถ้าเราเข้าใจและให้เกียรติมุมมองต่างๆ มันจะลดความขัดแย้งได้ ขอให้ใช้นโยบายการอยู่ร่วมกันของสังคม อย่ามองเป็นสังคมเชิงเดี่ยว อย่ามองแค่ให้ความสำคัญแค่คนกลุ่มเดียว ไม่เช่นนั้นความมั่นคงจะลด โลกไปไกลแล้ว เรื่องชาตินิยมน่าจะลดลงและน่าจะเป็นเรื่องการสร้างประชาชาติมากกว่าในเวลานี้"
นายวันมูฮะมัดนอร์ชี้ว่า พรรคได้ทำงานการเมืองในพื้นที่มานานนับปีกว่าที่จะตกลงก่อตั้งและประกาศตัว มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ที่ชี้ชัดว่า ประชาชนยังต้องการพรรคการเมืองใหม่และนโยบายใหม่ พรรคจะมีผู้สมัครจากกลุ่มคนไทยหลายชาติพันธุ์ ในภาคใต้นั้นจะส่งผู้สมัครลงทุกเขต 50 เขต รวมทั้งในกรุงเทพมหานคร ที่เหลือนั้นจะส่งผู้สมัครลงแข่งขันตามศักยภาพ เป้าหมายคือต้องการที่นั่งตั้งแต่ 20 ที่นั่งขึ้นไป
ความยุติธรรมจะช่วยลดความขัดแย้งได้
พ.ต.อ.ทวี ผู้รั้งตำแหน่งเลขาธิการพรรคชี้ถึงแนวทางของพรรคในการแก้ไขความขัดแย้งในสังคม โดยบอกว่าสังคมไทยปัจจุบันมีวิกฤติใหญ่สองด้าน หนึ่งในนั้นคือ "ความขัดแย้งทางการเมืองสีเสื้อ" และการจะแก้ความขัดแย้งดังกล่าวต้องใช้กระบวนการยุติธรรมตามความเป็นจริง
พ.ต.อ.ทวี ยกตัวอย่างเหตุการณ์ในภาคใต้หลายเหตุการณ์ว่า แม้กระบวนการยุติธรรมปกติจะดำเนินไปจนจบ เช่น กรณีเหตุการณ์กรือเซะหรือเหตุการณ์ตากใบ แต่ประชาชนยังรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม ทั้งที่มีการตั้งกรรมการตรวจสอบและมีการฟื้นฟูเยียวยา
ขณะเดียวกัน พ.ต.อ.ทวีระบุว่า การให้อภัยเป็นเรื่องสำคัญ "แต่การจะให้อภัยได้ต้องทำความจริงให้ปรากฏอย่างตรงไปตรงมา" พร้อมกับยืนยันว่าความยุติธรรมจะสามารถลดความขัดแย้งได้ และพรรคต้องการสร้างมิตรภาพระหว่างคนต่างกลุ่ม
เปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม
ส่วนในภาคใต้นั้น การแก้ปัญหาเผชิญความท้าทายเรื่องความหวาดระแวงระหว่างผู้คนที่ยังคงมีอยู่ ซึ่งเขาบอกว่าพรรคเชื่อว่าจะพัฒนาวิธีการแก้ปัญหาได้ แต่จะต้องจริงจังกับการสร้างสันติภาพ "และต้องให้พื้นที่กับคนไทยพุทธในพื้นที่" พร้อมกับบอกว่าพรรคเองก็มีคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างสันติภาพเข้าร่วมหลายคน นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคที่ยังว่างอยู่คาดว่าจะมีผู้หญิงเข้าร่วมด้วยเขายืนยันว่าการแก้ไขความขัดแย้งนั้น จะต้องให้พื้นที่กับทุกฝ่ายและต้องรับฟัง
พ.ต.อ.ทวีเปิดเผยแนวทางของพรรคว่า ขณะนี้ ในพื้นที่มีการใช้กฎหมายพิเศษหลายฉบับ สิ่งที่พรรคต้องการจะทำ "เราไม่ได้ยกเลิก แต่เราจะเปลี่ยนผู้ใช้ จากกองกำลังเป็นประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพราะภาคพลเรือนและประชาชนรู้ดี"
ส่วนเรื่องการสานต่อการสร้างสันติภาพเขายืนยันว่ายังจะต้องมีการพูดคุยกันอย่างแน่นอน แต่จะต้องคุยกันด้วยพื้นฐานที่เปิดกว้างรับฟังปัญหาทั้งหมดจากทุกฝ่าย
"เราเป็นพี่น้องกันต้องค��ยกันอยู่แล้ว และคุยบนพื้นฐานทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายเอาปัญหามา อย่าไปปิดกั้น ถ้าเรื่องดังกล่าวอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ต้องคุยกัน"
นอกจากนั้น เมื่อเอ่ยคำว่าพหุวัฒนธรรม พ.ต.อ.ทวีกล่าวถึงขั้นว่า มีการถกกันในพรรคว่า การใส่ร้ายยุยงให้เกิดความเกลียดชังกันในระดับคนต่างกลุ่มต่างวัฒนธรรมนั้น กำลังศึกษากันอยู่ว่าควรจะมีข้อเสนอถึงขั้นให้มีกฎหมายในเรื่องนี้โดยเฉพาะหรือไม่
ความมั่นคงกับความสุขควรเป็นเรื่องเดียวกัน
ส่วนที่มีผู้สอบถามเรื่องความสัมพันธ์กับฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ นายวันมูฮัมมัดนอร์ยืนยันว่าพรรคประชาชาติทำงานการเมืองด้วยนโยบายมุ่งสร้างความสมานฉันท์
"เรามองว่าความมั่นคงกับความสุขของประชาชนควรเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ใช่ฝ่ายความมั่นคงทำด้านเดียว ถ้าประชาชนมีความสุขแต่บ้านเมืองวุ่นวายก็ไม่ใช่วิถีของพรรค บ้านเมืองต้องสงบ ประชาชนมีความสุขคือเป้าหมาย ผมเองทำการเมืองมานานอายุก็มาก ถ้าเราทำการเมืองต่อไปแล้วประเทศเจริญตามวิถีแต่คนไทยยังทะเลาะกัน ผมคิดว่าความก้าวหน้าแบบนี้ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง เราต้องการความสุขแต่ความมั่นคงต้องมี อย่ามองคนละด้าน ความมั่นคงมองว่าประเทศต้องสงบ ประชาชนต้องอยู่ใต้อำนาจ แต่ฝ่ายประชาชนบอกเขาไม่มีความสุข แต่ประชาชนก็ไม่ได้รับผิดชอบ ปัญหานี้จะไม่ใช่เรื่องใหญ่ถ้าคนไม่สุดโต่ง ประชาชนต้องไม่สุดโต่ง ความมั่นคงเองก็ต้องไม่สุดโต่ง จะต้องเดินสายกลาง และประชาชนจะเป็นผู้วัด ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง"
กระจายอำนาจสู่ประชาชน
ในเรื่องของการกระจายอำนาจนั้น พ.ต.อ.ทวีระบุว่าพรรคสนับสนุนการกระจายอำนาจในระดับล่างที่ทำได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขยากแต่ก็เป็นเรื่องที่จะต้องทำ เพราะเป็นหนทางในการแก้ปัญหาหลายอย่าง เพราะการแก้ปัญหาจะต้องใช้ความรู้ของคนในพื้นที่นั้นๆ พรรคมองการแก้ปัญหาในหลายระดับไม่ใช่เฉพาะในภาคใต้ เขายกตัวอย่างว่ากรุงเทพมหานครควรจะได้มีการเลือกตั้งผู้อำนวยการเขต เป็นต้น
"เรายังเชื่อว่ารูปแบบกทม.และพัทยาควรจะเอาไปใช้ที่สมุย แต่ถ้าใช้ภาคใต้เราให้ความสำคัญกับพหุวัฒนธรรม พุทธต้องอยู่ในสามจังหวัดภาคใต้ได้อย่างพุทธ มุสลิมต้องอยู่ในสังคมไทยได้อย่างมุสลิม มันมีหลายรูปแบบ เราเชื่อว่าต้องกระจายอำนาจ"
หัวหน้าพรรคประชาชาตินายวันมูฮัมมัดนอร์เสริมว่า เขาเห็นว่าอำนาจต้องกลับสู่ประชาชนไม่เช่นนั้นประเทศไปต่อไม่ได้ และเขาเห็นว่าต่อไปควรจะให้มีการเลือกตั้งผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆในท้องถิ่นเพราะประชาชนจะได้ประโยชน์และการแก้ปัญหาทำได้ทันทีโดยไม่ต้องรอส่วนกลาง
"ถ้าส่วนกลางมีอำนาจมากปัญหาก็เกิดมาก ส่วนกลางอำนาจน้อยก็มีปัญหาน้อย และคอรัปชั่นน้อยด้วย"
พรรคประชาชาติไม่ใช่พรรคเพื่อไทย
หัวหน้าพรรคประชาชาติยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่าพรรคไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเพื่อไทย พรรคประชาชาตินั้นสนับสนุนระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พรรคเป็นอิสระ
"ไม่จำเป็นต้องมีนายทุน เพราะเราเป็นพรรคเล็ก ช่วยกันบริหารคนละไม้คนละมือ ถ้าทำงานไปสักระยะก็เชื่อว่าจะมีประชาชนสนับสนุน"
สำหรับบุคคลในพรรคประชาชาตินั้นเป็นอดีตนักการเมืองและบุคคลที่เป็นที่รู้จักกันดีหลายคน เช่นนายอับดุลลายี สาแม็ง อดีต ส.ว.ยะลา, นายมุข สุไลมาน อดีต ส.ส.และ ส.ว.ปัตตานี, นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ อดีต ส.ส.นราธิวาส, รวมถึงนายวรวีร์ มะกูดี อดีตนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย, นายวรวิทย์ บารู อดีต ส.ว.ปัตตานี, นายนัดมุดดีน อูมา อดีตส.ส.และสมาชิกกลุ่มวาดะห์รับหน้าที่โฆษก
นอกจากนั้น ยังมีนักกิจกรรมเข้าร่วมด้วย ที่สำคัญคือรอมละห์ แซแยะ นักกิจกรรมภาคประชาสังคมที่เคยร่วมงานกับกลุ่มคนพุทธในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :