เครือข่าย People Go Network ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและความมั่นคงทางอาหาร เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิชุมชน เครือข่ายสลัมสี่ภาค และเครือข่ายนักกฎหมายและนักวิชาการ แถลงจุดยืนต่อประเด็นเนื้อหาของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 ภายหลังจากรายงานตัวที่สำนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี
คนจนไม่มีส่วนร่วมร่างยุทธศาสตร์ชาติ ถ้าไม่แก้พร้อมคว่ำรัฐธรรมนูญ
นางนุชนารถ แท่นทอง ตัวแทนจากเครือข่ายสลัมสี่ภาค ให้ความเห็นต่อ พ.ร.บ.นี้ว่า ยุทธศาสตร์ชาติพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความยากจน แต่คนจนไม่ได้มีส่วนร่วมในการคิด หรือร่างนโยบาย คนเดือดร้อนไม่ได้มีโอกาสพูด โครงสร้างไม่ถูกแก้ แต่ไปแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ จึงทำให้ยุทธศาสตร์นี้พิกลพิการ หากยุทธศาสตร์นี้ไม่ถูกแก้ไข หรือยกเลิก จะยอมไม่ได้ ถ้าต้องคว่ำรัฐธรรมนูญก็จะทำ
"อย่างเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ให้คนจนเข้าถึงบ้านได้ แต่บ้านที่ทำ เริ่มที่ราคา 3.5 ล้าน ถามว่าเรามีปัญญาไหม ขนาดบ้านเอื้ออาทร คนจนในสลัมไม่ได้อยู่ เพราะขาดคุณสมบัติ ซื้อไม่ได้ เช่น ไม่ได้ทำงานประจำ ไม่มีสลิปเงินเดือน เราอยู่ยากขึ้นทุกวัน พอที่ดินถูกจำกัดหรือมีราคาแพง บ้าน คอนโดก็แพงตามราคาที่ดิน คนจนจะเข้าถึงไหม ทั้งที่คนจนเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ นำพาเศรษฐกิจของประเทศ อย่างนี้ถือเป็นความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจน" ตัวแทนจากเครือข่ายสลัมสี่ภาคกล่าว
ชูกระจายอำนาจ สร้างนโยบายจากพื้นที่
ด้านนายอุบล อยู่หว้า ตัวแทนจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกฯ ให้ความเห็นว่า ในเรื่องการเกษตรถูกพูดถึงอย่างกว้างๆ ในยุทธศาสตร์ชาติ อย่างการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ โดยจะพัฒนาผู้ประกอบการ สร้างความเข้มแข็งด้านการประกอบอาชีพ ส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยเข้าสู่เกษตรกรรมยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ในความเป็นจริงปัญหาการเกษตรคล้ายกับปัญหาอื่นของประเทศคือ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง การสร้างนโยบายที่เป็นนโยบายเดียว หรือที่ชาวบ้านเรียกว่านโยบายเสื้อโหลนำไปทำทั่วทั่งประเทศ เป็นการรวมศูนย์อำนาจ
"อย่างจังหวัดที่ประกาศตัวเองว่าอยากเป็นเมืองสมุนไพร คือ จ.สุราษฎร์ธานี และสกลนคร แต่สิ่งที่รัฐบาลทำคือ อนุมัติให้บริษัทน้ำตาลไปสร้างโรงงาน 12 แห่งในอีสาน โดยไม่ได้ไปศึกษาเลยว่าเมืองที่เขาอยากเป็นสมุนไพรนั้น ทำอย่างไรจะเป็นเมืองสมุนไพรได้ หรือปล่อยให้บริษัทที่ทำกำไรระดับแสนล้านขายไข่ต้ม ไข่พะโล้ เนื้อหมูถึงระดับหมู่บ้าน ตำบล อันนี้คือปัญหาโครงสร้างที่ประเทศเราไม่กล้าหาญที่จะคุ้มครองคนจน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่" นายอุบลกล่าว
นอกจากนี้ นายอุบลกล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นสำคัญคือ การกระจายอำนาจ เป็นเรื่องแรกๆ ที่ควรทำ ด้วยการสร้างนโยบายที่มาจากพื้นที่ สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับ และค้นหาศักยภาพของประชาชนจริงๆ
"ผมไม่คิดว่าความเป็นธรรมเหล่านี้จะได้มาจากการร้องขอรัฐบาลใดๆ ไม่ว่าจะรัฐบาลรัฐประหาร หรือรัฐบาลเลือกตั้ง แต่เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องลุกขึ้นสู้ หากเราไม่ทำเรื่องการคุ้มครองคนจน เราก็ไม่รู้จะทำอะไรแล้วประเทศนี้ เพราะการให้บริษัทไปขายเนื้อหมูถึงหมู่บ้าน ตำบล เป็นความอัปยศสุดๆ แล้ว" ตัวแทนจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกฯ กล่าว
แฉยุทธศาสตร์ชาติหน้าไหว้หลังหลอก สวนทางความจริง
นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ตัวแทนจากเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติฯ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติด้านสิ่งแวดล้อมมี 6 ข้อหลัก ข้อแรก คือ การบริหารจัดการน้ำ 25 ลุ่มน้ำ ซึ่งไม่ต่างจากโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่โดนโจมตีอย่างมากจนโครงการนี้ยกเลิกไป แต่ทำไมโครงการลักษณะเดียวกันถึงไปต่อได้ในรัฐบาลทหาร
ทั้งนี้ ข้อสรุปหนึ่งคือในยุคที่ประชาชนแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี ประชาชนเฉลียวฉลาด แต่ในยุคที่ถูกปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น ประชาชนโง่เขลาเบาปัญญามาก โดยเฉพาะปัญญาชนสาธารณะต่างๆ ที่เคยโจมตีโครงการบริหารจัดการน้ำฯ ไม่ยอมโจมตีแผนบริหารจัดการน้ำ 25 ลุ่มน้ำของ คสช. ซึ่งแสดงถึงความพิกลพิการของยุคสมัยที่ถูกกดขี่เสรีภาพเอาไว้
นายเลิศศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ในเรื่องการพัฒนาและใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในทุกภาคเศรษฐกิจ แต่สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินในแผนพัฒนาพลังงาน หรือ PDP ยังสูงเหมือนเดิม ยังไม่มีการประกาศยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ส่งผลให้เกิดโลกร้อนขึ้น ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติแบบนี้เป็นยุทธศาสตร์ที่หน้าไหว้หลังหลอก
ขณะที่การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้น รัฐผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคอื่นๆ ที่ไปลดเงื่อนไขการบังคับใช้กฎหมายหลายฉบับ เช่น กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายผังเมือง กฎหมายแรงงาน กฎหมายควบคุมมลพิษ ที่ทำให้เขตนี้สามารถปล่อยมลพิษได้มากกว่าปกติ มีการงดเว้นการบังคับใช้ผังเมือง ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่สวนทางกับข้อเท็จจริง
ตัวแทนจากเครือข่ายทรัพยากรฯ กล่าวต่อไปว่า ในประเด็นเรื่องการจัดระบบอนุรักษ์และฟื้นฟูป้องกันทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เขียนดีมาก ว่าจะพยายามเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ คือ 120 ล้านไร่ แต่สิ่งที่รัฐทำคือไล่คนจนออกจากป่า ตามคำสั่งของ คสช.ที่ 64/2557 สิ่งที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดขณะนี้คือกรณีบ้านพักตุลาการ ที่ จ.เชียงใหม่ คือพิพากษาไล่คนออกจากป่า แต่ตัวเองกลับอยู่ในป่าได้ แล้วจะมาบอกว่านี่คือความรับผิดชอบของผู้พิพากษาต้องจัดการแก้ปัญหากันเองเช่นนี้ ไม่ได้
"ยุทธศาสตร์ชาติเขียนไว้ว่า ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากขณะนี้แรงงานทั่วไปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท แล้วไม่มีเงินออมไว้ใช้เลย แต่คุณกลับขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการทหาร ข้าราชการทั่วไป ซึ่งมีสวัสดิการสังคม สวัสดิการการรักษาพยาบาลที่สูงกว่าคนทั่วไป คุณมองเศรษฐกิจพอเพียงแบบไหน?"
"ในขณะที่คุณมีเงินเดือนมากกว่า 15,000 บาท สามารถผ่อนรถ ผ่อนที่ดิน สร้างบ้านบนดอยสุเทพได้ มันย้อนแย้งเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งการร่างยุทธศาสตร์ชาติแบบนี้มันล้มเหลว จะให้คนที่สร้างความขัดแย้งในสังคม คือ รัฐบาล คสช. ที่ปิดกั้นเสรีภาพ เป็นคนมาร่างยุทธศาสตร์ เพื่อให้คนมีความคิดเห็นเป็นหนึ่งเดียวกัน มันไม่ได้ มันขัดแย้ง สมควรจะเลิก" นายเลิศศักดิ์ ให้ความเห็น
หนุนพรรคการเมืองเลิกยุทธศาสตร์ชาติ
นายสมชาย กระจ่างแสง ตัวแทนจากเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ให้ความเห็นว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีกระทบกับทุกเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร สิ่งแวดล้อม หรือสุขภาพ เพราะหยิบยกเรื่องที่ไม่ควรทำขึ้นมา ส่วนเรื่องควรทำ กลับไม่ทำ เช่น สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย โดยในปีหน้าจะมีผู้สูงวัยร้อยละ 20 แต่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ได้ทำเรื่องนี้เลย ไม่ได้เตรียมตัวเพื่อทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเลย ไปเขียนไว้นิดเดียว คือปรับให้บำนาญของราชการเป็น 63 ปี แต่ไม่มีเรื่องบำนาญของประชาชนทั่วไป นั่นแปลว่าทอดทิ้งผู้สูงอายุในยุทธศาสตร์ชาติ
"ข้อเสนอคือ พรรคการเมืองที่เตรียมเลือกตั้ง หากอยากได้คะแนนเสียงอย่างท่วมท้นให้ทำ 2 เรื่องคือ 1.ขอให้มุ่งแก้รัฐธรรมนูญ และ 2.ยกเลิก พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะ พ.ร.บ. ไม่ดี ยกเลิกได้ แก้ได้ แต่ถ้าพรรคการเมืองยังกล้าๆ กลัวๆ ไม่สนใจจะทำ พวกเราภาคประชาชนจะจัดตั้งพรรคการเมืองเอง" นายสมชาย กล่าว
ชี้บัตรทองเป็นมรดกสุดท้ายของรัฐบาลประชาธิปไตย
นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ตัวแทนจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพ หรือบัตรทองถือเป็นมรดกชิ้นสุดท้ายของรัฐบาลประชาธิปไตย เพราะถูกออกแบบมาให้มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และประชาชนมีส่วนร่วมเข้าไปกำหนดนโยบาย ผ่านการรับฟังความคิดเห็น เสนอสิทธิประโยชน์จากประชาชน อย่างเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี เครือข่ายแรงงาน เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายมะเร็งก็มีสิทธิเสนอ ไม่ใช่เสนอจากวิชาชีพอย่างเดียว แต่ยุทธศาสตร์ชาติ ต้องการที่จะรวบอำนาจ โดยกำหนดให้มี พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ หรือ 'ซูเปอร์บอร์ด' ขึ้นมาเป็นพ่อของทุกองค์กรที่เกี่ยวกับสุขภาพในบ้านเมืองนี้
"ในมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.นี้ระบุว่า นโยบายด้านระบบสุขภาพใด ขัดหรือแย้งกับนโยบายด้านระบบสุขภาพตาม พ.ร.บ.นี้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ แสดงว่าทุกองค์กร ไม่ว่าจะทำเรื่องใด อย่าง สปสช. หรือบัตรทอง สุดท้ายต้องทำตามซูเปอร์บอร์ดนี้"
"ถ้าเราไม่ล้มยุทธศาสตร์ชาตินี้ ระบบบัตรทองจะถอยหลังกลับไปไกลกว่าสมัยแม่การะเกดอีก" ตัวแทนจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าว
จัดงานครบ 4 ปีรัฐประหาร หวังไม่ให้อนาคตอยู่ในกำมือคนยึดอำนาจ
ผศ.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาของประเทศนี้คือความรู้ที่ตอบสนองต่อผู้คนส่วนมากไม่ถูกหยิบไปใช้ในการดำเนินนโยบาย แต่ความรู้ที่ใช้ถูกนำไปเอื้อประโยชน์เฉพาะคนชนชั้นนำแค่เพียงหยิบมือเท่านั้น สิ่งที่เครือข่ายนักวิชาการฯ ทำคือพยายามเสนอความรู้พวกนี้ออกไปสู่สาธารณะ และเชื่อมโยงเข้ากับการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เพราะเชื่อว่าความรู้ที่ตอบสนองต่อคนหมู่มากในสังคมจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายหรือหลักของประเทศได้
"วันที่ 19 – 20 พฤษภาคมนี้ จะมีการจัดงานในวาระครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นกิจกรรม D Move ก้าวที่ดี เลือกทางที่เดิน โดยต่อไปนี้เราจะไม่ปล่อยให้อนาคตของเราอยู่ในกำมือของคนไม่กี่คน โดยเฉพาะคนที่ยึดอำนาจไป และไม่ได้ตอบโจทย์ของคนส่วนใหญ่ในประเทศ" นายอนุสรณ์กล่าว
หลักประกันสุขภาพ ไม่เกิดในยุคไม่มีประชาธิปไตย
นายนิมิตร์ เทียนอุดม มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติไม่เอื้อต่อการเข้าถึงการรักษา และบั่นทอนประสิทธิภาพของระบบหลักประกันสุขภาพ แต่ก่อนระบบหลักประกันสุขภาพมีบอร์ด เพื่อบริหารจัดการและคิดนโยบาย และบอร์ดก็อยู่กับผู้คนที่อยู่ภายใต้สิทธิประโยชน์นี้ และต้องจัดเวทีรับฟังความเห็นตามกฎหมาย แต่ตอนนี้บอร์ดต้องไปสนใจซูเปอร์บอร์ดที่จะชี้ว่าจะทำอย่างไร ทำให้ความเป็นอิสระของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพหายไป ขณะเดียวกันยังอนุญาตให้เก็บเงินร่วมจ่ายบนฐานวิธีคิดว่าระบบจะยั่งยืนได้ประชาชนต้องร่วมจ่าย
"มันไม่ได้อยู่บนฐานคิดว่าเราต้องลดความล้ำ เราต้องทำให้ระบบภาษีที่เป็นธรรมในเรื่องสุขภาพยังไง ผมถึงมองว่าแผนปฏิรูประบบสุขมันไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน มันต้องเป็นประชาธิปไตย เคารพการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของหลักประกันสุขภาพ" นิมิตร์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: