ไม่พบผลการค้นหา
ผ่านฉลุย! ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติเอกฉันท์ 179 เสียงเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติ ด้าน พล.ร.อ. พัลลภ ตมิศานนท์ สมาชิกสนช. ชี้ร่างยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้ มีการให้ข้อมูลและสาระสำคัญครบถ้วน เป็นไปตามหลักวิชาการและมีการรับฟังความเห็นประชาชน

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 179 เสียงเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติ ภายในเวลา 1 ชั่วโมง โดย พลเอก วรพงษ์ สง่าเนตร ประธานคณะกรรมธิการวิสามัญพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติ ชี้แจงผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เป็นเวลา 22 วัน พร้อมกับรับฟังข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน และความเห็นจากคณะกรรมาธิการสามัญ สนช. ทุกคณะ

เพื่อสรุปความเห็นข้อเสนอแนะแนบท้ายร่างยุทธศาสตร์ชาติไว้ คือ ร่างยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้มีหลักการและเนื้อหาสาระสำคัญครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญปี 2560 และ พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติปี 2560 ได้บัญญัติไว้ สามารถใช้เป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนเพื่อเป็นกรอบการจัดทำแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกันได้ 

นอกจากนี้ ยังครอบคลุมประเด็นสำคัญต่างๆ ครบถ้วนทุกมิติ ส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศในอนาคตข้างหน้า เป็นไปตามหลักวิชาการมาตรฐานสากล ทั้งการเก็บรวบรวมข้อมูล การรับฟังความคิดเห็น การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ ตลอดจนการเรียบเรียงขัดเกลาข้อมูลที่สมบูรณ์เพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้เป็นรากฐานการบริหารจัดการและพัฒนาประเทศ ตลอดจนการสร้างอนาคตที่พึงปรารถนาให้กับประชาชน รวมถึงแผนต่างๆ ประสานสอดคล้องบูรณาการอย่างสมบูรณ์ ได้แก่

1.ภาพรวมยุทธศาสตร์ ต้องกำหนดผู้รับผิดชอบหลัก และผู้รับผิดชอบรองในแผนแม่บท กำหนดตัวชี้วัด, เป้าหมาย, ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขก่อน-หลัง, ขั้นตอนการติดตาม, ตรวจสอบ, และประเมินผล ให้ชัดเจน พร้อมกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติให้เห็นภาพชัดเจน รวมทั้งกำหนดคำสำคัญหลายคำที่ยังมีความหมายไม่ชัดเจนในร่างยุทธศาสตร์ตรงกัน หรือกำหนดคำนิยามประกอบ

2.ข้อเสนอในแต่ละด้าน

1) ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง : ปกป้องคุ้มครองสถาบันศาสนา และพระมหากษัตริย์

2) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน : น้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจเพื่อเข้าสู่การแข่งขัน พร้อมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยว การกระจายรายได้สู่ผู้ประกอบการรายย่อย ป้องกันการผูกขาดทางการค้า และแก้ปัญหาหนี้สินให้ประชาชน

3) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ : สร้างความภาคภูมิใจในชาติให้กับประชาชน ตามเป้าหมายในรัฐธรรมนูญ

4) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม : จัดหาบริการทางการแพทย์ทั้งร่างกาย และจิตใจ พร้อมทั้งการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ

5) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม : ข้อเสนอการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 22 ด้าน

6) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ : เร่งทำความเข้าใจให้ประชาชนมีร่วมส่วนร่วมในการจัดทำแผนแม่บท เพื่อให้รู้สึกว่าเป็นเจ้าของยุทธศาสตร์ชาติร่วมกัน และแจกแจงให้ชัดเจนว่าประชาชนจะได้อะไรจากยุทธศาสตร์ชาติ

สมาชิก สนช. ส่วนใหญ่อภิปรายในทิศทางที่เห็นด้วยกับร่างยุทธศาสตร์ชาติ เช่น พลเรือเอก พัลลภ ตมิศานนท์ เห็นว่า ร่างยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้มีการให้ข้อมูลและสาระสำคัญครบถ้วน เป็นไปตามหลักวิชาการและมีการรับฟังความเห็นประชาชน แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดคือการประเมินยุทธศาสตร์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมเน้นย้ำยุทธศาสตร์ชาติเพื่อพัฒนาประเทศในระยะยาว ที่ต้องมีการบูรณาการระหว่างหน่วย โดยเสนอให้การจัดทำแผนแม่บทตามยุทธศาสตร์ชาติมีการกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบให้ชัดเจน และให้มีกระบวนการติดตามตรวจสอบโดยภาคประชาชน เพื่อให้หน่วยงานรัฐใส่ใจทำงานตามแผนแม่บท

เช่นเดียวกับ นายแพทย์ เจตน์ ศิรธรานนท์ อภิปรายสนับสนุนหลักการของร่างยุทธศาสตร์ชาติเช่นเดียวกับสมาชิกคนอื่นๆ แต่มีข้อสังเกตอยากให้เน้นย้ำเกี่ยวกับโครงสร้างประชากร เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอายุมากกว่า 65 ปี ที่มีมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากร และการพัฒนาประชากรที่เกิดขึ้นใหม่ด้วยการพัฒนาคุณภาพการศึกษา, การป้องกันอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสำคัญ และการกำกับดูแลสารเคมีภาคการเกษตร

ขณะที่ นายมณเฑียร บุญตัน เสนอให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บทต่างๆ ให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพื่อป้องกันข้อครหา ว่าการจัดทำยุทธศาสตร์ 20 ปี เป็นการบังคับรัฐบาลในชุดต่อไปอย่างไม่มีสิทธิ์เลือก

หลังจากนี้ สนช. จะส่งร่างยุทธศาตร์ชาติ พร้อมข้อเสนอแนะ ไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ และรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก่อนจะร่างแผนแม่บททั้ง 6 ด้านให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 20 ปีที่ประกาศใช้ต่อไป

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :