ไม่พบผลการค้นหา
‘พ.ต.อ.ทวี’ รมว.ยุติธรรม ยันไม่กลั่นแกล้งใคร ปมดีเอสไอตั้งข้อกล่าวหาอดีตรัฐมนตรีเอี่ยวค้ามนุษย์ฟินแลนด์ ย้ำกรมสอบสวนฯ ใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ภายใต้ พ.ร.บ.ความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศฯ

วันที่ 16 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) แจ้งข้อกล่าวหาอดีตรัฐมนตรีซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ในการส่งแรงงานไปยังประเทศฟินแลนด์ โดยอดีตรัฐมนตรีคนดังกล่าวขู่จะฟ้องกลับ DSI 

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า คดีนี้เป็นความผิดที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร ซึ่งอัยการสูงสุด พร้อมด้วย DSI เป็นพนักงานสอบสวน และข้อหาดังกล่าว ทางเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย แจ้งมาว่า มีการสอบสวนของหน่วยงานต่างประเทศ ซึ่งมีพยานหลักฐาน อีกทั้งตำรวจฟินแลนด์ก็คงไม่รู้จักคนไทย 

เนื่องจากมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องอาญา ซึ่งสามารถรับฟังพยานหลักฐานได้ หลังจากนั้นอัยการสูงสุดได้ร่วมกับดีเอสไอ และมีความเห็นร่วมกัน ไม่ใช่องค์กรใดองค์กร โดยการสอบสวนมีทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร และพยานทางวิทยาศาสตร์

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ตามรายงานปรากฎข้อมูลที่ตำรวจฟินแลนด์ได้เข้ามาสอบในประเทศไทยหลายครั้ง แต่ถ้าพูดไปจะทำให้มีความเสียหาย อีกทั้ง DSI จะยกระดับพนักงานสอบสวนให้มีความเชี่ยวชาญ โดยการสอบสวนจะขึ้นกับพยานหลักฐานเป็นสำคัญ และต้องให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ไม่กลั่นแกล้งใคร 

ส่วนเรื่องที่มีการขู่ฟ้อง มองว่าเป็นธรรมดาอยู่แล้วที่ทุกๆ คดีจะมีในลักษณะอย่างนี้ แต่ก็พร้อมให้ความเป็นธรรมกับทุกคน ถ้ารู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือว่ามีพยานหลักฐานอะไร เพราะการสอบสวนของ DSI ได้สั่งให้รวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิด เพื่อพิสูจน์ว่ากระทำผิดหรือบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ไม่มีปัญหา 


ป้อง DSI หลังถูกวิจารณ์แก้ปัญหาหมูเถื่อนล่าช้า

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงเรื่องการแก้ปัญหาหมูเถื่อนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำงานล่าช้านั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า พนักงานสอบสวนก็ทำทั้งวันทั้งคืน ไม่ได้ทำตามความรู้สึก และจริงๆ ตั้งเป็นองค์กรความร่วมมือการป้องกันปราบปรามการกระทำผิด เชิงองค์กรอาชญากรรม หรือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ เพราะความผิดฐานฟอกเงินทั้งสองประเทศจะร่วมกัน 

พ.ต.อ.ทวี ยอมรับว่า เรื่องนี้มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะปศุสัตว์ เพราะเป็นการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยปัญหาดังกล่าวมันเริ่มตั้งแต่เป็นการแพร่ระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ซึ่งมีการปิดบัง และมีการส่งออกไปประเทศอื่น ทำให้หมูขาดตลาด จนมีการแอบนำหมูเข้ามา จึงต้องสอบทั้งหมด 

พ.ต.อ.ทวี ย้ำว่า ได้กำชับให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเป็นคำตอบ จะใช้ความรู้สึกมาเป็นหลักฐานไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าถึงใครเราก็ไม่ได้ดำเนินคดีทันที แต่ต้องเรียกมาสอบ และอยากให้พนักงานสอบสวนรอบคอบ โดยให้ศาลเป็นผู้ออกหมายจับ คงจะไม่มีการกลั่นแกล้งใคร

ส่วนกรณีที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาจจะแสดงความไม่พอใจเนื่องจากการแก้ไขปัญหาล่าช้า พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ไม่มีอะไร เข้าใจว่า ร.อ.ธรรมนัส อยากจะแก้ปัญหา และเมื่อเจอกันก็มีแต่การให้กำลังใจกันมากกว่า 

ส่วนถ้าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับอดีตรัฐมนตรี หรือนักการเมืองเบอร์ใหญ่จะมีการฟ้องร้องหรือไม่นั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีกำชับให้ทำอย่างตรงไปตรงมา  และกระทรวงยุติธรรมไม่ได้ตั้งธงว่าต้องจับใคร ถ้าหลักฐานไปถึงใครก็ต้องดำเนินการ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของเรา แต่ประชาชนจับตามองอยู่ ทุกอย่างต้องว่าตามพยานหลักฐาน ซึ่งเมื่อเป็นสำนวนแล้วพนักงานสอบสวนก็ช่วยใครไม่ได้ เพราะถ้าสั่งความเห็นออกไป ก็มีอัยการเป็นผู้สั่งอีกที 

ทั้งนี้ ถ้าสำนวนไม่รอบคอบ อัยการก็จะเข้ามาดูแล และ DSI ก็พยายามยึดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์จะไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แต่บุคคลอาจเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ ที่สำคัญเราอยากให้เกษตรกรรายย่อยได้รับการคุ้มครอง เพราะถ้านำเข้าสินค้าเกษตรเข้ามาโดยหลบภาษีแล้วไม่ได้ตรวจโรคทางปศุสัตว์ ถ้าเอาไปขายในร้านหมูกะทะต่างๆ มันก็จะเป็นการทำลายตลาด

“เห็นมีการจับกุมผู้กระทำความผิดอยู่ตลอดเวลา ถ้ามีตัวผู้ต้องหามันจะบังคับเวลาว่าต้องกี่วัน พนักงานสอบสวนต้องมีระยะเวลาให้อัยการพิจารณาสำนวนอีกระยะหนึ่ง” พ.ต.อ.ทวี กล่าว 


โยนสภาแก้อัตราโทษเยาวชนไม่เกิน 15 ปี

พ.ต.อ.ทวี กล่าวถึงกรณีฆาตกรรม ป้าบัวผัน วัย 47 ปี ที่จังหวัดสระแก้ว ซึ่งพบหลักฐานว่ามีเยาวชนอายุ 13-16 ปี เป็นผู้ก่อเหตุ แต่ทางตำรวจได้จับกุมสามีป้าบัวผัน ไปดำเนินคดีและส่งเข้าเรือนจำ ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายละเอียดในคดีนี้ แต่จะไปติดตามให้

เมื่อถามว่า ผู้ก่อเหตุในคดีนี้เป็นเยาวชน จึงมีการเรียกร้องอยากให้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับอัตราโทษของเยาวชนที่อายุไม่เกิน 15 ปี พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายเป็นเรื่องของสภา ซึ่งมีองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเด็กหลายหน่วย ซึ่งตามอนุสัญญาเกี่ยวกับการคุ้มครองเด็ก ประเทศไทยก็เข้าร่วมด้วย ดังนั้นการแก้ไขต้องหารือกับหลายหน่วยงานแต่ก็ไปติดตามเรื่องนี้ให้