นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน คณะทำงานเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เปิดเผยรายงานประจำปี แจงรายชื่อ 38 ประเทศว่าเป็น ประเทศที่น่าละอาย โดยอ้างว่ามีการปฏิบัติไม่ดีต่อนักสิทธิมนุษยชนหรือผู้ให้ความร่วมมือกับกลุ่มสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในนั้นคือ ประเทศไทย ที่เพิ่งถูกระบุชื่อด้วยในปีนี้ เป็นเรื่องที่เสื่อมเสียแก่ประเทศอย่างมาก และสะท้อนถึงพฤติกรรมของรัฐบาลใน 4 ปีที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี
"การที่ไทยติดเป็นประเทศน่าละอายนี้ นอกจากจะทำลายภาพพจน์ของประเทศแล้วยังทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ ทำให้การลงทุนต่างประเทศที่มีน้อยอยู่แล้วยิ่งหดหายลดลงไปอีก ไม่ได้มีเพิ่มขึ้นมากเหมือนที่รัฐบาลพยายามบอก"
นายพิชัยระบุว่า ตัวเลขการลงทุนแท้จริงไม่ได้เพิ่มและยังน้อยกว่าตอนก่อนการปฏิวัติมาก
"ไม่อยากให้ไทยเป็นเหมือนประเทศเมียนมาร์ที่แต่แรกมีแนวโน้มที่ดีหลังการเลือกตั้ง แต่มาเจอเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนจนทำให้การลงทุนจากต่างประเทศหดหาย ประเทศเมียนมาร์เลยไม่พัฒนาเท่าที่ควร"
นายพิชัยกล่าวด้วยว่าการที่รัฐบาลโดย นายกรัฐมนตรี โฆษกรัฐบาล กระทรวงต่างประเทศ พยายามจะปฏิเสธว่าไม่เป็นเรื่องจริง ยิ่งจะทำให้ประเทศน่าละอายเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะตลอด 4 ปีนี้ ประชาคมโลกได้รับรู้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของไทยมาโดยตลอด เพราะนอกจากการปฏิบัติไม่ดีต่อนักสิทธินนุษยชนและผู้ให้ความร่วมมือแล้ว ประชาชนไทย และ ประชาคมโลก ยังจำได้ว่า มีการดำเนินคดีผู้เห็นต่างจำนวนมาก มีการดำเนินคดีนักศึกษาขณะเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์ จับประชาชนเรื่องมีขันแดงและมีปฏิทิน ห้ามแสดงความคิดเห็นที่ต่างจากรัฐบาลโดยมีการเรียกปรับทัศนคติ
"แม้กระทั่งผมเองยังถูกเรียกถึง 12 ครั้ง ซึ่งพลเอกประยุทธ์ บอก 15 ครั้ง เพียงเพราะเป็นปากเสียงแทนประชาชนในการวิพากษ์วิจารณ์ทางเศรษฐกิจที่ประชาชนได้รับความลำบาก และถึงขณะนี้ที่จะมีการเลือกตั้ง แต่ก็ยังไม่อนุญาตให้พรรคการเมืองหาเสียงได้เลย อย่างนี้จะไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร"
นายพิชัยกล่าวและเรียกร้องให้รัฐบาลได้รับฟังปัญหาและหาทางแก้ไขมากกว่าจะแก้ตัว โดยวิพากษ์ว่าสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการอยู่เป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนสากลของโลกที่รัฐบาลอาจจะไม่รู้ หรือ แกล้งเป็นไม่รับรู้ ก็เป็นได้