ไม่พบผลการค้นหา
สื่อต่างประเทศเผย รัฐบาลทหารใช้นโยบาย 'อุ้มคนจน' หวังชนะเลือกตั้งในพื้นที่อีสาน ไม่ต่างจากการใช้เงินฟาดหัว พร้อมระบุ ว่าที่พรรคการเมืองประกาศหนุน 'พล.อ.ประยุทธ์' เป็นนายกฯ แม้ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้โดยตรง

เว็บไซต์บลูมเบิร์กและเดอะสเตรทไทม์ส เผยแพร่บทความ Thai Junta Throws Money at Poor Northeast in Bid to Stop Thaksin เพื่อบอกเล่าสถานการณ์การเมืองไทยช่วงก่อนการเลือกตั้ง โดยระบุว่า ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ คาดว่าคนไทยจะได้เลือกตั้งอย่างเร็วที่สุดในวันที่ 24 ก.พ. 2562 ส่งผลให้เกิดความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่างๆ รวมถึงรัฐบาลทหารของไทย เพื่อหยั่งเสียงประชาชน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำรัฐบาลทหารไทยและหัวหน้า คสช. ใช้วิธีเดินสายพบปะประชาชนในต่างจังหวัดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทั้งยังประกาศว่าจะบังคับใช้นโยบายเพื่อแก้ปัญหาความยากจน มอบเงินช่วยเหลือคนจน และกลุ่มเกษตรกร รวมไปถึงโครงการประกันราคาผลผลิต การออกบัตรสวัสดิการประชารัฐ หรือ 'บัตรคนจน' ตลอดจนประกาศว่าจะเดินหน้าการลงทุนด้านสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานในต่างจังหวัด 

บลูมเบิร์กระบุว่า นโยบายช่วยเหลือคนยากจนหรือผู้มีรายได้น้อย เป็นสูตรที่ช่วยให้พรรคของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เคย'ประสบความสำเร็จมาก่อน' จึงไม่น่าประหลาดใจที่รัฐบาลทหารจะใช้วิธีมอบเงินแบบเดียวกันเพื่อชนะใจประชาชน

ประยุทธ์ 0507015218.jpg

เกษตรกรรายหนึ่งให้สัมภาษณ์บลูมเบิร์กว่า ข้อดีของรัฐบาลทหาร คือ ทำให้ประเทศกลับสู่ความสงบสุข ไม่มีความขัดแย้งเหมือนช่วงหลายปีก่อนหน้า และมาตรการช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยกลุ่มต่างๆ ก็ช่วยให้หลายครอบครัวมีรายได้โดยรวมเพิ่มขึ้น

พื้นที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดคะแนนเสียงของรัฐบาลในอนาคต คือ จ.อุบลราชธานี ซึ่งมีประชากรมากติดอันดับต้นๆ ของประเทศ และเป็น 1 ใน 5 ของจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยที่ผู้ลงสมัครเลือกตั้งจากพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ แม้จะไม่มากนัก แต่ก็ถือว่าสามารถแบ่งที่นั่งมาจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นอดีตรัฐบาลได้ 

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จ.อุบลราชธานี เป็นสนามต่อสู้ทางการเมืองที่สำคัญระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย เพราะถึงแม้ว่าในปี 2554 เพื่อไทยจะมีคะแนนเสียงทิ้งห่างในการเลือกตั้ง แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็สามารถคว้าที่นั่ง 3 เขตในอุบลราชธานีมาครอบครองได้ อีกทั้งในปี 2559 ซึ่งมีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ก็พบว่าเสียงส่วนใหญ่ในอุบลฯ ร้อยละกว่า 60 ต่าง 'เห็นชอบ' กับรัฐธรรมนูญดังกล่าว

ผศ.ดร.เสาวนีย์ อเลกซานเดอร์ จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า พื้นที่ภาคอีสานถูกมองว่าเป็นฐานที่มั่นด้านคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยในอดีต ทำให้รัฐบาล คสช.ต้องเดินเกมต่ออย่างรอบคอบ

ส่วนว่าที่ 'พรรคการเมือง' ที่ประกาศจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ได้แก่ พรรครวมพลังประชาชาติไทยและพรรคพลังประชารัฐ บ่งชี้ว่าแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งหน้าได้โดยตรง แต่เขาก็ได้พูดยืนยันกับสื่อในประเทศว่าตนเองนั้นก็สนใจเรื่องการเมืองเช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่าแต่ละฝ่ายต้องการเปิดทางเอาไว้ในกรณีที่ต้องกลับเข้าสู่แวดวงการเมืองและบริหารประเทศอีกครั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง