แล้วก็มีคนรับลูกในสิ่งที่ พล.อ.ชวลิต นำโดย นายสุวโรจน์ ชวนันท์ธนะโภคิน และพวกอีก 4 คน ได้รวมตัวกัน เพื่อไปยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้น และให้ คสช. พ้นจากอำนาจ ที่ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ แต่ทหารได้นำตัวแกนนำทั้ง 5 คน ไปพูดคุยที่ มทบ.11 ก่อนปล่อยตัวออกมา
โดยข้อเสนอ ‘รัฐบาลเฉพาะกาล’ เป็นที่พูดกันในขั้วกลุ่มต้าน คสช. หากพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งแล้วตั้งรัฐบาลไม่ได้ หนทาง ‘รัฐบาลเฉพาะกาล’ อาจเป็นทางออกในวิกฤตนั้น เพื่อนำไปสู่การมี ‘นายกฯ คนกลาง’ นั่นเอง
แล้วนำมาสู่การร่างกติกาขึ้นใหม่และจัดเลือกตั้งขึ้นภายใน 1 ปี ที่สำคัญ พล.อ.ชวลิต ออกมาแถลงข่าวพร้อมกับ 'จตุพร พรหมพันธุ์' แกนนำ นปช.ด้วย
ก่อนหน้านี้ ‘จตุพร’ เคยออกมาเสนอให้ทุกฝ่าย ‘ถอดหัวโขน’ แล้วมาคุยกันเพื่อไปต่อรองกับ ‘ผู้มีอำนาจ’ นั่นคือ คสช. เพื่อให้พรรคที่ได้เสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับมากนัก
"ไอ้คนพูดไปขยายความให้เขาทำไม น่าเชื่อถืออะไรหรือเปล่า และมีส่วนร่วมในความขัดแย้งทางการเมืองช่วงที่ผ่านมาหรือเปล่า ทุกคนก็รู้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็ว่ามา ผมไม่ไปทะเลาะด้วย ให้เขาเงียบๆ ไปบ้าง ถอดหัวตัวเองออกไปบ้าง อยู่เฉยๆ ดีที่สุด ไปเตรียมสู้คดีมีเยอะแยะ" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าว
แถมล่าสุดกลายเป็นเรื่องขึ้นมาอีก หลังมีกระแสข่าว ‘จตุพร’ จะจับมือกับ ‘สนธิ ลิ้มทองกุล’ อดีตแกนนำพันธมิตร มีการพูดคุยเรื่องตั้งพรรคช่วงที่อยู่ในเรือนจำด้วยกัน จึงเป็นที่มาพรรค ‘เพื่อชาติ’ จึงทำให้เกิดกระแสโจมตีกันเองของมวลชน ‘เหลือง-แดง’ ขึ้นมาทันที
ทำให้ ‘จตุพร’ ต้องออกมาชี้แจงว่าไม่ได้มีการตกลงตั้งพรรคกับ ‘สนธิ’ แต่อย่างใดในเรื่องตั้งพรรค แต่การพูดคุยในเรือนจำ เป็นการพูดคุยถึงเรื่อง ‘ถอดบทเรียนทางการเมือง’ เท่านั้น ที่จะมาร่วมกันหาทางออกให้กับประเทศ และตนมุ่งหวังให้เป็น ‘พรรคเพื่อชาติ’ เป็นพรรคตัวกลางของทุกฝ่าย ซึ่งก็ยังไม่มีแกนนำ นปช. คนอื่นๆ มาหนุนพรรคดังกล่าว
ส่วนการตั้งพรรคเพื่อชาตินั้น ‘จตุพร’ ชี้แจงว่าเป็นไปตามระบบรัฐธรรมนูญ ที่ให้น้ำหนักคะแนนการเลือกตั้งอยู่ที่ ส.ส.เขต มากกว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อ เช่นเดียวกับกลุ่มขั้วสนับสนุน คสช. ที่ก็ตั้งพรรคย่อยออกมา อีกทั้งการตั้งพรรคก็เพื่อให้คนได้มามีส่วนร่วมกัน และตนได้หารือแค่กับนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานรัฐสภา พรรคพลังประชาชน เท่านั้น
ล่าสุดมีการประชุมพรรคเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการของพรรค โดยมีนายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ อดีต รมช.พาณิชย์ และเหรัญญิก พรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นนักธุรกิจ หนึ่งในธุรกิจที่ทำคือ ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียล ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ฐานที่มั่น’ ของกลุ่ม นปช. โดยเฉพาะห้างอิมพีเรียล สาขาลาดพร้าว และถูกมองว่าเป็น ‘นายทุนพรรค’
ว่ากันว่าช่วงที่ ‘จตุพร’ อยู่ในเรือนจำนั้นก็ไม่ได้อยู่ลำบาก และการออกมาเปิดเผยว่าได้พูดคุยหาทางออกให้ประเทศกับ ‘สนธิ’ ที่ต่างสีต่าวขั้ว เป็นศัตรูทางการเมืองกันมานาน จะเป็น ‘สัญญาณบ่งชี้’ ใดๆ ทางการเมืองหรือไม่ ?
ดังนั้น สารที่ออกมาคำว่า ‘เพื่อชาติ’ จึงมากกว่า ‘เพื่อชาติ’ หากนำเหตุการณ์ต่างๆ มา ‘ต่อจิ๊กซอว์’ ก็จะเห็นภาพมากขึ้น เหตุการณ์ทุกอย่างจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญใดๆ
หากมี ‘รัฐบาลเฉพาะกาล’ เกิดขึ้นจริง จึงต้องจับตามองว่าใครจะมาเป็น ‘นายกฯ คนกลาง’ ซึ่งตำแหน่งนี้จะต้องได้รับการยอมรับจากทั้งฝ่ายการเมืองและสังคม เพื่อมากำหนดกติกาและจัดการเลือกตั้งขึ้น และชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จะได้กลับมาหรือไม่ ?
หากกลับมาจริง จะมีความชอบธรรมพอหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่าวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นส่วนหนึ่งในสนามการเมืองไปแล้ว และไม่ใช่กรรมการห้ามมวยแบบสมัยช่วงรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 อีกทั้งได้ประกาศจุดยืน “ผมสนใจงานการเมือง” ไปแล้ว ที่มาพร้อมการเปิดตัว ‘พลังดูด’ ทางการเมือง ที่ไปร่วมทัพพรรคพลังประชารัฐของ อดีตส.ส.พรรคต่างๆ และขั้วสีต่างๆ ทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ฝ่ายความมั่นคงทราบดีถึง ‘พลัง’ ของพรรคเพื่อไทยที่ยังคงมีอยู่ในเวลานี้ ที่ยังคงตรึงฐานเสียงไว้ได้ ท่ามกลางช่วงเวลา ‘ย้ายค่าย-สลับขั้ว’ ทั้งจากพลังดูดและทิศทางลมทางการเมือง แต่พรรคเฟรชชี่อย่าง ‘พรรคอนาคตใหม่’ กำลังถูกจับตามองไม่น้อย เพราะประกาศจุดยืนชัดไม่ร่วมทัพกับ คสช. แต่คนที่มาสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ ส่วนใหญ่เป็น ‘คนกลางๆ’ และเป็นคนที่ยังสามารถโน้มน้าวไปทิศทางใดทิศทางหนึ่งได้ง่ายกว่าฐานของพรรคเพื่อไทย จึงทำให้ฝ่ายความมั่นคงจับตา ‘พรรคอนาคตใหม่’ ไม่น้อย
อีกทั้งฝ่ายความมั่นคงก็จับตาบรรดาแกนนำพรรคเพื่อไทย และ ส.ส.เพื่อไทย ที่บินไปฮ่องกงเพื่อพบกับ 2 อดีตนายกฯด้วย ซึ่งตรวจสอบได้ไม่ยากว่ามีใครบ้าง ท่ามกลางการพูดถึงกฎหมายพรรคการเมือง ว่าจะเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ ว่าด้วยการมีคนนอกไปครอบงำพรรค ที่อาจเป็นเหตุให้นำไปสู่การ ‘ยุบพรรค’ ได้
สถานการณ์การเมืองร้อนขึ้นเรื่อยๆ ทุกฝ่ายย่อมสร้าง ‘ทางเลือก’ หรือ ‘ทางสำรอง’ ทางการเมืองมากขึ้น เพราะ ‘อุบัติเหตุทางการเมือง’ ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งล้วนแต่ไม่ใช่เรื่อง ‘บังเอิญ’ หรือ ‘เกินคาดการณ์’ ใดๆ ทั้งสิ้น !!