ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มสภาที่ 3 ขอให้รัฐบาลใจกว้างรับข้อเสนอแนะทุกฝ่ายเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ด้านนายพิชัย ห่วงทีมเศรษฐกิจไม่มีความรู้และไม่ยอมรับความจริง เปรียบไทยเหมือนกบอยู่ในหม้อต้ม พร้อมเสนอ 7 ข้อต่อรัฐบาล

คณะกรรมการญาติพฤษภา 35 และกลุ่มสภาที่ 3 จัดเวทีแถลงข้อแนะนำ การชี้แนะแนวทางเศรษฐกิจ ของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี 

โดยนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่าสภาวะเศรษฐกิจไทยเป็นเหมือน "ทฤษฎีกบต้ม" ที่น้ำค่อยๆ เดือดแล้ว แต่กบยังไม่รู้ตัว และกำลังจะตายคาหม้อกันหมด โดยย้ำว่า การรัฐประหารได้ทำลายความเชื่อมั่นและไม่สามารถเจรจาการค้าได้ตลอด 5 ปี เป็นสาเหตุของการลงทุนที่หดหาย และยังมีสืบทอดอำนาจต่อ

ขณะเดียวกันสงครามการค้าของประเทศมหาอำนาจ เป็นเสมือนการเร่งไฟเพิ่มให้กับหม้อต้มกบ แต่สาเหตุใหญ่ที่เศรษฐกิจไทยย่ำแย่ เกิดจากการบริหารที่ผิดพลาด การขยายตัวต่ำ การส่งออกเฉลี่ยเพียงปีละร้อยละ 2 กว่า ขณะที่เพื่อนบ้านโตขึ้นกว่าไทยมาก โดยเฉพาะเวียดนาม 

ที่สำคัญ รัฐบาลยังปากแข็ง คิดว่าเป็นความสำเร็จ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มาคุมเศรษฐกิจ ก็ไม่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจ ดังนั้น หากรัฐบาลยังไม่รู้ตัวและไม่ยอมรับความผิดพลาดที่ผ่านมา จะไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ 

นายพิชัย ยังกล่าวด้วยว่า การที่นายสมคิดติดกรอบความคิดของตัวเองอย่างที่ผ่านๆ มา ท่ามกลางการไม่มีพื้นฐานด้านเศรษฐกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ ยิ่งสร้างปัญหาให้มากขึ้น พร้อมเสนอ 7 ประเด็นต่อผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย

1. เห็นด้วยกับแนวคิดของรัฐบาลที่จะกำหนดแนวทางร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.เพราะที่ผ่านมาแนวทาง ธปท.หลายครั้ง ไม่ได้ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าทีมเศรษฐกิจปัจจุบัน จะมีความสามารถกำหนดแนวทางร่วมกับ ธปท.ได้อย่างไร เพราะความผิดพลาดที่ผ่านมาก็ยังไม่มีสำนึกที่จะยอมรับ  

 2. การที่นายสมคิด ขอร้องนักลงทุนไทย ให้มาลงทุนในประเทศ แสดงถึงความไม่เข้าใจพลวัตของเศรษฐกิจโลก เพราะการโยกย้ายฐานการผลิตไปประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่าเป็นธรรมชาติของธุรกิจ ขณะที่ปัญหาของไทยคือ ไทยต้องการการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้น ซึ่งนักลงทุนต่างชาติไม่ลงมาลงทุน เพราะปัจจัยการเมือง หากนายสมคิด ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ ก็จะยิ่งสะเปะสะปะ

3. ปัญหาสงครามการค้า และ เริ่มลามเข้าสู่สงครามค่าเงิน จะเป็นเรื่องที่ยืดเยื้อและยาวนาน รัฐบาลต้องวางแผนการรับมือให้ดี โดยดูเวียดนามเป็นตัวอย่าง การเร่งสร้างความมั่นใจจากต่างประเทศ การเร่งเจรจาเขตการค้าเสรี เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งหากรัฐบาลยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรม และยังถูกสื่อหลักต่างประเทศโจมตีจะแก้ปัญหาในเรื่องนี้ไม่ได้ 

4. พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องศึกษาเรื่องเศรษฐกิจด้วยตัวเองให้มากๆ อย่าให้นายสมคิด สร้างความสับสน จากตัวเลขการส่งออกที่ปีไหนดีก็บอกว่าเป็นฝีมือรัฐบาล ปีไหนไม่ดี ก็จะไม่พึ่งการส่งออก จะอาศัยการบริโภคภายใน ทั้งที่ประชาชนไม่มีเงินจับจ่าย ส่วนนโยบาย "การแจกเงิน" โดยไม่สร้างรายได้ถาวร ไม่อาจสร้างการบริโภคอย่างยั่งยืนได้ ดูจาก 6 เดือนแรกของปีนี้ มีทั้ง การแจกเงิน และ เงินหมุนเวียนจากการเลือกตั้ง เศรษฐกิจไทยก็ยังขยายตัวต่ำมาก เติบโตเฉพาะ "เจ้าสัว" เท่านั้น

5. การช่วยเหลือคนมีรายได้น้อยเป็นสิ่งจำเป็น แต่ต้องมีแผนการสร้างรายได้อนาคตด้วย อย่าแจกอย่างเดียว โดยเฉพาะข้ออ้างว่าแจกไปเที่ยว 1,500 บาท เป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลในภาวะเช่นนี้ 

6. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ DE ควรจะต้องเร่งสร้างเศรษฐกิจสมัยใหม่ โดยร่วมมือกับกระทรวงอื่นๆ ไม่ใช่การตั้ง "ศูนย์ข่าวปลอม" อย่างในปัจจุบันเท่านั้น ขณะที่มีข้อกังขาว่ารัฐเป็นผู้ปล่อยข่าวปลอมเองหรือไม่ด้วย เพราะเศรษฐกิจ 5 ปีนี้ย่ำแย่สุดขีด แต่กลับมีข่าวว่าเศรษฐกิจดี ซึ่งนายพิชัย ตั้งข้อสังเกตว่าอย่างนี้เข้าข่าย "ข่าวปลอม" หรือไม่ด้วย 

7. กำหนดแนวทางหรือโมเดลการพัฒนาประเทศที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่พูดให้ฟังดูดี หรือบ่นแบบรายการคืนวันศุกร์เท่านั้น และอาจศึกษาจากต่างประเทศได้ อย่างไรก็ตามจากประวัติศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจทั่วโลก ยังไม่เคยปรากฏว่ารัฐบาลที่สื่อหลักต่างประเทศร่วมกันวิจารณ์ว่า เป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจของระบอบเผด็จการจะสามารถพัฒนาประเทศให้เจริญได้ 

นายพิชัย ทิ้งท้ายว่า หวังให้ พล.อ.ประยุทธ์ ค่อยๆ ทำความเข้าใจทีละเรื่อง เพราะไม่ง่ายที่จะรู้เรื่องทั้งหมดในทันที แต่ก็ห่วงว่า กว่าที่พลเอกประยุทธ์ จะเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจทั้งหมด ประเทศไทยอาจจะย่ำแย่ไปก่อนแล้ว หรือ "กบคงจะถูกต้มตายลอยอืดกันเต็มหม้อไปหมดเเล้ว"

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เห็นพ้องกับนายพิชัย ที่รัฐบาลควรหารือกับ ธปท. โดยเฉพาะการขึ้นหรือลงดอกเบี้ย ซึ่งไม่ใช่ลักษณะ "คู่ความในศาล" หรือเป็นคู่ขัดแย้งกัน แต่ต้องเป็นในลักษณะ "สามีภรรยา" ที่ปรึกษาหารือกัน ดังเช่นหลายประเทศดำเนินการ นอกจากนี้ต้องมีโมเดลเศรษฐกิจว่าจะเดินทางไหนเพราะที่ผ่านมาหลายประเทศรวมถึงไทยใช้โมเดล "ห่วงโซ่อุปทาน" ซึ่งตัวเลขการส่งออกที่ไทยอาจได้เกินดุลนั้น มาจากนักลงทุนต่างชาติที่มาตั้งฐานการผลิตในไทยหรือ "ไทยเทียม" ไม่ใช่นักลงทุนไทย หรือ ผลผลิตจากคนไทยอย่างแท้จริงเหมือนกับผลผลิตทางการเกษตร

นายธีระชัย มองว่าท่ามกลางสงครามการค้าของประเทศมหาอำนาจ โดยไทยมีทั้งโอกาสและความเสี่ยง พร้อมเสนอให้มองตลาดการบริโภค หรือกำลังซื้อของประเทศจีนและประเทศอินเดียที่มีประชากรเยอะและต้องการอาหาร ซึ่งไทยอาจใช้จุดแข็ง ด้วยการผลิตอาหารที่ปลอดภัย นอกเหนือจากการวางแผนการผลิตโดยเฉพาะยางพาราที่ในอนาคตจะลดความต้องการลง รวมถึงปาล์มน้ำมัน ด้วย แต่ต้องมีอาชีพอื่นทดแทนรวมถึงนโยบายที่จะช่วยเหลือและสร้างโอกาสให้คนชุมชนยืนเองได้ อย่างการแปรรูปผลผลิต และลดความเสี่ยงในการดำเนินธุนกิจระดับชุมชน

ด้านนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 แสดงความกังวลว่า รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งไม่ได้ปรับปรุงแก้ไขหรือป้องกันสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย ไม่แตกต่างจากการครองอำนาจตลอด 5 ปีของรัฐบาล คสช. ซึ่งจะยิ่งทำให้ประชาชนยากลำบากยิ่งขึ้น โดยเห็นว่า รัฐบาลความรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย เพราะไม่มีเวลาที่จะทะเลาะกัน จึงไม่ควรมองเป็นศัตรู โดยกลุ่มสภาที่ 3 พยายามช่วยกันหาทางออกและเสนอแนะความคิดเห็นต่างๆ ซึ่งไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะโค่นล้มรัฐบาล แต่กระทำในฐานะคนไทยที่มีภาระหน้าที่ทำให้บ้านเมืองพัฒนาและเจริญขึ้น