ไม่พบผลการค้นหา
ปฐมบทปฏิรูป ‘เกณฑ์ทหาร’ ภายใต้ ‘สุทิน คลังแสง’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตั้งเป้าหมายลดจำนวนการเกณฑ์ทหาร และปูทางสู่การใช้ระบอบสมัครใจ

‘เกณฑ์ทหาร’ หนึ่งบททดสอบในการเดินหน้าปฏิรูปภายใต้ ‘สุทิน คลังแสง’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ชูธงตั้งเป้าหมายลดจำนวนการเกณฑ์ทหาร ด้วยการเพิ่มเงินเดือน สวัสดิการ ช่องทางการศึกษา พร้อมเดินหน้าสู่ระบบสมัครใจแทนที่การวัดดวงจับใบดำ-ใบแดง สำหรับชายไทยที่มีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์

ซึ่งในห้วง 5 ปีย้อนหลังเริ่มมีกระแสเรียกร้องให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นยกเลิกเกณฑ์ทหารทั้งระบบหรือเปลี่ยนเป็นใช้ระบบสมัครใจ ซึ่งจะเห็นได้จากปฏิกิริยากองทัพที่เริ่มการปรับตัวเลขเรียกเกณฑ์ทหาร โดยเฉพาะช่วงปี 2564-2565 ภายหลังประเทศไทยเผชิญผลพวงจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีการลดจำนวนเรียกเกณฑ์ทหารกองประจำการ รวมถึงวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้ทหารกองประจำการยื่นร้องขอประจำการต่อ เนื่องจากมีความกังวลหากปลดประการแล้วจะไม่มีการงานที่มั่นคง

อย่างไรก็ดีในปี 2566 นั้นตัวเลขที่กำลังถูกจับตาในฤดูเกณฑ์ทหารที่กำลังจะถึงนี้ คือการสมัครใจเป็นทหารกองประจำการ ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทะลุ 15,000 คน ถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ และยังเหลือเวลาสมัครไปจนถึง 28 ม.ค. 2567 ซึ่งต้องจับตาดูว่ากลาโหมในรัฐบาลพลเรือน ในช่วงโค้งสุดท้ายจะมีการจูงใจเหล่าชายไทยในวัยเกณฑ์ทหารอย่างไร เพื่อเดินหน้าสู่การเปลี่ยนระบบเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ 100 % ได้อย่างไร

เทียบยอดสมัครออนไลน์ :

  • 2564 ต้องการ 97,558 คน สมัครออนไลน์ 3,220 คน
  • 2565 ต้องการ 58,330 คน สมัครออนไลน์ 6,652 คน
  • 2566 ต้องการ 93,000 คน สมัครออนไลน์ 10,156 คน
  • 2567 ต้องการ 85,000 คน ยอดสมัครออนไลน์ 15,421 คน (สมัครได้จนถึง 28 ม.ค.67 )

ล่าสุดกระทรวงกลาโหมได้ทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับกระทรวงศึกษา, กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ภายใต้โจทย์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้กับทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์)

ถือเป็นประเด็นที่สังคมกำลังจับตาว่าจะมีทิศทางอย่างไร ‘พล.ร.ต. ธนิตพงศ์ สิริเศวตศักดิ์’ โฆษกกระทรวงกลาโหม ได้สรุปสาระสำคัญกับ ‘วอยซ์’ ว่านี่คือการเปิดโอกาสให้ผู้ที่สมัครใจเข้ามาเกณฑ์ทหารได้รับสิทธิประโยชน์ในการศึกษาและพัฒนาทักษะวิชาชีพ เรียกได้ว่าในเวลา 2 ปีที่เข้าประจำการจะไม่เป็นการสูญเปล่าประโยชน์


กลาโหมตั้งเป้า 3 ระยะสู่ทหารกองประจำการสมัครใจ 100 %
  • ระยะที่ 1/2567-2568 ให้มีทหารเกณฑ์สมัครใจ 50 % 
  • ระยะที่ 2/2569-2570 ให้มีทหารเกณฑ์สมัครใจ 60 %
  • ระยะที่ 3/2571 เป็นต้นไป มุ่งสู่ทหารเกณฑ์สมัครใจ 100 %

‘โฆษกกลาโหม’ ได้ยกตัวอย่าง กรณีคนที่สมัครเข้ามาในระหว่างที่กำลังเรียนปริญญาตรี ก็จะมีระบบที่เรียกว่า E-training ในการเรียนออนไลน์ เพื่อเก็บหน่วยกิตในเวลาว่างจากการฝึก ให้ต่อเนื่องควบคู่ไปในระหว่างรับราชการทหาร ขณะที่ผู้ที่มีวุฒิต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ เทียบเท่า ก็จะส่งเสริมให้เข้าสู่การศึกษานอกระบบ (กศน.) รวมถึงพัฒนาตามหลักสูตรวิชาชีพ ซึ่งจะได้ประกาศนียบัตรรับรอง และสามารถต่อยอดไปทำงานภายหลังปลดประจำการได้

“บางคนที่มีวุฒิแล้ว หากต้องการที่จะเป็นทหารต่อ ทางกองทัพก็มีโควต้าสำหรับคนที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไข ในการสมัครสอบเพื่อเข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยหรือโรงเรียนนายสิบได้อีก” โฆษกกลาโหม ย้ำ

สำหรับเป้าหมายของกลาโหมภายใต้การนำของสุทิน ที่เปลี่ยนจากบังคับเป็นรูปแบบสมัครใจนั้น พล.ร.ต.ธนิตพงศ์ ย้ำว่าตามที่รัฐมนตรีกลาโหมได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มเงินเดือนและสวัสดิการ ก็เป็นหนึ่งในกลไกที่จะเพิ่มจำนวนผู้ที่สมัครใจเข้ามาเป็นทหารกองประจำการ 

ปัจจุบันตามอัตราของกลาโหมทหารกองประจำการจะได้รับเงินเดือน-เบี้ยเลี้ยง ไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ซึ่งที่ผ่านมารัฐมนตรีกลาโหม เคยกล่าวไว้แล้วว่าจะผลักดันให้ได้รับเงินแบบเต็มจำนวนตามจริง โดยไม่มีการหักเงินไปใช้จ่ายในค่าประกอบเลี้ยง

ขณะเดียวกันนอกจากการให้เงินแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้ว ยังมีการให้คะแนนพิเศษสำหรับผู้ที่อยู่ประจำการจนครบ 2 ปี และมีวุฒิการศึกษาตามเงื่อนไข ก็มีสิทธิใช้คะแนนพิเศษในการสอบเข้าโรงเรียนทหารของแต่ละเหล่าทัพ รวมถึงสมัครคัดเลือกเข้ารับราชการตามหน่วยงานต่างๆ 

นอกจากนี้ในเว็บไซต์ที่เปิดให้ลงทะเบียนสมัครออนไลน์ได้ลงรายละเอียดสิทธิประโยชน์ไว้ดังนี้

กองบัญชากองทัพไทย (บก.ทท.)

  • ได้รับสิทธิในการสอบคัดเลือกเข้า โรงเรียนช่างฝีมือทหาร-รร.แผนที่ทหาร
  • ได้รับคะแนนเพิ่มพิเศษร้อยละ 8 ของภาควิชาการในการสอบคัดเลือกเข้ารับราชการใน บก.ทท.

กองทัพบก (ทบ.)

  • มีวุฒิตั้งแต่จบ ม.6 หรือ เทียบเท่า (ปวช.) หรือ เรียนจบ รด.ตั้งแต่ปี 1 มีสิทธิยื่นลดวันรับราชการน้อยกว่า 2 ปี 
  • ได้รับเงินเดือน เบี้ยงเลี้ยง เงินเพิ่มค่าครองชีพ รวม 10,000 บาท
  • ได้รับสวัสดิการต่างๆ การรักษาพยาบาลใน รพ.สังกัด ทบ.
  • ผู้ที่มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่า ม.ปลาย สามารถต่อ กศน.จนจบการศึกษาในระดับศึกษาที่สูงขึ้น
  • เมื่อครบกำหนดปลด สามารถสมัครขอรับราชการในกองประจำการต่อได้คราวละ 1 ปี จนอายุ 30 ปีบริบูรณ์
  • ถ้าปลดประจำการหลังรับราชการครบ 2 ปี และมีคุณสมบัติครบตามราชการกำหนด จะได้รับโควต้าในการสอบเข้านักเรียนนายสิบทหารบก จะได้รับคะแนนเพิ่มพิเศษเป็นร้อยละ 15 ในการสอบคัดเลือกเข้ารับราชการใน ทบ. จากเดิมได้คะแนนร้อยละ 10 

กองทัพเรือ (ทร.)

  • มีวุฒิตั้งแต่จบ ม.6 หรือ เทียบเท่า (ปวช.) หรือ เรียนจบ รด.ตั้งแต่ปี 1 มีสิทธิยื่นลดวันรับราชการน้อยกว่า 2 ปี 
  • ได้รับเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง รวมกันไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน 
  • มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่างๆ การรักษาพยาบาลใน รพ.ในสังกัด ทร.
  • ผู้ที่มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่า ม.ปลาย สามารถต่อ กศน.จนจบการศึกษาในระดับศึกษาที่สูงขึ้น
  • เมื่อครบกำหนดปลด สามารถสมัครขอรับราชการในกองประจำการต่อได้คราวละ 1 ปี จนอายุ 30 ปีบริบูรณ์
  • ทหารกองประจำการ ที่สมัครในระบบออนไลน์ หรือทหารกองหนุน ในสังกัดกองทัพเรือ ที่มีอายุไม่เกิน 24 ปีบริบูรณ์ มีวุฒิการศึกษาตั้งแต่ ม.ปลายหรือกำลังศึกษาในชั้น ม. 6 หรือเทียบเท่าชั้นปีที่ 3 มีสิทธิสมัครคัดเลือกเข้าเป็นนักเรียนจ่าทหารเรือ
  • ทหารกองประจำการ ที่สมัครในระบบออนไลน์ หรือทหารกองหนุน ในสังกัดกองทัพเรือ ที่มีอายุไม่เกิน 24 ปีบริบูรณ์  มีวุฒิการศึกษาตั้งแต่ ม.ปลายหรือเทียบเท่าขึ้นไป และเป็นผู้มีความประพฤติดี ไม่เคยถูกลงทัณฑ์ถึงขั้นขัง มีสิทธิสอบคัดเลือกแข่งขันกันเอง ในกลุ่มทหารกองประจำการเพื่อเข้าเป็นนักเรียนจ่าทหารเรือ 
  • ทหารกองประจำการ สังกัดกองทัพเรือ ที่สมัครในระบบออนไลน์  และรับราชการครบตามกฎหมายกำหนด มีความประพฤติเรียบร้อย ไม่เคยขาดหนีราชการ ให้มีสิทธิได้รับคะแนนเพิ่มมากกว่าทหารเกณฑ์ที่เข้ามาโดยวิธีปกติ ในการสอบคัดเลือกเข้าเป็นนักเรียนจ่าทหารเรือและบรรจุเข้ารับราชการในกองทัพเรือ ประกอบไปด้วย
  • ผ่านการเป็นทหารกองประจำการ 6 เดือน ได้รับคะแนนเพิ่มร้อยละ 4 รวมภาควิชาการ ส่วนทหารกองประจำการที่เข้ามาโดยวิธีเรียกเกณฑ์ปกติได้ร้อยละ 2 คะแนน
  • ผ่านการเป็นทหารกองประจำการ 1 ปี ได้รับคะแนนเพิ่มร้อยละ 6 รวมภาควิชาการ ส่วนทหารกองประจำการที่เข้ามาโดยวิธีเรียกเกณฑ์ปกติได้ร้อยละ 3 คะแนน
  • ผ่านการเป็นทหารกองประจำการ 2 ปี ได้รับคะแนนเพิ่มร้อยละ 8 รวมภาควิชาการ ส่วนทหารกองประจำการที่เข้ามาโดยวิธีเรียกเกณฑ์ปกติได้ร้อยละ 4 คะแนน
  • หากมีหนังสือรับรองการเป็นทหารกองประจำการ หรือทหารกองหนุนสังกัดกองทัพเรือ ซึ่งได้ทำหน้าที่ในระหว่างที่มีการรบหรือปราบจราจล หรือในระหว่างปฏิบัติราชการชายแดนเพิ่มให้ ร้อยละ 5 ของคะแนนรวมภาควิชาการ 

กองทัพอากาศ (ทอ.)

  • มีวุฒิตั้งแต่จบ ม.6 หรือ เทียบเท่า (ปวช.) หรือ เรียนจบ รด.ตั้งแต่ปี 1 มีสิทธิยื่นลดวันรับราชการน้อยกว่า 2 ปี 
  • ได้รับเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง รวมกันไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน 
  • ผู้ที่มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่า ม.ปลาย สามารถต่อ กศน.จนจบการศึกษาในระดับศึกษาที่สูงขึ้น
  • เมื่อครบกำหนดปลด สามารถสมัครขอรับราชการในกองประจำการต่อได้คราวละ 1 ปี จนอายุ 30 ปีบริบูรณ์
  • ทหารกองประจำการทุกเหล่าทัพที่อยู่ระหว่างรับราชการกองประจำการ และทหารกองหนุน สังกัด ทอ. มีสิทธิสมัครสอบคัดเลือกเข้าเป็นนักเรียนจ่าอากาศ เหล่าอากาศโยธิน และทหารสารวัตร
  • ทหารกองหนุน สังกัด ทอ. หากมีความประพฤติดี-ที่มีสิทธิขอลดวันรับราชการน้อยกว่า 2 ปี แต่สละสิทธิลดวันรับราชการ จะได้คะแนนเพิ่มสูงสุดร้อยละ 6 คะแนนรวมภาควิชาการ ในการสอบเข้ารับราชการใน ทอ.
  • ผู้ที่ไม่มีสิทธิลดวันลา แต่อยู่ประจำการครบ 2 ปี และมีวุฒิการศึกษา ม.6 หรือ เทียบเท่า ณ วันปลดกองประจำการ จะได้รับคะแนนเพิ่มร้อยละ 2 คะแนนในการสอบภาควิชาการ เพื่อเป็นแรงจูงใจในการเสริมสร้างการหาควาามรู้พัฒนาตนเอง 
  • ทหารกองประจำการ สังกัด ทอ.ซึ่งอยู่ระหว่างรับราชการในกองประจำการที่มีความประสงค์สอบคัดเลือกเพื่อเข้ารับการศึกษาใน รร.แผนที่ กรมแผนที่ทหาร สามารถสมัครสอบคัดเลือกได้หากมีคุณสมบัติเป็นไปตามระเบียบการ บก.ทท.กำหนด