วันที่ 21 ก.ย. ที่อาคารรัฐสภา รังสิมันต์ โรม สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีศาลฎีกาพิพากษา พรรณิการ์ วาณิช อดีต สส.อนาคตใหม่ และโฆษกคณะก้าวหน้า ถูกถอนสิทธิ์รับสมัครเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดไป โดยระบุว่า ไม่รู้จุดประสงค์ทางการเมือง แต่ต้องบอกว่านี่คือโทษประหารชีวิตทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากที่จะรับได้
"ผมคิดว่ายากเกินที่จะรับไหว อยากจะเรียกร้องไปถึงคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมว่าอย่านิ่งนอนใจกับเรื่องนี้ แม้คนที่ไม่เห็นด้วยกับพรรณิการ์ หลายอย่างก็ยังออกมาแสดงความคิดเห็น ว่าเป็นสิ่งที่ยากจะรับไหว ซึ่งก็เคยร้องไปยังคณะกรรมการศาลยุติธรรมว่ามีผู้พิพากษาทำผิดพฤติกรรมร้ายแรง จนถึงวันนี้ก็ยังไม่คืบหน้า"
“หรือสุดท้ายเป็นเพราะพรรคก้าวไกล เป็นเพราะคุณช่อเป็นอดีตพรรคอนาคตใหม่ เลยอาจทำให้มีการดำเนินการที่รุนแรงขนาดนี้“
ถามถึงกรณี ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า ออกมาแสดงความเห็นว่าพรรคก้าวไกลแสดงท่าทีล่าช้า และแล้งน้ำใจ รังสิมันต์ กล่าวว่า เราเองก็รู้สึก กับสิ่งที่เกิดขึ้น และเราเองก็คิดว่า ได้มีการแสดงความรู้สึกผ่านช่องทางที่แตกต่างกันไป เข้าใจจุดประสงค์ของ ปิยบุตร ว่าอาจจะทุกข์ใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เราก็เคยผ่านสนามรบกัน เราเองก็เคยผ่านปรากฎการณ์แบบนั้น หลังจากทราบข่าวได้โทรศัพท์ไปคุยกับ พรรณิการ์ ก็เข้าใจว่าเป็นอะไรที่รุนแรงมากๆ
เมื่อถามว่าอาจมีคนอื่นในพรรคก้าวไกลโดนคดีในลักษณะนี้อีกจะมีการป้องกันอย่างไร รังสิมันต์ กล่าวว่า ป้องกันยาก เนื่องจากจริยธรรมไม่ได้เขียนกันแบบชัดเจน หากเปรียบเทียบกับคดีอาญาฆ่าคนตาย จะมีโทษชัดเจนว่ามีพฤติกรรมอย่างไร แต่จริยธรรมเป็นนามธรรม เป็นการเปิดช่องให้ผู้มีอำนาจให้ทำการใดๆ ก็ได้ ดังนั้น มาตรฐานหรือหลักปฎิบัติที่ชัดเจนมีได้ยากมาก สุดท้ายศาลหรือองค์กรที่มีอำนาจก็ต้องใช้ดุลยพินิจของตัวเองไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็ต้องตัดสินขัดกับหลักวิญญูชนขึ้นเรื่อยๆ สังคมไทยจะอยู่อย่างไร
"กลายเป็นว่านักการเมืองมีโอกาสโดนสอยได้ตลอดเวลา ในทางตรงกันข้าม เราเปิดโปงข้าราชการมา 5 ปีทุกวันนี้ทุกคนยังอยู่สุขสบาย อะไรคือความเป็นธรรมต่อพวกเรา พวกคุณอาจไม่เห็นด้วยกับพรรคก้าวไกลบางเรื่อง อาจจะเกลียดพรรคก้าวไกลหลายเรื่อง แต่พูดกันตรงๆ คุณจะใช้อำนาจทุกวิธีทางโดยไม่สนใจว่าคุณธรรมทางกฎหมาย หลักการทางกฎหมายเป็นอย่างไรคุ้มจริงหรือไม่กับการทำแบบนี้ สงสัยคงต้องปิดเฟซบุ๊กกันหมด“
รังสิมันต์ ระบุต่อไปว่า เข้าใจแต่ละคนเคยโพสต์เรื่องราวอะไรไว้บ้าง ตอนนั้นความรู้สึกนึกคิดการเติบโตเป็นอย่างไร วุฒิภาวะและบทบาทของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนโพสต์แล้วก็ลืม มาเจอทีหลังก็มี แต่ไม่มีกฎหมายบอกให้ลบ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่คือการทำให้เราไม่มีมาตรฐานอะไรมาก่อน และไปใช้ข้อกล่าวหาที่รุนแรงมากๆ มาสร้างมาตรฐานโดยเอาชีวิตคนมาเป็นมาตรฐาน
เมื่อถามว่าการโพสต์พาดพิงถึงสถาบันจะต้องมีการระวังมากขึ้นหรือไม่ เพราะอาจจะโดนอีก รังสิมันต์ กล่าวว่า ก็ยอมรับมีโอกาสที่จะเป็นแบบนั้น ไม่สามารถบอกได้ว่ามาตรฐานอยู่ตรงไหน หวังว่าคนที่อยู่ในศาลถ้าได้ยินสิ่งที่พูด เราไม่มีเจตนาร้ายอะไร
“ประทานโทษนะ พวกผมล้มเจ้าได้จริงๆ หรือ ทำไม่ได้หรอก สิ่งที่พวกคุณกังวลหรือกลัวมันไม่มีทางเกิดขึ้น และข้อโจมตีต่างๆ ผมว่าไม่เป็นธรรม ผมว่าองค์กรอย่างศาล ผมอยากให้ตั้งมั่นในความยุติธรรมจริงๆ สำหรับใครหลายคน การเอาเขาไปขังยังรุนแรงน้อยกว่าตัดสิทธิ์รับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิตด้วยซ้ำไป”