ไม่พบผลการค้นหา
นักวิจัยเรื่องเหี้ย ย้ำ "คนกับเหี้ยอยู่ร่วมกันได้" เพราะเหี้ยมีความสำคัญต่อการสร้างสมดุลระบบนิเวศในเขตเมือง คุมประชากรหนู-งู พร้อมเสนอเหี้ยเป็นสัตว์คุ้มครองเพาะเลีี้ยงได้ ส่วนกรณีที่เหี้ยกระทบสัตว์ในฟาร์ม ต้องประเมินสถานการณ์-หาวิธีจัดการที่เหมาะสม ไม่ใช่จับไปปล่อยที่อื่นอย่างเดียว

สถานการณ์เหี้ยที่เป็นข่าวในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา รวมถึงกรณีชาวบ้านในจังหวัดสมุทรสาครร้องเรียนว่าได้รับความเดือดร้อนจากเหี้ยเพิ่มจำนวนขึ้นมาก และกินสัตว์ที่ชาวบ้านเพาะเลี้ยง แต่เนื่องจากเหี้ยเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามลำดับที่ 91 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ซึ่งห้ามเลี้ยง ซื้อ ขาย หรือครอบครอง ทำให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต้องนำกำลังเจ้าหน้าที่ไปจับเหี้ยในพื้นที่ร้องเรียนเมื่อวันที่ 21 ก.พ. ก่อนจะนำไปไว้ที่สถานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน อ.จอมบึง จ.ราชบุรี

นอกจากนี้ ปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา The Standard และมติชน รายงานว่า ประชากรเหี้ยในสวนลุมพินี แหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่สำคัญของชาวกรุงเทพฯ เริ่มกลับมาชุกชุมอีกครั้ง หลังจากที่เคยมีการร้องเรียนเรื่องเหี้ยชุกชุม ทำให้เกิดอันตรายกับผู้ขี่จักรยานในสวนลุมพินี นำไปสู่การจับเหี้ยที่สวนลุมพินีเมื่อปี 2559 และมีการนำไปปล่อยที่สถานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสนมาแล้วครั้งหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ 'รุจิระ มหาพรหม' นักวิจัยองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งทำวิจัยเรื่องเหี้ย และเป็นผู้เข้าร่วมการประชุม เรื่อง 'ทันสถานการณ์เหี้ยในประเทศไทย'  ที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา เปิดเผยกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ว่า "ยังมีเรื่องที่ต้องสื่อสารอีกมาก" เพื่อให้คนในสังคมไทยเข้าใจความสำคัญของการอยู่ร่วมกันระหว่าง 'คนกับเหี้ย'

'เหี้ย' อยู่คู่สังคมไทยมานานแล้ว

"งานวิจัยบอกว่าเหี้ยจะอยู่ไม่ไกลจากแหล่งน้ำเกิน 200-300 เมตร แสดงว่าถ้ามีแหล่งน้ำที่ไหนก็มีเหี้ยได้ คลองริมถนนก็อยู่ได้ แต่ที่อยู่อาศัยหรือวางไข่ของเหี้ยจะต้องมีดิน เราก็มาลองดูว่าในกรุงเทพฯ มีพื้นที่ไหนบ้างที่มีน้ำ มีดิน มันก็จะมีสวนสาธารณะเป็นหลัก และสองคือหน่วยงานราชการ มหาวิทยาลัย ซึ่งไม่สามารถล่าได้"

"จริงๆ เหี้ยอยู่มาก่อนคน อยู่มาก่อนสังคมเมืองด้วย แล้วสังคมเมืองก็รุกเข้ามา แต่ก็ถือว่าเหี้ยเป็นสัตว์ที่พยายามปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้ดีมาก แต่ด้วยความที่เราเป็นเมืองมากขึ้น ก็เจอกับมันง่ายขึ้น แต่ในส่วนของการทำฟาร์ม เหี้ยก็เป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนจริงๆ ก็ต้องมาดูกันว่าจะทำยังไง จะหาแนวทางยังไง เช่น ทำกำแพงกั้นหรือรั้วไฟฟ้าไหม หรือว่าจะจับออก แต่จะจับเพศจับวัยไหนออก หรือจะเอาแค่ไข่ออก หรือจะทำหมัน"

"กระบวนการเหล่านี้ต้องอาศัยการจัดการของหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่า หรือหน่วยงานการศึกษาก็จะต้องมานั่งคิด จับมือกัน คุยกัน รวมถึงกรมอุทยานฯ ด้วย ซึ่งการจัดการเหี้ยในแต่ละพื้นที่จะใช้วิธีที่แตกต่างกัน ถ้ามันไม่ได้เป็นปัญหา ไม่ได้ไปจับสัตว์ชาวบ้านกิน ก็อาจจะแก้แค่ทัศนคติของคนให้เข้าใจเหี้ย"

รุจิระ มหาพรหม-Rujra Mahaprom

(รุจิระ มหาพรหม เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษา-ประเมิน และหาแนวทางจัดการเหี้ยโดยเฉพาะ)

ยืนยัน 'คนกับเหี้ย' อยู่ร่วมกันได้

"เหี้ยเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองโดยกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. สัตว์คุ้มครอง พ.ศ. 2535 ไม่สามารถจับ ล่า หรือฆ่าได้ ยกเว้นจะเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่ เช่น กรมอุทยานฯ เพราะกรมอุทยานฯ เป็นผู้ดูแลกฎหมาย แต่อย่างกรณีสวนลุมพินี (เมื่อปี พ.ศ. 2559) เริ่มจาก กทม. ได้รับเรื่องร้องเรียนมาว่ามันทำลายพื้นที่ ทำลายขอบตลิ่ง ทำลายต้นไม้ เขาก็เลยอยากจับไปไว้ที่อื่น"

"ก็ต้องเข้าใจกรมอุทยานฯ ว่าเขาต้องแก้ไขปัญหา แต่ว่าโดยสังคมไทย ถ้ามีเรื่องอะไร เราก็เอาออกไปก่อน แต่ว่าเรายังไม่เคยประเมินว่าจริงๆ แล้ว มันมีประชากรเท่าไหร่ มีความเสียหายอย่างไร มันสร้างความเดือดร้อนให้กับคนตรงนั้นยังไง มีจำนวนตัวเท่าไหร่ ยังไม่มีการศึกษารองรับ เราก็เข้าใจแหละครับว่า กทม. เขามีหน้าที่ในการดูแลพื้นที่ ซึ่งยังไม่เคยจูนกัน แต่ว่าการจะเอาสัตว์ป่าออกจากสักที่หนึ่ง มันเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร"

"มันควรจะต้องมีการลองประเมินดูว่ามีกี่ตัว มีปัญหาจริงหรือเปล่า ปัญหาอาจจะเกิดขึ้นจากแค่คนกลุ่มเดียวหรือคน 2-3 คนที่ไม่ชอบเหี้ย แต่จริงๆ แล้วเราสามารถให้การศึกษาได้ เช่นว่า เหี้ยที่สวนลุมฯ มันต่างจากที่อื่นนะ เหี้ยสวนลุมฯ มันก็กลัวคน ไม่ใช่จะวิ่งเข้ามาจู่โจมคน หรือว่าปั่นจักรยานมาดีๆ แล้วมันแค่เดินตัดหน้า ผมก็ไม่รู้ว่าทาง กทม. ให้เหตุผลจริงๆ ว่ายังไง เพราะว่าเหี้ยมันสามารถอยู่ได้ มันไม่ได้ไปวิ่งไล่กัด"

"คนกับเหี้ยอยู่ร่วมกันได้ ในบางพื้นที่ แต่ในกรณีบ่อปลาหรือฟาร์มไก่เป็นอีกเคสหนึ่ง เพราะว่ามันมีปัญหาจริงๆ และเราก็ต้องถามว่า ปัญหามันเยอะขนาดไหน เหี้ยมันไปกินสัตว์ของคุณเยอะขนาดไหน มันยังไม่มีงานวิจัย หรือการทำแบบสอบถามว่ามันกินไปแล้วกี่ตัว แล้วต้องประเมินอีกว่ามันมีกี่ตัว"

"จริงๆ แล้ว เหี้ยเป็นสัตว์ที่กลัวคนครับ มันไม่ใช่นักล่าสัตว์ขนาดใหญ่แบบจู่โจม แต่มันอาจจะจู่โจมสัตว์ที่ตัวเล็กกว่ามัน เช่น ไก่ หนู งู อะไรอย่างนี้ เพราะถือว่านั่นคืออาหาร มันก็กินน่ะแหละ เป็นเรื่องปกติ แต่ว่าสำหรับคน มันกลัวอยู่แล้ว เราตัวใหญ่กว่าเหี้ยเยอะ"

จับเหี้ย-สวนลุม

(เหี้ยที่ถูกจับจากสวนลุมพินีในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2559 ถูกนำไปให้กรมอุทยานฯ ที่ราชบุรี มีจำนวนกว่า 500 ตัว)

หน่วยงานจัดการเหี้ยต้องมีมากกว่าหนึ่ง

"หน่วยงานที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจริงๆ ก็กรมอุทยานฯ แหละครับ แต่ก็ไม่อยากจะโยนให้กรมอุทยานฯ รับอย่างเดียว ในความคิดผมอาจจะต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสักกลุ่มหนึ่ง อาจจะหลายๆ หน่วยงานร่วมมือกัน ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่มีคนที่เชี่ยวชาญด้านตัวเหี้ย ก็มีผมคนเดียวแหละที่เป็นตัวตั้งตัวตี พยายามจะดึงคนอื่นมาทำ เพราะเราเห็นว่าในธรรมชาติมันก็ต้องมี (เหี้ย) แหละ มันควบคุมประชากรหนู งู ถ้าไม่มีมันอาจจะแย่ และเราอาจจะต้องไปแก้ปัญหาเรื่องหนูเรื่องงู อย่างนกอะไรอีกมากมายไม่รู้ เยอะแยะ"

"หลักการอาจจะสั่งการจากข้างบน จากท่านนายกฯ กระทรวงทรัพฯ อาจจะมีคำสั่งว่า ตั้งคณะกรรมการมาสิ มีหน่วยงานไหนที่มีคนที่มีความเชี่ยวชาญ ลองไปประเมินแต่ละพื้นที่ เช่น มีเคสในสมุทรสาคร ก็ให้คณะกรรมการชุดนี้ พร้อมผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าและการจัดการ หรืออย่างกรมอุทยานฯ ก็คือกลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า หรืออย่างผมอยู่องค์การสวนสัตว์ มีความรู้ ก็อาจจะร่วมกับกรมอุทยานฯ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวนศาสตร์ ลงไปประเมิน ว่าพื้นที่นี้มีเท่าไหร่ แนวโน้มจะเป็นยังไง คือเป็นข้อเสนอขึ้นมา"

"นอกจากนี้ อาจจะต้องพูดถึงการแก้ไขกฎหมายในอนาคต คณะปฏิรูปด้านสาธารณสุขและทรัพยากรธรรมชาติ อาจจะต้องประเมินว่า พื้นที่ที่มันมีเยอะจริงๆ อาจมีกฎหมายว่าต้องเอาออกจากพื้นที่ไป เช่น ประกาศพื้นที่ จ.สมุทรสาคร สามารถให้จับออกได้ หรือล่าเอาไปใช้ประโยชน์เลย แล้วก็ไปต่อยอดเรื่องที่จะผลักดันให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ อาจจะจับแล้วเอาไปขายเลย มันก็จะต้องมามองกันน่ะครับว่าอันไหนมันจะดีที่สุด" 

"แนวคิดเรื่องการจัดการอีกอย่างหนึ่งคือการปลดเหี้ยจากสัตว์ป่าคุ้มครองไปเป็น 'สัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะเลี้ยงได้' แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ปลดจากสัตว์ป่าคุ้มครองเลย แต่การเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่สามารถเพาะเลี้ยงได้ ก็จะเพาะขายได้ เหมือนจระเข้เลย เป็นกรณีเดียวกัน" 

"เหี้ยมันก็มีดี"

"เราต้องเข้าใจก่อนว่า การจัดการจะต้องอยู่บนพื้นฐานของการอนุรักษ์ และการอนุรักษ์ต้องอยู่บนพื้นฐานของการประเมินจำนวนประชากร ถ้าคุณประเมินว่ามีประชากรเหี้ยอยู่ 1,000 ตัว ก็ต้องดูว่าจุดคุ้มทุนมันอยู่ที่เท่าไหร่ อาจจะประกาศออกมาว่าล่าสัก 500 ตัวไหม แล้วอีกสามปีข้างหน้าถึงจะต้องเอาออก ประเมินออกมาคร่าวๆ มันก็คงไม่เป๊ะ แต่ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี แล้วก็อาจจะมีการจัดทำในรูปแบบของฟาร์ม บวกกับแนวทางการป้องกัน และการให้การศึกษาผ่านสื่อ ก็จะช่วยบอกได้ว่าเหี้ยมันก็มีดี"

จับเหี้ย-สวนลุม

"น้ำลายเหี้ยมีแบคทีเรียจริง อันนี้ต้องยอมรับ ไม่ค่อยต่างจากโคโมโด แต่ว่าการที่คนจะติดเชื้อได้ขนาดนั้นก็คือต้องไปจับตัวมันเลย เพราะปกติถ้าเข้าใกล้มัน เหี้ยมันเจอคนก็จะวิ่งหนี ตกใจน่ะครับ เหมือนเราเจอเหี้ยเราก็หนี อย่างผมบางทียังตกใจเลย"

"ถ้าเหี้ยเห็นเราไกลๆ มันก็จะหนีแล้วครับ เป็นพฤติกรรมของมันที่กลัวคน อย่างผมไปโพสต์ถามความเห็นเกี่ยวกับเหี้ยในกรุ๊ปเฟซบุ๊ก ก็มีคนมาบอกว่าเหี้ยเข้าบ้านบ่อยมาก ผมก็ได้แต่บอกว่า พี่ก็ปล่อยมันไปครับ ต่างคนต่างอยู่ อย่าไปยุ่งกัน เพราะมันมาแป๊บเดียวครับ แล้วมันก็ไป มันไม่อยู่นาน เพราะมันตกใจ"

ถูกเรียกว่า 'นักวิจัยเหี้ย' ก็ไม่เป็นไร

รุจิระบอกเล่ากับ 'วอยซ์ออนไลน์' ด้วยว่า ที่มาของการผูกโยงคำว่าเหี้ยกับสิ่งที่ไม่ดี เกี่ยวพันกับการรวมตัวของกลุ่มอิทธิพลจีนที่มี 'ตั้วเฮีย' หรือ 'พี่ใหญ่' ดำเนินกิจการค้าฝิ่นและปล้นสะดมภ์ในช่วงรัชกาลที่ 2-3 จนเพี้ยนไปเป็นคำว่า 'ตัวเหี้ย' ทำให้คนผูกโยงการกระทำที่ไม่ดีเข้ากับคำว่าตัวเหี้ยในยุคหลังๆ

เมื่อสอบถามว่าในฐานะที่เป็นนักวิจัยเรื่องเหี้ย และเสี่ยงต่อการถูกเรียกสั้นๆ ว่าเป็น 'นักวิจัยเหี้ย' ทำให้เขารู้สึกอย่างไร รุจิระตอบด้วยเสียงหัวเราะว่า "ก็ไม่ยังไงนะ ก็ทำธีซิสเรื่องเหี้ย รุ่นน้องก็จะเรียกเหี้ยต่อท้ายชื่อเล่นผม ก็โอเค เหี้ยก็ไม่เป็นไร"

"อย่างความเชื่อของหลายคนที่บอกว่าเลี้ยงเหี้ยแล้วจะซวย ผมเคยเลี้ยงมาแล้วสองร้อยตัวตอนทำงานที่ฟาร์มเหี้ยที่กำแพงแสน (จ. นครปฐม) ก็ยังเหมือนเดิม ไม่ได้มีอะไร ฝรั่งเรียกเหี้ยว่า lizard ซึ่งก็หมายถึงกิ้งก่าด้วย ผมก็มองว่านี่มันก็คือกิ้งก่าตัวหนึ่ง"

Photo by Akshay Chauhan on Unsplash และ AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: