ไม่พบผลการค้นหา
วันที่ 31 มีนาคมของทุกปีเป็นวันตระหนักรู้ถึงการมีตัวตนของคนข้ามเพศสากล แม้ไทยจะเป็นประเทศที่ค่อนข้างเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่คนไทยจำนวนมากก็ยังไม่มองว่าพวกเขาเป็นคนธรรมดาทั่วไป ซึ่งไม่ได้ตลก หน้าตาดี หรือมีพรสวรรค์กันไปหมดทุกคน

คนไทยส่วนใหญ่อาจไม่รู้สึกว่าวันตระหนักรู้ถึงการมีตัวตนของคนข้ามเพศสากล (31 มี.ค.) มีความสำคัญอะไรมากนัก เพราะคนไทยก็มองเห็นและรับรู้ว่ามีคนข้ามเพศอยู่ในสังคมไทยอยู่แล้ว และพวกเขาก็มีสิทธิเสรีภาพอยู่ในสังคมได้ปกติ

แต่หากลองย้อนกลับมาตั้งคำถามว่า เรารู้จักคนข้ามเพศอย่างที่เขาเป็นจริงๆ หรือเปล่า คำตอบอาจจะไม่ใช่ 

วอยซ์ออนไลน์ได้ไปพูดคุยกับคนข้ามเพศ 4 คนว่า แล้วจริงๆ พวกเขาอยากให้สังคมมองเห็นพวกเขาเป็นแบบไหน? คำตอบของทุกคนก็คือ "อยากให้มองเป็นคนธรรมดาทั่วไป เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกับทุกคน" 

_P3A1203.JPG

คุณแครีน เพทาย ถนอมเขต หรือ 'เพชร' ชายข้ามเพศเล่าให้ฟังว่าสังคมมักมองว่าชายข้ามเพศเป็นคนมีปม ชอบทำตัวกร่าง มีอารมณ์รุนแรง แต่คนที่มีนิสัยแบบนั้นก็มีเพียงบางส่วนเท่านั้น เช่นเดียวกับผู้ชายผู้หญิง บางคนก็มีอารมณ์เกรี้ยวกราด บางคนก็เรียบร้อย เขาจึงอยากให้มองกันที่นิสัยใจคอและศักยภาพของแต่ละคนมากกว่า

ด้านคุณวรรณพงษ์ ยอดเมือง หรือ 'หนุน' นักกิจกรรมหญิงข้ามเพศอธิบายว่าภาพหญิงข้ามเพศที่คนในสังคมนึกถึงจะมีลักษณะอยู่ไม่กี่แบบ

"กะเทยเป็นคนตลกสนุกสนาน กะเทยจะต้องสวย กะเทยมีพรสวรรค์ด้านศิลปะ ทำงานอยู่ในสถานบันเทิง สถานประกอบการต่างๆ หรือกะเทยเสียงดัง หยาบคาย"

จนบางทีก็ทำให้เธอรู้สึกว่าทำไมเธอต้องพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นคนตลก สวย เก่ง คนจึงจะยอมรับ ทั้งที่จริงๆ แล้ว คนข้ามเพศก็เหมือนกับผู้หญิงผู้ชายที่มีนิสัยและความถนัดแตกต่างกันไป หญิงข้ามเพศบางคนอาจเป็นคนตลก บางคนไม่ตลก บางคนสวย บางคนไม่สวย บางคนอาจไม่ได้รักสวยรักงามตลอดเวลา 

คุณหนุนอธิบายว่าการที่สังคมไม่ได้มองคนข้ามเพศเป็นปัจเจกบุคคลที่มีความแตกต่างหลากหลาย รู้ทำให้คนข้ามเพศหลายคนเข้าใจตัวเองก็ต้องเป็นแบบนั้น หรือต้องพยายามทำแบบนั้น เพื่อที่จะได้รับการยอมรับในสังคม โดยเธอเปิดเผยว่าตอนที่ยังเป็นวัยรุ่น เธอวาดภาพตัวเองเป็นได้เพียงนางโชว์ ช่างแต่งหน้า หรือแฟชั่นดีไซเนอร์เท่านั้น เธอมองไม่ออกว่าผู้หญิงข้ามเพศจะทำอาชีพอื่นๆ ได้อีก แต่เมื่อมองตัวเองแบบคนคนหนึ่งโดยไม่นำเพศสภาพของตัวเองมาเกี่ยวข้อง เธอกลับพบว่าตัวเองไม่ได้อยากเรียนศิลปะหรืออักษรศาสตร์ แต่เธออยากเรียนนิติศาสตร์มากกว่า

เครื่องสำอาง

(Photo by freestocks.org on Unsplash)

ความลำบาก (ใจ) เมื่อคนมองไม่เห็นตัวตนคนข้ามเพศ

นอกจากภาพจำบนสื่อต่างๆ สังคมไม่ค่อยเข้าใจคนข้ามเพศมากนัก ทำให้การใช้ชีวิตประจำวัน พวกเขาต้องเจอความลำบากใจบ่อยครั้ง แบบที่เกย์หรือเลสเบี้ยนอาจไม่ได้เจอ เช่นการถูกไล่ออกจากห้องน้ำทั้งชายแลหญิง หรือการถูกกักตัวที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองนานกว่าคนอื่น

โดยคุณฐิติกาญจน์ จตุรพิตร หรือคุณกุ๊ก เทรนเนอร์ชายข้ามเพศเล่าว่า โดยปกติแล้วผู้ชายข้ามเพศจะมีใบรับรองแพทย์ว่ารับฮอร์โมนเพศอยู่ แต่หากเดินทางไปในที่ที่ไม่ค่อยพูดภาษาอังกฤษ เช่น ฮ่องกง ตม.ของที่นั่นจะไม่สนใจดูใบรันรองแพทย์มากนัก แต่จะตั้งคำถามมากมายว่าเป็นผู้หญิงแล้วทำไมมีหนวดเครา ใช่ตัวคุณจริงหรือไม่ กว่าจะตรวจสอบเสร็จก็ใช้เวลานานกว่าคนอื่นมาก

นอกจากเรื่องที่เห็นกันชัดๆ แล้ว คนข้ามเพศก็ยังประสบกับการคุกคามทางเพศที่มาในรูปของมุกตลก เพราะบางคนมักคิดว่าผู้หญิงข้ามเพศล้วนมีความจัดเจนในเรื่องเพศ อยากมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายคนไหนก็ได้ หรืออยากถูกผู้ชายข่มขืน หรือผู้ชายบางคนมักพูดหยอกว่าผู้ชายข้ามเพศยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่ 'เก่ง' พอ ที่จะเปลี่ยนให้พวกเขากลับมาเป็นผู้หญิงที่ชอบผู้ชาย บางคนถึงขั้นลวนลามผู้ชายข้ามเพศด้วย 

ทั้งที่จริงแล้ว กว่าคนหนึ่งจะข้ามเพศมาได้ พวกเขาต้องใช้เวลาศึกษานานเป็นปี ต้องผ่านการตรวจสภาพร่างกายและจิดใจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะไม่เปลี่ยนใจกลับไปกลับมา เพราะการข้ามเพศเป็นกระบวนการถาวร ไม่สามารถย้อนให้ร่างกายกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้อีก แล้วคนข้ามเพศเหล่านี้ได้พิจารณาผลเสียที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายตัวเอง ซึ่งคุณกุ๊กกับคุณเพชรต่างอธิบายว่าการข้ามเพศมีผลเสียมากกว่าผลดี เพราะเป็นการฉีดฮอร์โมนและสารสเตียรอยด์เข้าสู่ร่างกาย และประกันชีวิตก็ไม่ได้ระบุว่าคุ้มครองคนที่รับฮอร์โมนด้วยหรือไม่ แต่พวกเขามั่นใจแล้วว่าพวกเขาอยากข้ามเพศจริงๆ และผู้ชายคนไหนก็คงเปลี่ยนเขาไม่ได้

แม้แต่การทำความรู้จักคนใหม่ๆ คำถามที่คนข้ามเพศมักเจอก็คือ ผ่าตัดมาแล้วหรือยัง ผ่ามากี่ครั้งแล้ว ทำอะไรมาบ้าง มีอวัยวะเพศใหม่แล้วหรือยัง ใหญ่หรือไม่ แล้วเข้าห้องน้ำทำอย่างไร หรือเวลามีเพศสัมพันธ์ทำอย่างไร ซึ่งคุณกฤติมา สมิทธิ์พล หรือ 'เจี๊ยบ' หญิงข้ามเพศ บอกว่านี่เป็นสิ่งที่คนข้ามเพศมักอึดอัดใจที่จะต้องพูดเรื่องนี้ซ้ำๆ ให้หลายคนฟัง และบางครั้งก็ถูกถามในทีสาธารณะที่มีคนอยู่กันเยอะๆ ทั้งที่เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องส่วนตัวมาก

_P3A1104.JPG

คนข้ามเพศถูกกีดกันการทำงาน

คุณเพชรเปิดเผยว่าก่อนที่เขาจะตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการข้ามเพศมาเป็นผู้ชาย เขารู้กังวลเกี่ยวกับเรื่องงานมากที่สุด เขาจึงได้เปิดใจพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานก่อนว่าอาจมีความเปลี่ยนแปลงทั้งรูปร่างหน้าตา และการวางตัว ก่อนที่จะหารือกับหัวหน้างาน โดยเขาอธิบายว่าเขากลัวมากว่าหัวหน้าจะไม่ยอมรับเขา และเขาจะทำให้ภาพลักษณ์บริษัทเสียหาย เพราะเขาทำงานเกี่ยวกับการศึกษาต่อ ต้องพบเด็กและผู้ปกครองจำนวนมาก แต่เขาโชคดีที่หัวหน้าเข้าใจ แต่คนข้ามเพศบางคนอาจเจ็บปวดที่ไปรับราชการแล้วยังต้องแต่งเครื่องแบบตามเพศกำเนิด ทั้งที่รูปลักษณ์ภายนอกของเขาข้ามเพศไปแล้ว

ด้านคุณเจี๊ยบกล่าวว่าเธอค่อนข้างโชคดีที่ไม่ถูกกีดกันการทำงาน แต่ก็เป็นเพราะเธอทำงานกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศโดยตรง และบริษัทที่เคยทำก็มีสวัสดิการที่ดีสำหรับคนข้ามเพศ เพราะเป็นบริษัทต่างชาติ ซึ่งมีนโยบายเกี่ยวกับคนข้ามเพศอย่างชัดเจน แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดีเหมือนเธอ 

อย่างไรก็ตาม คุณหนุนระบุว่าการที่คนข้ามเพศบางคนมีโอกาสในการทำงาน ไม่อาจตีความได้ว่าสังคมมีความเท่าเทียมกันแล้ว เพราะคนข้ามเพศมักจะอยู่ในอุตสาหกรรมบันเทิงหรือทำงานด้านสิทธิมนุษยชน หรือทำงานในจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยว ใครแต่งหน้าไม่เป็นก็ต้องไปทำให้เป็น เพื่อที่จะได้มีทำงาน แต่คนข้ามเพศที่มีความสามารถด้านอื่นและอยู่ในต่างจังหวัดมีทางเลือกในการทำงานน้อยมาก การทำงานหรือเติบโตในวงธุรกิจ กฎหมาย หรือข้าราชการของคนข้ามเพศยังคงจำกัดมาก

เธอเล่าประสบการณ์ว่าเธอเคยไปสมัครบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งแล้วได้รับการตอบรับว่า เธอมีโปรไฟล์การทำงานที่ดีมาก แต่บริษัทกลัวว่าคนข้ามเพศจะมีอารมณ์รุนแรง จนทำงานกับคนอื่นๆ ในทีมไม่ได้ 

คุณหนุนยังกล่าวว่าการเป็นคนข้ามเพศในต่างจังหวัดมีข้อจำกัดค่อนข้างเยอะ เช่น ระบบราชการอาจยังไม่เข้าใจเรื่อนี้มากนัก ก็จะถูกซักถามมาก หรือยังไม่มีนโยบายที่เอื้อให้คนข้ามเพศทำงานราชการได้อย่างสะดวกใจ และเมื่องานในจังหวัดของตัวเองไม่เปิดให้กับคนข้ามเพศ จึงทำให้หลายคนย้ายไปอยู่กรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่อย่าง พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต ซึ่งมีตำแหน่งงานรองรับคนข้ามเพศมากกว่าจังหวัดเล็กๆ

หมอ

(Photo by Hush Naidoo on Unsplash)

การแพทย์ไม่ทั่วถึง

คุณกุ๊กเล่าว่าความรู้เกี่ยวกับคนข้ามเพศในต่างจังหวัดค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะในเรื่องการแพทย์ แม้แต่ในโรงพยาบาลใหญ่ในต่างจังหวัดเองก็ไม่ค่อยมีบริการเฉพาะด้านของคนข้ามเพศ เช่น การฉีดฮอร์โมน หรือจิตแพทย์ดูแลคนข้ามเพศ ทำให้คนข้ามเพศที่อยู่ต่างจังหวัดต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ทุก 3 เดือน หรือต้องย้ายมาทำงานในกรุงเทพฯ แทน

คุณเจี๊ยบซึ่งทำงานในสายงานนี้กล่าวว่า ปัจจุบัน คลินิกเฉพาะทางสำหรับคนข้ามเพศมีน้อยมาก แต่หน่วยงานด้านสาธารณสุขก็พยายามจะขยายการให้บริการออกไปยังต่างจังหวัดบ้าง เพื่อให้คนข้ามเพศในต่างจังหวัดมีโอกาสเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้มากขึ้น เพราะคนข้ามเพศมีความต้องการเฉพาะด้าน และต้องการบุคคลากรทางการแพทย์ที่เข้าใจคนข้ามแพทย์ 

โดยคุณเจี๊ยบยกตัวอย่างว่า เมื่อคำนำหน้านามกับรูปร่างของพวกเขาไม่ตรงกันก็คนข้ามเพศมักถูกซักประวัตินานมากว่าทำไมจึงต้องข้ามเพศ และคนข้ามเพศจะรู้สึกอึดอัดใจกับสายตาและคำถามมากมาย เมื่อพวกเขาต้องการตรวจภายใน เช่น ชายข้ามเพศต้องการตรวจมดลูก หรืออวัยวะเพศของหญิงข้ามเพศเกิดอาการติดเชื้อ กว่าจะไปพบแพทย์ได้

การมองเห็นและตระหนักรู้ว่าคนข้ามเพศมีตัวตนนั้นไม่ใช่แค่การมองเห็นแล้วผ่านไป แต่เป็นการยอมรับในความเป็นมนุษย์ ที่ไม่จำเป็นต้องตรงตามที่เราจิตนาการไว้ การให้เกียรติในฐานะเพื่อนในสังคมไม่ใช่ตัวประหลาด การเปิดพื้นที่ให้เขามีส่วนร่วมในพื้นที่เศรษฐกิจ และการมองเห็นสิทธิเสรีภาพและสวัสดิการที่เท่าเทียมกับคนอื่น

Cover Photo by Sharon McCutcheon on Unsplash