ไม่พบผลการค้นหา
'สุทิน' จวก ส.ส.มีหน้าที่เข้าประชุม อย่าอ้างเอกสิทธิ์จะไม่เข้า ถ้าสภาฯล่ม ขอจองโพเดียมอภิปรายนอกห้องประชุม มอง 'ปชป.' สัญญาณดีช่วยอยู่เป็นองค์ประชุม แต่พรรคอื่นน่าเป็นห่วง

วันที่ 15 ก.พ. ที่อาคารรัฐสภา สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวยืนยันว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านมีความพร้อมในการอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ในวันนี้ โดยได้เรียงลำดับ เริ่มจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้แถลงญัตติ ขยายความภาพรวมเนื้อหาตลอด 2 วัน

จากนั้น ตามด้วยกลุ่มหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หลังจากกลุ่มหัวหน้าพรรคจบ จะตามด้วย น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย จะอภิปรายในหัวข้อใหญ่ ที่สังคมกำลังติดตาม

จากนั้นจะตามด้วยการอภิปรายในหัวข้อกลุ่มเศรษฐกิจ แรงงาน และการต่างประเทศ และพรุ่งนี้ (16 ก.พ.) จะเป็นเรื่องยาเสพติด ปัญหาสังคม การทุจริต และปิดท้ายด้วยตนเป็นผู้อภิปรายสรุป

เมื่อถามถึงประเด็นว่ามีความเป็นห่วงเรื่ององค์ประชุมหรือไม่ สุทิน ยืนยันว่า พรรคร่วมฝ่ายค้าน มาครบ ไม่มีปัญหา มีปัญหาที่รัฐบาล วันนี้ต้องยอมรับตรงไปตรงมาว่ายัง 50-50 ส่วนฝ่ายค้านแม้จะมาครบยังไงก็ไม่เกินกึ่งหนึ่ง แต่ข่าวดีคือพรรคประชาธิปัตย์ได้ยืนยันว่าจะมาร่วมเป็นองค์ประชุม ก็ต้องลองลุ้นดู

"อย่างไรเสีย หวังให้พรรคร่วมรัฐบาลร่วมกันรักษาระบบรัฐสภา ประชุมสภาฯ เล็กๆ น้อยๆ จะล่มบ้างก็เป็นปกติ แต่การล่มองค์ประชุมระดับอภิปรายฯ ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ อยู่ที่สำนึก แต่เชื่อว่ารัฐบาลก็คงคิดอยู่ ไม่ถึงขั้นทำให้ระบบนี้หายไป"

แต่หากสภาฯ ล่มวันนี้ พรุ่งนี้ประชุมต่อ ลุ้นอีกวัน แต่ถ้าพรุ่งนี้ยังล่ม ก็เจอกันที่นี่ นอกห้องประชุมสภาฯ ใช้โพเดียมด้านหน้า พร้อมเชิญสื่อมาฟังการอภิปรายนอกห้องประชุม 

ส่วนจะห่วงพรรคร่วมรัฐบาลใดเป็นพิเศษหรือไม่ สุทิน เผยว่า นอกจากประชาธิปัตย์แล้ว ก็เป็นห่วงทุกพรรค ตนฟังว่าภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ยังไม่ให้ความมั่นใจมา พรรคอื่นก็พอๆ กัน แต่ก็คิดว่าประชาธิปัตย์จะเหลือกี่คน เพราะย้ายไปเยอะ

เมื่อถามว่าเหตุผลที่พรรคร่วมรัฐบาลจะล่มองค์ประชุมคืออะไร สุทิน มองว่า คิดอื่นไกลไม่ได้ คือกลัวการตรวจสอบ กลัวถูกขึงพืด เสียเครดิตก่อนเลือกตั้ง สู้ดีก็หนีดีกว่า ไม่มีเหตุผลอื่นใด

ส่วนกรณีหัวหน้าพรรคบางพรรคการเมืองไม่กำชับสมาชิกพรรคเข้าประชุม เพราะถือเป็นเอกสิทธิ์ และไม่ถือว่าเป็นอภิปรายไม่ไว้วางใจ สุทิน ระบุว่า ถือเป็นการแก้ตัว หาเหตุผลไม่ร่วมประชุม ความจริงอภิปราย 152 เป็นการยกระดับเหนืออภิปรายทั่วไป ที่ผ่านมาเรื่องนี้ทุกพรรคถือเป็นความสำคัญมาตลอด


'รังสิมันต์' ลั่นก้าวไกลพร้อมสาวไส้รัฐบาล

รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล เผยว่าพรรคก้าวไกลเตรียมขุนพลอภิปรายไว้ ประมาณ 5 คน โดยเริ่มจาก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ หัวหน้าพรรค ตามด้วย วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในประเด็นเศษรฐกิจ ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. ในประเด็นสังคม และตนจะอภิปรายในหัวข้อการเมือง

สำหรับหมัดเด็ดในการอภิปรายหนนี้ แม้ตามกฎหมายจะเป็นการซักถามทั่วไป แต่เนื่องจากเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว เราจึงยกระดับให้เทียบเท่ากับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยเฉพาะเนื้อหาของตนที่เตรียมมาเป็นจำนวนมาก เกี่ยวพันกับการทุจริตคอรัปชัน โดยใช้เวลาเตรียมข้อมูลถึง 3-4 เดือน และมีเวลาอภิปรายถึง 1 ชั่วโมงกว่า ๆ มั่นใจว่ามีหลักฐานชัดเจนในการเอาผิดรัฐบาล จะไม่ได้จบแค่การซักฟอกครั้งนี้ แต่จะต้องมีการเตรียมดำเนินคดีเอาผิดอีกเยอะ

และหากมีการประท้วงหรือเสนอนับองค์ประชุมจากฝั่งรัฐบาล รังสิมันต์ กล่าวว่า ไม่เข้าใจจะทำไปเพื่ออะไร เพราะที่ผ่านมาในการอภิปรายหลายๆ ครั้ง ก็ดำเนินการได้อย่างปกติ แล้วการพยายามปิดกั้นไม่ให้ฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาล ทำไปด้วยวัตถุประสงค์ใด หรือรัฐบาลกำลังจะยอมรับว่า ตัวเองมีแผลเหวอะหวะเต็มตัว และกลัวว่าประชาชนจะรู้

"ผมอยากให้สภาฯ เป็นเวทีที่ทุกฝ่ายมีโอกาสได้พูด อย่าใช้เวทีนี้ในการปิดปากใคร แต่ควรเป็นโอกาสให้ประชาชนรับรู้ข้อมูล หากรัฐบาลชี้แจงไม่ดีประชาชนก็ไม่เลือกคุณ หากฝ่ายค้านตรวจสอบไม่ดีประชาชนก็ไม่เลือก"

รังสิมันต์ ย้ำว่า คณะรัฐมนตรีที่เป็นเป้าหมายในครั้งนี้ มั่นใจแล้วว่า เป็นคนที่มีบาดแผลเยอะมากจริง ๆ และไม่สมควรที่จะบริหารประเทศต่อไป ส่วนตัวเห็นว่ารัฐบาลก็ปรามาสฝ่ายค้านมาทุกครั้ง แต่ก็ไม่เคยเห็นรัฐบาลชี้แจงอะไรได้ เข่น เรื่องตั๋วช้าง เป็นต้น ทั้งนี้ ไม่ขอห้ามการปรามาส แต่อย่ามาปิดปากเรา 

รังสิมันต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หากวันนี้สภาล่มจริง ก็ขอให้สื่อมวลชนอย่าเพิ่งรีบกลับ ขอให้อยู่ติดตามการนำเสนอต่อไป ถึงแม้อภิปรายจะไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครอง ส.ส. แต่ก็ถือว่าเป็นการทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ส่วนใครอยากจะฟ้องร้องก็ห้ามไม่ได้ อยากให้สังคมเข้าใจว่า ไม่มีใครอยากอภิปรายนอกสภา แต่ในเมื่อสภาล่มจนต้องทำอย่างนั้น ก็สะท้อนว่านี่คือส่วนหนึ่งของปัญหา