ที่อาคารรัฐสภา พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้าน ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังปวงชนไทย
นพ.ชลน่าน แถลงว่า จากเดิมที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะมีมติรวมรายชื่อสมาชิกรัฐสภาเพื่อเสนอเปิดการประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาแนวทางแก้ปัญหายาเสพติดนั้น เนื่องจากเมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา ได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา สมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง พ.ศ. 2565 แล้ว เป็นเหตุให้การเสนอเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญจึงค่อนข้างช้า และทำได้ยาก พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงจะไม่ดำเนินการยื่น แม้จะได้เตรียมความพร้อมมาในระดับหนึ่งแล้ว แต่เนื่องจากเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลา จึงจะยกยอดไป
อย่างไรก็ตาม พรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติเห็นว่า เหตุกราดยิงที่ จ.หนองบัวลำภู และปัญหาน้ำท่วม คือปัญหาใหญ่ของประเทศขณะนี้ และมีความสำคัญ จึงจะยื่นเป็นญัตติด่วนด้วยวาจาในการเปิดประชุมสมัยสามัญครั้งแรก ในวันที่ 3 พ.ย. 2565 เพื่อให้ที่ประชุมร่วมกันพิจารณา และเสนอทางออกให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขทั้ง 2 ปัญหานั้นไปพร้อมกัน โดยพรรคร่วมฝ่ายค้านมั่นใจว่าทางวิปรัฐบาลจะไม่ปฏิเสธญัตตินี้โดยไม่มีเสียงขัดข้อง
สำหรับกรณีพรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ เพื่อซักถามข้อเท็จจริงและให้ข้อเสนอแนะแก่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามมาตรา 152 แห่งรัฐธรรมนูญ เดิมมองว่าเป็นประเด็นที่สำคัญมาก แต่ได้มีเรื่องเหตุกราดยิงและปัญหาน้ำท่วมแทรกขึ้นมา สาระสำคัญของการอภิปรายจึงอยู่ในเนื้อหาของญัตติด่วนด้วยวาจาอยู่แล้ว ดังนั้น พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงมีมติว่าจะประเมินสถานการณ์ โดยดูจากโอกาสอยู่รอดของสภาฯ ว่าจะมีการยุบสภาหรือไม่ หากมีโอกาสยุบสภาสูง จะเร่งยื่นเปิดอภิปรายฯ โดยหลังการประชุมเอเปค พรรคร่วมฝ่ายค้านจะพิจารณาเวลาในการยื่นอีกครั้ง
ด้าน สุขุมพงศ์ โง่นคำ คณะทำงานด้านกฎหมายของพรรคเพื่อไทย ได้เผยความคืบหน้าของการเตรียมดำเนินคดีกับ ครม. สืบเนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุด แต่ละเรื่องที่อภิปรายฯ ล้วนมีความสำคัญ พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อรวบรวมข้อกล่าวหาและความผิดทั้งหมด 19 เรื่อง ที่ ครม. กระทำการทุจริตและบกพร่องในหน้าที่ต่างๆ และพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นศาล รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ขณะนี้ได้ยื่นไปแล้ว 13 เรื่อง
ส่วนเรื่องอื่นที่เตรียมดำเนินการภายในสมัยประชุมหน้าเหลืออีก 6 เรื่อง โดยประเด็นที่สำคัญ เช่น กรณีนโยบายปลดล็อกกัญชา ซึ่งจะยื่นต่อศาลปกครองเพื่อให้มีการคุ้มครองชั่วคราว เนื่องจากเห็นว่าคำสั่งของกระทรวงสาธารณสุขไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ยังจะยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ยุบพรรคที่เกี่ยวข้องกับนโยบายดังกล่าวด้วย ขณะนี้ที่เห็นชัดเจนคือพรรคภูมิใจไทย โดยประเด็นนี้ สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เป็นผู้รับผิดชอบยกร่างคำร้อง
อีกประเด็นสำคัญคือการตั้งคณะกรรมการร่วมตรวจสอบสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีไม่ชี้มูลความผิดคดีนาฬิกายืมเพื่อน และไม่ชี้มูลการซื้ออุปกรณ์ตรวจจับวัตถุระเบิด GT 200 ซึ่งตัวแทนจากพรรคก้าวไกลเห็นว่า เป็นละเว้นปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ช. อาจเข้าข่ายความผิดอาญา จำเป็นต้องยื่นต่อศาลอาญาแผนกคดีอาญาของของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง