แอสตร้าเซนเนก้า พีแอลซี บริษัทยาและชีวเภสัชภัณฑ์ของอังกฤษ-สวีเดน ผู้ผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เปิดเผยผลการทบทวนด้านความปลอดภัยของวัคซีนต้านโควิด-19 หลังการฉีดให้กับผู้คนมากกว่า 17 ล้านคนในสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป โดยผลระบุว่า ไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก ภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด หรือ ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ โดยไม่พบความเสี่ยงดังกล่าวในทุกช่วงอายุที่ถูกกำหนดให้ใช้วัคซีนได้ รวมถึงผู้ใช้ทุกเพศ วัคซีนทุกล็อต และในทุกประเทศที่มีการใช้วัคซีน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้หลายประเทศในภูมิภาคยุโรปได้สั่งระงับการใช้งานวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้วชั่วคราว ไม่ว่าจะเป็นประเทศไอร์แลนด์ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ เนื่องจากเหตุผลความกังวลภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ขณะที่ประเทศออสเตรียก็เป็นอีกชาติหนึ่งที่ระงับการใช้งานวัคซีนหนึ่งล็อตใหญ่ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมาเช่นกัน ท่ามกลางการสอบสวนสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ได้รับวัคซีนหนึ่งราย เนื่องจากเกิดภาวะเลือดแข็งตัว
ปีเตอร์ อิงลิช อดีตที่ปรึกษารัฐบาลอังกฤษผู้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษากับกรมควบคุมโรคของอังกฤษ กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า "เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่หลายประเทศตัดสินใจระงับการฉีดวัคซีนซึ่งเป็นไปบนพื้นฐานของความระมัดระวัง การระงับที่เกิดขึ้นถือเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อเป้าหมายของการฉีดวัคซีนให้กับผู้คนให้มากเพียงพอเพื่อชะลอการระบาดของเชื้อไวรัส อันจะนำไปสู่การยุติของการระบาดครั้งใหญ่"
ด้านองค์การยาสหภาพยุโรประบุว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่มีข้อบ่งชี้ใดที่ระบุว่าภาวะลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากการฉีดวัคซีน ซึ่งทางองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ก็ได้เห็นพ้องเช่นเดียวกันเมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยทางบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าระบุเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีรายงานผู้ป่วยที่มีอาการลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ 15 ราย และอาการลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด 22 ราย ซึ่งนับเป็นจำนวนที่คล้ายคลึงกันกับกรณีผู้ได้รับวัคซีนจากผู้ผลิตรายอื่นๆ
จากข้อมูลจนถึงวันที่ 8 มีนาคม บริษัทฯ ได้รับรายงานถึงอาการที่เกี่ยวข้องกับภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึกในผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนในสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรทั้งหมด 15 รายงาน และรายงานที่เกี่ยวข้องกับภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดอีก 22 รายงาน เมื่อเทียบจำนวนประชากรแล้ว อัตราการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่ได้รับรายงานหลังการฉีดวัคซีนนี้ ถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าอัตราการพบภาวะดังกล่าวในกลุ่มประชากรทั่วไป และยังเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของผู้ผลิตรายอื่นๆที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้อยู่ในปัจจุบัน
โดยรายงานด้านความปลอดภัยประจำเดือนจะมีลงประกาศอยู่ในหน้าเว็บไซต์ของหน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของสหภาพยุโรป (European Medicines Agency – EMA) ในสัปดาห์หน้า เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการด้านความโปร่งใสเกี่ยวกับโควิด-19 และยังพบว่า แม้ในการทดลองทางคลินิกจะพบอัตราการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันต่ำ แต่ตัวเลขการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันยิ่งต่ำกว่าในกลุ่มของผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน อีกทั้งไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ว่าผู้ที่เข้าร่วมการทดลองทั้ง 60,000 รายมีอาการเลือดออกเพิ่มขึ้น
แอน เทย์เลอร์ Chief Medical Officer ของแอสตร้าเซนเนก้า กล่าวว่า “ปัจจุบันมีประชากรในสหภาพยุโรปและ สหราชอาณาจักรที่เข้ารับการฉีดวัคซีนแล้วกว่า 17 ล้านราย และมีรายงานจำนวนผู้ที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของการพบภาวะดังกล่าวในกลุ่มประชากรทั่วไป ซึ่งมีมากกว่าหลายร้อยเคส ภาวะโรคระบาดที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ ทำให้อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นในแต่ละเคสได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น และเพื่อความปลอดภัยของประชาชน เรายิ่งต้องเฝ้าระวังความปลอดภัยในการใช้วัคซีน ยิ่งกว่าการเฝ้าระวังตามมาตรฐานความปลอดภัยของยาทั่วไป”
ในด้านคุณภาพนั้น ไม่มีเหตุการณ์ใดที่ได้รับการยืนยันว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนที่ใช้ในสหภาพยุโรปและในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การทดลองเพิ่มเติมยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งโดยแอสตร้าเซนเนก้าเองและองค์กรอิสระด้านสุขภาพของยุโรป แต่ก็ยังไม่พบว่ามีข้อบ่งชี้ของอาการไม่พึงประสงค์ใดๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ระหว่างการผลิตวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า รวมถึงพันธมิตรและห้องทดลองอิสระอีกกว่า 20 แห่งได้ทำการทดลองด้านคุณภาพมาแล้วกว่า 60 ครั้ง โดยในการทดลองแต่ละครั้งจะต้องผ่านเกณฑ์การพิจารณาที่เคร่งครัดและเข้มงวด ซึ่งข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับจะทำการส่งไปยังหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านความปลอดภัยในประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาก่อนที่วัคซีนแต่ละรุ่นการผลิตจะได้รับการอนุมัติให้ใช้ในประเทศนั้นๆ
ปัจจุบัน แม้สมาชิกสหภาพยุโรปและหลายประเทศจะรับรองประสิทธิภาพของวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว แต่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ หรือ FDA นั้นยังไม่ให้การรับรอง ซึ่งทางโฆษกของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าระบุว่า ผลการทดสอบวัคซีนเฟส 3 เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก ต่อการรับรองของ FDA เพื่อจุดประสงค์ในการใช้งานแบบฉุกเฉิน (EUA) ซึ่งทางบริษัทมีความคาดหวังว่าจะได้เห็นผลการทดสอบในระยะที่ 3 ในสหรัฐฯ เร็วๆ นี้ ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า หลังจากนั้นจะเร่งส่งเรื่องเพื่อขออนุมัติการรับรองใช้งานวัคซีนแบบฉุกเฉินโดยเร็ว
NBC ชี้ว่า หากวัคซีนจากทางผู้ผลิตแอสตร้าเซนเนก้าสามารถผ่านการรับรองอย่างเป็นทางการจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ ได้จริง ก็จะสามารถเป็นอีกแรงสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่เตรียมจะใช้งานทั่วโลก หลังจากที่รัฐบาลหลายประเทศตัดสินใจสั่งระงับการใช้ชั่วคราว เพราะความกังวลประเด็นลิ่มเลือดอุดตัน