ไม่พบผลการค้นหา
‘ขัตติยา‘ เสนอญัตติตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาการออกกฏหมายนิรโทษกรรม เสียงสั่นเครือยืนยันในฐานะผู้สูญเสีย ไม่เห็นชอบให้อภัยผู้กระทำความผิดแก่ชีวิตเด็ดขาด

วันที่ 1 ก.พ. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 14 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ซึ่งมี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธาน 

โดย ขัตติยา สวัสดิผล สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้เสนอญัตติด่วน เรื่องขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เนื่องจากในปัจจุบัน สังคมไทยมีความขัดแย้งทางความคิดมาหลายปี ทำให้มีนักศึกษา และประชาชน ต้องคดีทางการเมืองเป็นจำนวนมาก ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ส่วนหนึ่งคือการตรากฎหมายนิรโทษกรรม

อย่างไรก็ตาม กฎหมายนิรโทษกรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายยึดอำนาจ ที่มานิรโทษให้ตนเอง ผ่านสภาที่แต่งตั้งขึ้นมา แต่ล่าสุดได้มีการเสนอให้นำกฎหมายนิรโทษกรรม มาพาประเทศกลับสู่สภาวะปกติ ในคดีที่มีปัจจัยทางความผิดเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ปัญหาคือควรมีคดีใดบ้างที่ควรได้รับการนิรโทษกรรม เพื่อนำมาสู่ความสมานฉันท์ปรองดอง และไม่สร้างความขัดแย้งครั้งใหม่ ซึ่งควรมีการศึกษาพิจารณาหลักเกณฑ์ให้เป็นที่ยุตติเสียก่อน จึงจะมีการตราเป็นกฎหมาย

ขัตติยา กล่าวต่อไปว่า โจทย์ของสังคมที่มีอารยะ คือทำให้ผู้คนอยู่กับความขัดแย้งได้ ขัดแย้ง แต่ไม่ต้องฆ่ากัน หรือทำร้าย ทำลายกัน ไม่ต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพของกันและกัน และไม่ถูกคุกคามให้เกิดความกลัว เพราะมีความคิดเห็นที่แตกต่าง จึงต้องออกแบบสภาพสังคมที่ปลอดภัย ให้พลเมืองสามารถตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์อำนาจรัฐได้ โดยไม่ต้องกลัวการถูกเล่นงาน 

ขัตติยา กล่าวอีกว่า ในความขัดแย้งทางการเมืองหลายระลอก ได้มีผู้ออกมาชุมนุมประท้วง และถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ ถูกคุมคามเป็นสิ่งที่นักวิชาการเรียกว่า ’นิติสงคราม‘ ส่งผลให้มีประชาชนจำนวนมาก เป็นนักโทษทางการเมือง หรือต้องลี้ภัย 

“ในความเห็นของดิฉัน การออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพาสังคมไทยเดินต่อไปข้างหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และสร้างบรรทัดฐานใหม่ ว่าเราทุกคนสามารถทะเลาะ เห็นต่าง และขัดแย้งกันได้ ภายในกรอบกติกา โดยที่ไม่ต้องหวาดกลัว ว่าจะถูกคุกคาม หรือถูกปิดปากด้วยกฏหมายอีกต่อไป”

ขัตติยา ยังระบุว่า เนื่องจากภาคประชาชน และบางพรรคการเมือง ได้ยื่นร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของตัวเองเข้ามาแล้ว จึงอาจทำให้สังคมตั้งคำถาม ว่าการเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญนี้ ตั้งใจจะยื้อ ถ่วงเวลา หรือยัดไส้สร้างบรรทัดฐานที่ผิดหรือไม่ โดยขอยืนยัน ว่าการออกกฎหมายนี้ ไม่ได้ทำให้คนไม่เกรงกลัวกฎหมาย แต่เป็นการปลดโซ่ตรวน และทำให้สังคมเห็น ว่าความเห็นทางการเมืองไม่ใช่อาชญากรรม 

ส่วนข้อสงสัย ว่าเป็นการยื้อเวลาหรือไม่นั้น ต้องตั้งต้นด้วยข้อเท็จจริง ว่าไม่ใช่คนไทยทุกคนที่จะเห็นด้วยกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรม เราจึงจำเป็นต้องดำเนินการเรื่องนี้ด้วยความระมัดระวัง และรับฟังเสียงจากกลุ่มคนต่างๆ ให้ครอบคลุมที่สุด

“สำหรับประชาชนที่กังวล ว่าจะมีการยัดไส้นิรโทษกรรม ให้เจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้ที่กระทำผิดต่อชีวิต ดิฉันในฐานะผู้แทนของประชาชน และเป็นหนึ่งในผู้สูญเสีย ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จากการกระทำที่รุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ ดิฉันขอยืนยันในหลักการว่าจะไม่ให้มีการนิรโทษกรรมต่อความผิดที่เกิดแก่ชีวิตโดยเด็ดขาด” 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการอภิปรายช่วงท้ายของขัตติยา ได้มีน้ำเสียงสั่นเครือ และมีอาการเหมือนจะร้องไห้