วันที่ 20 มี.ค. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 27 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 วันแรกของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 3.48 ล้านบาท วาระที่ 2-3 ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ในการพิจารณามาตรา 9 ว่าด้วยงบกระทรวงการคลัง เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ในฐานะกรรมาธิการฯ ผู้สงวนความเห็น ได้กล่าวอภิปราย
เรืองไกร อภิปรายว่า ขอปรับลดงบประมาณของกรมสรรพากร เนื่องจากในชั้นพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ ว่า เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ตนได้ขอรายละเอียดคำพิพากษา เกี่ยวกับการประเมินภาษีของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยกรมสรรพากรได้ส่งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนาญพิเศษมา จำนวน 207 หน้า
โดยในช่วงนี้ เรืองไกร ได้กล่าวว่า "ทางเพื่อไทยก็อาจจะฟังไปด้วย อย่าเพิ่งประท้วงนะครับ"
เรืองไกร กล่าวต่อไปว่า เป็นคำพิพากษาที่ 2819/2566 ลงวันที่ 2 มิ.ย. 2566 ระหว่างโจทก์คือ ทักษิณ และจำเลยที่ 1 คือ กรมสรรพากร และคณะผู้ประเมิน เรื่องภาษีอากร ซึ่งจำเลยได้คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น เท่ากับว่าโจทก์ได้ชนะคดี แต่ในคำพิพากษาดังกล่าว ได้เท้าความว่า ในสมัยนั้น รองนายกรัฐมนตรีได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาประชุมเรื่องข้อสรุปของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมือง เกี่ยวกับเรื่องการขายหุ้นให้บริษัทเทมาเส็ก และพิจารณาว่าหุ้นดังกล่าวยังเป็นของ ทักษิณ และคู่สมรส
เรืองไกร กล่าวว่า ต่อมาได้เกิดเป็นอภินิหารทางกฎหมาย ได้มีการประเมินภาษี และนำหมายศาลไปติดที่หน้าบ้านจันทร์ส่องหล้า จากนั้นได้สู้คดี
แต่ว่า ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิช สส.กทม. พรรคเพื่อไทย ได้ประท้วงว่า เรืองไกร กำลังอภิปรายอยู่นอกประเด็น และไม่อยู่ในวาระของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ โดย พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุมในขณะนั้น วินิจฉัยว่า นอกประเด็น เพราะวาระที่ 2 ต้องพิจารณาในขอบเขตว่า จะตัดลดงบประมาณลงกี่ %
ทำให้ เรืองไกร ตอบว่า "สมัยท่านยังไม่เป็นประธาน ท่านก็ต้องมาขอโทษผมหลังไมค์ ท่านฟังให้จบก่อน"
จากนั้น เรืองไกร กล่าวต่อไปอีกว่า ตนเห็นควรปรับลดงบประมาณของกรมสรรพากรลง 45 ล้านบาท เนื่องจากในชั้นกรรมาธิการ กรมสรรพากรได้ประเมินภาษีก่อน และมีการฟ้องให้ยกเลิกการประเมินเป็นเงิน 45 ล้านบาท ตนจึงจะนำเรื่องนี้มาอธิบายให้ฟัง แต่พวกท่านไม่ฟัง แล้วคิดว่าตนไปหาเรื่องอีกแล้ว
เรืองไกร ยังชี้ว่า รายละเอียดของคำพิพากษา มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์คดีให้ยกฟ้อง เท่ากับว่าการประเมินภาษีของกรมสรรพากรนั้นไม่ชอบ และการยึดทรัพย์ 45 ล้านบาท ไม่ชอบ
อย่างไรก็ตาม ตลอดการอภิปรายของ เรืองไกร ได้มี สส.เพื่อไทย จำนวนมาก ลุกขึ้นประท้วงอีกหลายครั้ง รวมถึง ประยุทธ์ ศิริพานิช สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่า ขอใช้สิทธิประท้วงครั้งแรกในชีวิตการเมือง ว่าการที่ผู้อภิปรายนำเอกสารอื่นมาอ่านในที่ประชุมเป็นเรื่องไม่เหมาะสม
ก่อนที่ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสลับสับเปลี่ยนขึ้นบัลลังก์ทำหน้าที่ประธานการประชุมในขณะนั้น ได้ขอให้ นายเรืองไกร หยุดอภิปราย เพราะมีผู้ประท้วงซ้ำซาก เพื่อให้การประชุมดำเนินต่อไปได้