ไม่พบผลการค้นหา
'จิตติพจน์' ขอลดงบ 3% นำไปใช้ในโครงการ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ตามนโยบายรัฐบาล ตัดปัญหาข้อถกเถียง วิกฤต-คุ้มค่า ด้าน 'ชวลิต' ตัดงบ 1% เหตุรัฐบาลไม่เร่งแก้ รธน. จวกนายกฯ บินบ่อยแต่ไม่สร้างเสถียรภาพการเมือง

วันที่ 20 มี.ค. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 27 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 วันแรกของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2567 วาระที่ 2-3 ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ในการพิจารณามาตรา 4 ว่าด้วยงบรวม 

จิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้แปรญัตติขอปรับลดงบประมาณในมาตรา 4 จำนวน 3.48 ล้านล้านบาท ลง 3% หรือ 1 แสนล้านบาท เพื่อไปใช้ดำเนินการแจกโครงการดิจิตอล วอตเล็ต 10,000 บาท เพื่อให้ตรงตามที่พรรคเพื่อไทยยื่นนโยบายต่อ กกต. ที่ยืนยันว่าจะใช้เงินจากงบประมาณ และตัดปัญหาการถกเถียงเรื่องความคุ้มค่าและความจำเป็นในการกู้ยืมเงินมาดำเนินโครงการตามมาตรา 53 ของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง 

ซึ่งสาเหตุที่เสนอแนวทางนี้เนื่องจาก GDP ของประเทศไทยเติบโตต่ำมาก เพียง 1.9% ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในส่วนหนึ่งเป็นเพราะธนาคารแห่งประเทศไทย มีการปัดขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 5 ครั้งในปี 2566 ทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงเกินจริง ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไม่ดี ผลประกอบการของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไม่เป็นไปอย่างที่ตั้งเป้า ประชาชนจึงไม่กล้าใช้จ่าย ส่วนตัวจะกังวลว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่เคยคาดการณ์ว่าจะเก็บได้ 2.787 ล้านล้านบาท ไม่เป็นไปตามเป้า

ขณะที่ ชวลิต วิชยสุทธิ์ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ได้อภิปรายขอปรับลดงบประมาณ 1% เพราะรัฐบาลยังไม่นำนโยบายเร่งด่วนที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา วันที่ 11 ก.ย. 2566 ส่งผลให้ประเทศขาดความเชื่อมั่น โดยเฉพาะการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ

นโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา คือ แก้รัฐธรรมนูญปี 60 ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หลังการเลือกตั้งมีกล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแล้ว เพราะมีการเลือกตั้ง” แต่ยังใช้รัฐธรรมนูญจากรัฐประหารปี 57 ที่บัญญัติเป็นรัฐธรรมนูญปี 60 ทุกพรรคการเมืองหาเสียงว่าเมื่อได้รับการเลือกตั้งจะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย พอจัดตั้งรัฐบาลก็แถลงเป็นนโยบายเร่งด่วน แต่สถานการณ์ปัจจุบันตั้งแค่คณะกรรมการศึกษาเรื่องความเห็นที่แตกต่างในการทำประชามติ 

“ผมขอให้กำลังใจนายกฯ ที่มีความพยายามไปต่างประเทศหลายครั้ง ไปโรดโชว์เชิญชวนนักลงทุนต่างประเทศมาลงทุนในไทย เชิญชวนว่าประเทศไทยเปิดแล้วเป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่นักลงทุนจากต่างประเทศรู้ว่ากติกาที่ครอบคนไทยอยู่ในปัจจุบันยังเป็นกติกาจากการปฏิวัติรัฐประหาร เสถียรภาพทางการเมืองยังไม่เกิดขึ้นหากยังไม่แก้รัฐธรรมนูญให้เป็นธรรม เป็นประชาธิปไตย เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน“

อีกทั้งประธานหอการค้าญี่ปุ่น เคยกล่าวว่า ถ้าการเมืองไทยไม่มีเสถียรภาพ ยังมีการปฏิวัติรัฐประหารสลับการเลือกตั้ง เสถียรภาพทางการเมืองไม่มั่นคง นักลงทุนไม่กล้าลงทุน ย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีเสถียรภาพทางการเมือง ญี่ปุ่นและหลายประเทศก็ย้ายฐานการลงทุนทั้งที่อยากอยู่ไทย ชอบนิสัยคนไทย ผลลัพธ์คือแรงงานไทยตกงาน นักศึกษาไม่มีงานทำ ขาดรายได้จากการลงทุน ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ตนต้องการให้กำลังใจนายกรัฐมนตรีที่พยายามทุ่มเทเชิญชวนให้มาลงทุนในประเทศ เกรงว่าจะเสียเวลาและเสียงบประมาณในการเดินทาง หากเราไม่แก้รัฐธรรมนูญให้ เป็นประชาธิปไตย เพื่อสร้างความเชื่อมั่น นี่คือเหตุผลแรกที่ตนขอปรับลดงบประมาณลง 1%

ชวลิต กล่าวอีกว่า สิ่งที่อยากสร้างความเชื่อมั่นคือการสร้างความรัก สามัคคี ปรองดอง สมานฉันท์ของประชาชนในชาติ ถึงจะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้ หากยังแตกแยก แบ่งเป็นฝ่าย ความเชื่อมั่นไม่เกิดขึ้น เพราะหลังรัฐประหาร 13 ครั้ง สิ่งที่คณะรัฐประหารกระทำเป็นภารกิจแรกคือการนิรโทษกรรมให้กับตนเองและพวกพ้องให้พ้นจากการกระทำที่ผิดกฎหมาย แตกต่างจากฝ่ายประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง 

นอกจากนี้ รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เรื่องบริหารประเทศที่บริหารมาแล้ว 6-7 เดือน แต่รัฐบาลยังตั้งแค่คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการออกกฏหมายนิรโทษกรรม ตนอยากเห็นรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะดำเนินการนิรโทษกรรมผู้มีความเห็นทางการเมือง มีเหตุจูงใจทางการเมือง เป็นเรื่องที่จะทำให้บ้านเมืองเกิดความรักสามัคคี เป็นประโยชน์ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ