ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลของกฎกระทรวงการอนุญาตจำหน่ายหรือมีไว้ในครองครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 พ.ศ. 2563 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 และมีการตีความในข้อกฎหมายที่คลาดเคลื่อนนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอเรียนว่า การออกกฎหมายอนุญาตให้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือครอบครองยาเสพติดให้โทษใด ๆ ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์เท่านั้น ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าวออกมาเพื่อปรับปรุงกฎกระทรวงฉบับเดิมที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 ให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เช่น เพิ่มช่องการทางยื่นคำขออนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มช่องทางการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 เพื่อใช้เป็นสารมาตรฐานในห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการใช้
ยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ทางการแพทย์เป็นจำนวนมาก โดยใช้ระงับปวด เช่น มอร์ฟีน เฟนทานิล ใช้เป็นส่วนผสมของยาแก้ไอ เช่น โคเดอีน หรือใช้บำบัดผู้ติดเฮโรอีน เช่น เมทาโดน เป็นต้น ซึ่ง อย. เป็นผู้จำหน่ายยาเสพติดทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ให้แก่สถานพยาบาล หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตแต่เพียงผู้เดียว โดยผู้มีสิทธิขออนุญาตต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น เช่น เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทันตกรรม สัตวแพทย์ หรือเภสัชกร สถาบันการศึกษา ห้องปฏิบัติการ ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ กระทรวง ทบวง กรม และจะต้องมีวัตถุประสงค์การนำไปใช้ประโยชน์ที่ชัดเจน เช่น ใช้รักษาผู้ป่วย ใช้ในการผลิตยารักษาโรค ใช้ในการศึกษา วิจัย ใช้ตรวจพิสูจน์ของกลางยาเสพติด เป็นต้น
รองเลขาธิการฯ ย้ำว่า กฎกระทรวงฯ ฉบับดังกล่าวยังคงสาระสำคัญในการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์เท่านั้น โดยกำหนดมาตรการควบคุมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหล ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม ผู้ได้รับอนุญาตจะต้องจัดทำรายงานและถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด หากฝ่าฝืนจะถูกดำเนินการตามกฎหมายจนถึงที่สุด