ไม่พบผลการค้นหา
‘พริษฐ์‘ ตั้งโจทย์ใหม่ แก้รธน. คุณสมบัตินายกฯ-ครม. ควรเป็น สส. ย้ำต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน

วันที่ 10 ธ.ค. ที่ลานประชาชน อาคารรัฐสภา พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ในฐานะคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง สื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวถึงการเปิดพื้นที่เพื่อทำกิจกรรมที่ลานประชาชน ของรัฐสภาครั้งแรก ว่า ถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่เรามีการใช้ลานประชาชน ของรัฐสภาฯ หวังว่าจะมีการจัดกิจกรรมให้ประชาชนทุกความคิดทุกกลุ่ม สามารถเข้ามามีส่วนร่วมและเชื่อมโยงกับรัฐสภาได้มากขึ้น 

พริษฐ์ กล่าวถึงความเห็นจากหลายพรรคการเมือง ในเรื่องรัฐธรรมนูญ ว่า หากจะพูดว่ารัฐธรรมนูญมีหน้าตาเป็นอย่างไร เราต้องวิเคราะห์จากคำวิจารณ์เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 2560 ในปัจจุบัน ซึ่งมีข้อเสนอที่แบ่งได้เป็น 2 หมวดหมู่ คือ 1.ข้อวิพากษ์วิจารณ์ หรือข้อเสนอเกี่ยวกับที่มาของกระบวนการ ซึ่งถูกหลายฝ่ายมองว่า ขาดความชอบธรรม เนื่องจากถูกเขียนโดยคณะกรรมการที่ถูกแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร ซึ่งมีข้อครหาว่าถูกเขียนขึ้นมาโดยมีเจตนาสืบทอดอำนาจของบางฝ่ายทางการเมือง 

แม้จะมีการผ่านประชามติแล้วในปี 2559 ยังถูกมองว่าไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานประชาธิปไตยและสากล รวมถึงผู้ที่ออกมารณรงค์คัดค้านหลายคนก็ถูกจับ และถูกดำเนินคดีแล้ว จึงนำมาสู่คำถามพ่วงของรัฐธรรมนูญในมาตรา 272 ที่ให้อำนาจวุฒิสภาที่มาจากแต่งตั้ง ในการเลือกนายกฯ นั้น เป็นคำถามพ่วงที่เขียนในลักษณะที่ไม่ตรงไปตรงมา เพราะซับซ้อน และชี้นำโดยเจตนา

รวมถึงข้อที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องเนื้อหา หากยังมีหลายมาตราที่อาจจะมีความถดถอยทางประชาธิปไตย ทั้งการถูกเปรียบเทียบกับฉบับก่อนๆ หรือแม้แต่การเปรียบเทียบกับมาตรฐานประชาธิปไตยสากล ท้ายที่สุดแล้ว ที่มาและกระบวนการจะเป็นเช่นไรจะส่งผลต่อเนื้อหาว่าจะเป็นเช่นไรเหมือนกัน และที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เป็นอย่างไรก็จะส่งผลกระทบโดยตรง ต่อเนื้อหาว่าจะสะท้อนถึงอะไร 

“ถ้า สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และเราสามารถออกแบบระบบเลือกตั้งให้กลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลายในสังคม มันมีตัวแทนในสสร. ได้เราจะมีเนื้อหาที่สะท้อนความเห็นที่แตกต่างหลากหลายของทุกกลุ่มในสังคม แต่ถ้าเรามี สสร. ที่มาจากการแต่งตั้ง มิหน้ำซ้ำอาจจะถูกควบคุมจากฝ่ายใดฝ่ายนึง หรือแทรกแซงได้ เราก็อาจจะมีเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่ถูกขีดเขียน ให้ประโยชน์ต่อฝ่ายใดฝ่ายนึงได้เปรียบและทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบ” พริษฐ์ กล่าว

พริษฐ์ กล่าวในมุม กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ ว่า จากข้อมูลยังมีสองด้านที่เรายังได้น้อยกว่าคะแนนเฉลี่ยจากดัชนีประชาธิปไตย ซึ่งถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ประชาธิปไตยบกพร่อง คือ 1.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ 2.ความตอบสนองของสถาบันทางการเมือง ต่อความต้องการของประชาชน 

ทำให้เราต้องโจทย์สำคัญ 2 ข้อ ในการออกแบบเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ คือ 1.เราจะทำให้กติกาสูงสุดของประเทศเราคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรัดกุม และได้มาตรฐานสากลมากขึ้นได้อย่างไร 2.1 อำนาจและที่มาของวุฒิสภา 2.2 คณะรัฐมนตรีหรือคุณสมบัตินายกฯ ที่จะต้องคุยกันว่าควรจะเป็นสส.หรือไม่ 2.3 กระบวนการที่ได้มาซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ 2.4การกระจายอำนาจ

พริษฐ์ ยังกล่าวถึงการตั้งคำถามเพื่อทำประชามติในครั้งแรกว่า เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ หากพูดด้วยหมวก สส.ของพรรคก้าวไกล ตนของย้ำในข้อเสนอที่ให้แยกเป็นหนึ่งคำถามหลัก และสองคำถามรอง ในส่วนของ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง นายพริษฐ์ กล่าวถึงจุดยืนส่วนตัวว่า สสร. ควรจะมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหลักการที่ตรงไปตรงมา เพราะเรามีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพื่อมายกร่างกฏหมายระดับพระราชบัญญัติ แล้วทำไมกฏหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญถึงไม่มีสภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

‘ยิ่งชีพ‘ กังวลคำถามทำประชามติ

ด้าน ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ตัวแทนกลุ่มไอลอว์ กล่าวว่า เมื่อ 3 ปีที่แล้วคือวันที่ 17 พ.ย. 2563 มีคำถามว่า รัฐธรรมนูญต้องการอะไร เรามีความฝันง่ายๆ คือใครได้เสียงข้างมาก คนนั้นต้องเป็นรัฐบาล ไม่มีอำนาจอื่นมาแทรกแซง เราอยากอยู่ในประเทศที่มีระบบตรวจสอบอำนาจรัฐที่มีที่มาอิสระ ไม่ใช่ถูกเลือกมาจากรัฐ ตอนนี้มีคำถามว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ตนถือว่าหยาบคาย เพราะเราต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งจากผลการเลือกตั้ง 

ทั้งนี้ กระบวนจัดทำกฎหมายสามารถเริ่มได้เลย โดยการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเข้าสู่สภาฯ แต่ก็มีความกังวลว่าจะผ่าน สว. หรือไม่ที่ต้องทำประชามติก่อน ดังนั้น จึงต้องทำประชามติครั้งแรกก่อน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ในกฎหมายไม่ได้ระบุว่าให้ทำประชามติครั้งที่ 1 ก่อน เราจะไม่ทำก็ได้ และศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้สั่งรวมถึงไม่มีอำนาจมาสั่ง แต่จะทำก็ได้ เพราะยิ่งทำจะยิ่งทำให้ประชาชนมีการตัดสินใจที่ดี แต่เราก็มีความกังวลว่าคำถามในการทำประชามติจะยิ่งทำให้มีเงื่อนไข ซึ่งตนไม่ได้ไม่เชื่อถือพรรค พท. แต่ไม่เชื่อถือพรรคร่วมรัฐบาลที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ 2560

ยิ่งชีพ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ โอกาสแรกหากจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราต้องล็อกการตั้งคำถามว่าประชาชนจะเห็นชอบหรือไม่ หากเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการแต่งตั้ง หากทุกคนโหวตไม่เอาก็แปลว่าไม่เอาการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย หรือเห็นชอบหรือไม่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้หมวด 1 หมวด 2 ถ้าโหวตไม่เอาคือเห็นด้วยกับการแก้ แต่ไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไข 

ดังนั้น จึงขอให้มีการเสนอคำถามในการทำประชามติ และ ส.ส.ร.ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% ไม่ใช่มาจากการแต่งตั้ง หรือมาจากไหนก็ไม่ทราบ ซึ่งเป็นจุดที่ประกาศชัดแล้วว่าประชาชนต้องการการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เลือกตั้งทั้งฉบับใหม่ 100%

“รัฐบาลกลัวว่าถ้าคนไม่ถึงก็จะขายหน้า แต่ประชาชนตื่นตัวเรื่องนี้กันมากแล้ว ถ้าทำด้วยการเปิดกว้าง เราก็จะรณรงค์ได้อย่างเต็มที่ และจะช่วยกันจนสุดความสามารถ แต่หากผลออกว่าไม่ทำประชามติ เราไม่ต้องถาม อย่างไรก็ตาม ผมไม่ติดใจ ซึ่งถ้าคิดว่าทำประชามติ 3 ครั้งมันเยอะ ไม่ต้องทำครั้งที่ 1 ให้เสนอร่างเข้าสู่สภาฯ เลย มั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยก็จะเสนอ และพรรคก้าวไกลก็จะเสนอ รวมถึงประชาชนจะเสนอเข้ามาด้วย” ยิ่งชีพ กล่าว