ไม่พบผลการค้นหา
‘พริษฐ์’ มองรัฐบาล ‘เศรษฐา’ แก้รัฐธรรมนูญแบบ ‘ตลก 6 ฉาก’ พายเรือในอ่างไม่ขยับไปไหน แนะหยุดใช้คำถามประชามติยัดไส้ หวั่นพาประเทศสู่ประชาธิปไตยแบบต้องขอใบอนุญาต ด้าน ‘วันนอร์’ ย้ำอีกครั้ง ไม่บรรจุระเบียบวาระ เหตุศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยต้องทำประชามติ 3 ครั้ง มีผลผูกพันทุกองค์กร

วันที่ 4 เม.ย. ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) ในญัตติการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ ม.152 พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยหยิบยกสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาว่า 8 เดือนที่แล้ววุฒิสภา (สว.) จำนวน 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารแทรกแซงกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลไม่ให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของพี่น้องประชาชนใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 7 เดือนที่แล้ว รวมถึงศาลฎีกาพิพากษาตัดสิทธินักการเมืองตลอดชีวิตเพียงเพราะข้อความที่ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเกือบ 10 ปีก่อน 

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกิดอาการกระวนกระวายหลังศาลปกครองสั่งให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และเมื่อ 5 เดือนที่แล้ว อดีตผู้ก่อการรัฐประหารเป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และถูกแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี และเมื่อ 4 เดือนที่แล้วศาลอุทธรณ์ปฏิเสธการประกันตัวของผู้ต้องขังคดี ม.112 

ขณะที่ เมื่อ 3 เดือนที่แล้วศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการเสนอแก้ไขกฎหมายโดย สส.ผ่านกลไกรัฐสภา ถูกตีความว่า เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง มาจนถึง 2 เดือนที่แล้ว เราได้เห็นรายละเอียดเกี่ยวกับการเลือก สว.ชุดใหม่ที่ถูกออกแบบให้ซับซ้อนที่สุดในโลก และสุดท้ายเมื่อ 1 เดือนที่แล้วคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำคำร้องยื่นขอยุบพรรคการเมืองที่พี่น้องประชาชนเลือกเข้ามาในสภาผู้แทนราษฎร

พริษฐ์ กล่าวว่า นี่เหรอคือระบบการเมืองที่อยากเห็น นี่คือสิ่งที่ควรจะคาดหวังภายใต้การบริหารของรัฐบาลที่นิยามตนเองว่า เป็นรัฐบาลประชาธิปไตย นี่หรือคือบทใหม่ของประชาธิปไตยไทยที่นายกฯ ประกาศอย่างภาคภูมิใจในเวทีสหประชาชาติ และปัญหาทั้งหมดนายกฯ และรัฐบาลไม่ได้เป็นคนก่อ แต่เป็นความรับผิดชอบที่ท่านเคยสัญญาไว้กับพวกเรา ปัญหาทั้งหมดล้วนมาจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่นายกฯ และรัฐบาลยืนยันมาตลอดว่า เป็นหนึ่งในวิกฤตที่ต้องเร่งแก้ไข

ดังนั้น จุดสำคัญในการวัดความจริงใจของรัฐบาลเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มี 2 ข้อ ได้แก่ 1.รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะจัดทำเสร็จเมื่อไร แม้ เศรษฐา เคยระบุว่า สิ่งแรกที่อยากทำเมื่อเป็นนายกฯ จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งภายในระยะเวลา 18 เดือน ตอนนี้ผ่านมาเกือบครึ่งทางชัดเจนแล้วว่า คำพูดดังกล่าวเป็นเพียงลมปากที่เชื่อถือไม่ได้

เศรษฐา กล่าวว่า ตั้งแต่นายกฯ ไปทำดีลปีศาจตั้งรัฐบาลที่เชื่อมโยงกับคณะรัฐประหาร เราเห็นว่าความกระตือรือร้น และความว่องไวในการแก้ปัญหารัฐธรรมนูญแทบจะหายไปหมด ในวันที่รัฐบาลเริ่มทำงานมีสองทางเลือกในการขยับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทางเลือก ก.เส้นทางประชามติ 2 ครั้ง เริ่มต้นจากการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร.เข้าสู่รัฐสภา ส่วนทางเลือก ข.คือการเดินตามเส้นทางประชามติ 3 ครั้ง เริ่มต้นจากการเพิ่มการทำประชามติอีกหนึ่งรอบ ก่อนเริ่มกระบวนการหรือเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ เข้าสู่การพิจารณา แต่ผ่านมา 6 เดือนแล้ว รัฐบาลยังตอบข้อสอบนี้ไม่ได้ ทำได้เพียงเดินหน้าเป็นวงกลมพายเรือในอ่างเหมือนตอนหนึ่งในตลกหกฉากที่ไม่ได้ขยับประเทศไทยให้ใกล้กับรัฐธรรมนูญ

พริษฐ์ กล่าวว่า ฉากแรกคือ รัฐบาลกลับคำสัญญาการทำประชามติ พรรคเพื่อไทยเคยให้สัญญาว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก บอกว่า รัฐบาลจะออกมติ ครม. ให้ทำประชามติจัดตั้ง สสร.ผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่เมื่อประชุม ครม.นัดแรก รัฐบาลกลับลำกันตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแทน ไม่ได้มองการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเร่งด่วนเหมือนที่โฆษณาไว้

ฉากที่สอง รวมญาติสนิทมิตรสหายผ่านกลไกการตั้งคณะกรรมการศึกษาที่มีแต่คนกันเอง ตั้งขึ้นเพื่อศึกษา และฟังความเห็นที่หลากหลาย เพราะมีข้อมูลที่ต้องศึกษาเพิ่ม เหตุใดรัฐบาลจึงไม่ศึกษาเรื่องนี้ในช่วงสองปีที่ผ่านมา เหตุใดไม่ตั้งคณะกรรมมาธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎร เพราะจะมีสัดส่วนของแต่ละพรรค สะท้อนถึงความหลากหลาย เพราะถ้าดูองค์ประกอบของคณะกรรมการศึกษา มีตัวแทนพรรคเพื่อไทย 10 คน ซึ่งเท่ากับตัวแทนของพรรคการเมืองอื่นรวมกันทั้งหมด

ฉากที่สาม ตลกร้าย รับฟังความเห็นแบบผิดที่ ผิดเวลา รัฐบาลเดินสายทั่วประเทศเพื่อรับฟังความเห็นประชาชน นอกจากนี้ภาคประชาชน Conforall ได้ร่วมกันลงชื่อ 200,000 คน เสนอคำถามประชามติไปยัง ครม. แต่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ข้อเสนอจนถึงตอนนี้ยังไม่มีการตอบกลับ ทั้งที่ผ่านมา 200 วันแล้ว

ฉากที่สี่ เป็นฉากสยองขวัญ เสนอคำถามประชามติแบบยัดไส้เงื่อนไข การแถลงข้อสรุปเดียวให้ ครม.เดินหน้าตามเส้นทางประชามติ 3 ครั้ง โดยทำประชามติครั้งแรก มีหนึ่งคำถาม “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวดหนึ่ง หมวดสอง” ซึ่งเป็นคำถามที่หลายฝ่ายเตือนว่ามีปัญหา 

ฉากที่ห้า แก้เกมแก้เก้อ สส.พรรคเพื่อไทยตัดสินใจ ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ สสร.เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เหมือนเป็นการย้อนศรกลับมาสู่การทำประชามติสองครั้ง เหตุใดต้องรอหลายเดือนก่อนจะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แทนที่จะยื่นตั้งแต่วันที่สภาเปิดทำการ หรือวันที่ตั้งรัฐบาลสำเร็จ

ฉากที่หก เป็นฉากจบที่ยังไม่มีข้อสรุป เมื่อรัฐบาลหันมาสู่เส้นทางประชามติ แต่กลับเจอตอในรูปแบบของประธานรัฐสภา ที่ไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่ระเบียบวาระของรัฐสภา ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นกรรมการผู้ชี้ขาด โดยไม่มีหลักประกันว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเมื่อไร อย่างไร

พริษฐ์ กล่าวอีกว่า แม้รัฐบาลเคยให้คำมั่นสัญญาว่า จะหาข้อสรุปเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญภายในไตรมาสแรกของปี 2567 แต่ขณะนี้เลยเส้นตายมา 4-5 วันชัดเจนแล้วว่าผ่านมา 6-7 เดือน เรื่องรัฐธรรมนูญยังอยู่ที่เดิมเช่นเดียวกับเมื่อครั้งตั้งรัฐบาล สิ่งเดียวที่ไม่เหมือนเดิมคือ ผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจไม่ใช่นายกฯ และคณะรัฐมนตรี แต่อาจเป็นคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ซึ่งหากศาลวินิจฉัยอย่างที่ควรจะเป็นประชามติสองครั้งเพียงพอแล้ว คงจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่เกี่ยวข้องทัน 4 ปี แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าจะต้องทำประชามติสามครั้ง มีความเสี่ยงที่เราจะไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า

พริษฐ์ กล่าวต่อว่า จุดวัดความจริงใจข้อที่ 2 แม้จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ประชาชนมองว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรถูกขีดเขียนร่วมกัน หากรัฐธรรมนูญคลอดออกมาภายใต้รัฐบาลเศรษฐา รัฐบาลเศรษฐาที่ตั้งได้ ดำรงอยู่ได้ด้วยใบบุญของเครือข่ายเดิมจะไม่มีทางไว้ใจให้ประชาชนมาร่วมออกแบบระบบการเมือง และจัดทำกติกาสูงสุดของประเทศตามที่พวกเขาใฝ่ฝัน

นอกจากนี้ พริษฐ์ ยังมองว่า รัฐบาลอาจนำไพ่ไม้ตาย 3 ใบมาลดทอนอำนาจประชาชนในการกำหนดเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไพ่ใบแรกคือ สสร. สูตรผสม ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 77 คนมาจากการเลือกตั้งและอีก 23 คนถูกแต่งตั้ง และไพ่ใบที่ 2 กินรวบคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่าง โดยองค์ประกอบของ กมธ.ยกร่าง ฉบับพรรคเพื่อไทย 2567 สส.ที่มาจากการเลือกตั้งลดลงเหลือ 51% และ กมธ.ยกร่างที่ไม่เป็น สสร. มาจากการแต่งตั้งเป็น สส. สว. และมีการแจกโควตาให้กับคณะรัฐมนตรี และ สส.ฝ่ายรัฐบาล 

รวมถึงไพ่สุดท้าย ด่านทางผ่าน สว. เมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว สสร. จะต้องส่งรัฐธรรมนูญมาที่รัฐสภา เพื่อกลั่นกรอง แก้ไขก่อนส่งไปทำประชามติ ซึ่งเป็นหนึ่งกลไกที่เปิดช่องให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสามารถเข้ามาแทรกแซงได้

“รัฐบาลกล่าวหาว่าพรรคก้าวไกลเป็นพวกที่เอาความคิดของตนเองเป็นใหญ่ ผมเป็นใหญ่เพียงเพราะเชื่อในอำนาจของประชาชน หากคำทำนายของผมเป็นจริงคิดว่ารัฐบาลต่างหากที่เอาความคิดของตนเองเป็นใหญ่ กว่าความคิดของประชาชน และท้ายที่สุดหากไม่ปล่อยให้ประชาชนออกแบบเนื้อหารัฐธรรมนูญ แต่ไปคิดนวัตกรรมที่เข้ามาควบคุมเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แบบนี้เรียกว่าประชาธิปไตยที่ต้องขอใบอนุญาต ต้องจ่ายด้วยราคาที่แพงเทียบเท่ากับอนาคตของประเทศ” พริษฐ์ กล่าว 

ทั้งนี้ พริษฐ์ ยังเสนอมาตรการแก้ไข 4 ข้อ ได้แก่ 

1.ขอให้รัฐบาลปฏิเสธคำถามยัดไส้ และหันไปใช้คำถามลักษณะเปิดกว้างกว้าง เพื่อเพิ่มโอกาสที่ประชามติครั้งแรกจะผ่าน 

2.ขอให้รัฐบาล ยืนยันว่าจะสนับสนุน ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่เปิดช่องให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้ามาขี่คอ 

3.ขอให้รัฐบาลยืนยันว่าระหว่างการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

4.ขอให้รัฐบาลสนับสนุนเร่งพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ตอนนี้มีสองร่างที่เข้าคิวอยู่ในระเบียบวาระการประชุม 

จากนั้น วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอชี้แจงเรื่องการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เคยเสนอในสมัยประชุมที่แล้ว ซึ่งก็ไม่ได้บรรจุในระเบียบวาระเช่นเดียวกัน สืบเนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ซึ่งมีผลผูกพันกับรัฐสภา คณะรัฐมนตรี องค์กรอิสระ และหน่วยงานอื่นๆ ยืนยันว่า ตนเองไม่ได้วินิจฉัยเอง แต่ต้องวินิจฉัยควบคู่ไปกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมยืนยันอีกครั้งว่า สภาผู้แทนราษฎรพร้อมสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญตลอดไป ไม่ใช่จะไม่บรรจุระเบียบวาระ แต่อะไรที่เกี่ยวข้องและผูกพันกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่อยากเสียเวลา