สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จ่ายเงินชดเชยคืนให้กับบริษัท วอยซ์ทีวี จำกัด จากการคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลช่อง 21 เป็นวงเงิน 378 ล้านบาท ตามที่ประชุมคณะอนุกรรมการเยียวยาและชดเชยเงินให้กับทีวีดิจิทัล กรณีคืนใบอนุญาต เห็นชอบแผนการยุติการออกอากาศ ตั้งแต่วันนี้ที่ 1 ก.ย. 2562 เป็นต้นไป ซึ่งก่อนหน้านี้ กสทช.ได้จ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 3 ช่องไปแล้วตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค. ที่ได้ยื่นขอคืนใบอนุญาตล็อตแรก และได้ยุติออกอากาศหลังเที่ยงคืนวันที่ 15 ส.ค. 2562 ได้แก่ ช่องสปริงนิวส์ หมายเลข 19 ช่องไบรท์ทีวี หมายเลข 20 และช่องสปริงส์ หมายเลข 26 หรือ Now 26 เดิม
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า ต้องการมอบเงินชดเชยให้แต่ละช่องเร็วที่สุด เพื่อนำเงินไปเยียวยาพนักงานของแต่ละแห่งที่ถูกเลิกจ้าง ตามกฎหมายแรงงานและตาม MOU ที่จะต้องจ่ายเพิ่มอีกอย่างน้อย 1 เดือนด้วย สำหรับทีวีดิจิทัลช่อง 14 ของบริษัท อสมท จำกัด มหาชน ที่คืนใบอนุญาตมานั้น กสทช.นัดจ่ายเงินชดเชยในวันที่ 16 ก.ย. ส่วนช่อง 13 และช่อง 28 ของบริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นช่องทีวีในเครือช่อง 3 นัดจ่ายเงินวันที่ 1 ต.ค.นี้
นายฐากร เปิดเผยว่า การจัดเรียงช่องใหม่จะให้หลักการตัดช่องที่ยุติออกอากาศออกไป โดยขยับช่องที่ยังเหลืออยู่เข้ามาโดยไม่เปลี่ยนตัวเลขช่อง ซึ่งก็คือการคงหมายเลขเดิมไว้แต่จัดลำดับใหม่ เพื่อให้ไม่มีช่องว่างและกดเลือกดูง่าย รวมถึงไม่กระทบผู้ประกอบการที่ผู้ชมจดจำเลขช่องต่างๆ ได้แล้ว โดยจะนำเข้าที่ประชุม กสทช.และรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป
ด้าน นายเฉลิม แผลงศร ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายบัญชีการเงิน วอยซ์ทีวี ระบุว่า ทางบริษัทได้ปรับโครงสร้างการทำงานให้สอดคล้องกับการนำเสนอที่หลากหลายขึ้น โดย เน้นการพัฒนาข้อมูลข่าวสารผ่านทีวีดาวเทียมและสื่อออนไลน์ โดยได้จ่ายค่าชดเชยให้พนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงตามกฎหมายแรงงานและเงินเยียวยาเพิ่มเติมตามที่ กสทช.ร้องขอแล้ว พร้อมยืนยันการเป็นสื่อสารมวลชนโดยเฉพาะการนำเสนอข่าวสารความจริงที่รอบด้าน กระตุ้นและเสริมสร้างความคิดของคนในสังคม ที่เนื้อหายังมีความเข้มข้นเช่นเดิม โอกาสนี้ได้ขอบคุณผู้ชมและผู้ติดตาม Voice TV และขอให้ติดตามและสนับสนุน Voice TV ในแพลตฟอร์มใหม่ที่หลากหลายขึ้นต่อไป
สำหรับการคำนวณของ กสทช.ในการจ่ายเงินชดเชยให้วอยซ์ ทีวีนั้น คำนวณจากค่าประมูล 4 งวด วงเงิน 886 ล้านบาท โดย กสทช.คำนวณค่าใช้คลื่นตลอด 5 ปีที่ผ่านมาราว 319.14 ล้านบาท และระยะเวลาที่เหลืออีก 9 ปี เมื่อวอยซ์ ทีวี คืนใบอนุญาต เป็นช่วงที่ไม่มีการใช้คลื่นความถี่ คิดเป็นเงินราว 569.86 ล้านบาท โดยเงินที่เหลือดังกล่าว นำมาหักค่าใช้จ่ายเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัลจนถึงวันที่ 31 ส.ค. ที่ผ่านมา คิดเป็นเงิน 27 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายตามประกาศว่าด้วยการเผยแพร่การออกอากาศเป็นการทั่วไป หรือ มัสต์แครี จนถึงวันที่ 31 ส.ค. คิดเป็นเงิน 34.26 ล้านบาท และเมื่อวอยซ์ ทีวี ยังไม่จ่ายเงินค่าประมูลงวดที่ 4 วงเงิน 130 ล้านบาท กสทช.ก็ต้องนำมาหักออกด้วย ทำให้เหลือวงเงินที่จ่ายเงินคืนราว 378 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: