ไม่พบผลการค้นหา
ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติระบุว่า กองทัพเมียนมานำเข้าอาวุธมูลค่าอย่างน้อย 1 พันล้านเหรีญสหรัฐฯ (ประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท) นับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจในเดือน ก.พ. 2564 แม้จะมี “หลักฐานมากมายที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่โหดร้าย” จากการปราบปราบประชาชนโดยเผด็จการ

ทอม แอนดรูว์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา กล่าวในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันพุธ (17 พ.ค.) ที่นิวยอร์กว่า อาวุธส่วนใหญ่ที่ถูกนำเข้าไปยังเมียนมา ได้มาจากรัสเซีย จีน และบริษัทต่างๆ ในสิงคโปร์ โดยการส่งออกครอบคลุมถึงอาวุธ เทคโนโลยีแบบสองทางในกิจการพลเรือนและทางทหาร และวัสดุที่ใช้ผลิตอาวุธ นับตั้งแต่วันรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 2564 ถึง ธ.ค. 2565

“อาวุธและวัสดุการผลิตอาวุธเหล่านี้ในจำนวนมาก ยังคงถูกส่งไปยังกองทัพเมียนมาอย่างไม่ขาดสาย แม้จะมีหลักฐานมากมายที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่ออาชญากรรมอันโหดร้าย” รายงานระบุ ทั้งนี้ มีการชี้ถึงข้อมูลการซื้อที่ไม่ซ้ำกันมากกว่า 12,500 รายการ หรือบันทึกการจัดส่งโดยตรงไปยังกองทัพเมียนมา หรือผู้ค้าอาวุธเมียนมา ที่ประกอบกิจการในนามของกองทัพเมียนมา

“ความหลากหลายและปริมาณของสินค้าที่มอบให้กับกองทัพเมียนมา นับตั้งแต่การรัฐประหารนั้นน่าตกใจมาก” รายงานระบุเสริม โดยชี้ว่ากองทัพได้รับมอบอาวุธและอุปกรณ์ ตั้งแต่เครื่องบินรบไปจนถึงโดรน อุปกรณ์สื่อสาร และส่วนประกอบสำหรับเรือของกองทัพเรือ

เมียนมาตกอยู่ในวิกฤตจากการรัฐประหาร ซึ่งก่อให้เกิดการประท้วงจำนวนมาก นอกจากนี้ การปราบปรามที่ร้ายแรง ได้จุดชนวนให้เกิดการต่อต้านด้วยอาวุธ โดยกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ต่อสู้กับกองทัพเมียนมามาเป็นเวลานาน ซึ่งพวกเขาได้รวมตัวกันภายใต้กองกำลังป้องกันประชาชน (PDF) เพื่อต่อสู้กับเผด็จการเมียนมา โดยกองกำลัง PDF เป็นพันธมิตรกับรัฐบาลแห่งชาติ (NUG) หรือรัฐบาลพลเรือนที่ถูกกองทัพโค่นลงจากอำนาจ

สหประชาชาติและกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหากองทัพว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ในความพยายามที่จะปราบปรามฝ่ายต่อต้าน โดยบางเหตุการณ์ที่กระทำโดยกองทัพเมียนมา อาจเข้าข่ายการก่ออาชญากรรมสงครามและก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

ตามรายงานแล้วนั้น หน่วยงานของรัสเซียเป็นแหล่งซื้ออาวุธและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องมูลค่า 406 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.39 หมื่นล้านบาท) หน่วยงานของจีน 254 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 8.69 พันล้านบาท) และหน่วยงานที่ดำเนินการในสิงคโปร์ 254 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 8.69 พันล้านบาท) อีกทั้งยังมีอาวุธยุทโธปกรณ์ถูกส่งมาจากหน่วยงานในอินเดีย 51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.7 พันล้านบาท) และไทยอีก 28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 958 ล้านบาท) ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐในรัสเซีย จีน และอินเดีย อยู่ในกลุ่มที่แอนดรูว์ระบุว่าเป็นผู้ส่งออกอาวุธมายังเมียนมาด้วย

“การค้าอาวุธที่ได้รับการเปิดเผยมูลค่ากว่า 947 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท) ถูกส่งตรงไปยังหน่วยงานที่ควบคุมโดยกองทัพเมียนมา เช่น กองอำนวยการจัดซื้อจัดจ้าง กองอำนวยการอุตสาหกรรมกลาโหม หรือสาขาเฉพาะของกองทัพ เช่น กองทัพอากาศเมียนมา หรือโรงเรียนฝึกขั้นพื้นฐานของกองทัพเมียนมา” รายงานระบุ “นั่นหมายความว่ากองทัพเมียนมาเอง ถูกชี้ว่าเป็นผู้รับในเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการค้า ซึ่งขจัดข้อสงสัยว่าใครคือผู้รับปลายทาง” นอกจากนี้ แอนดรูว์เปิดเผยว่า เขาได้นำข้อมูลที่ถูกพบในครั้งนี้เปิดเผยกับรัฐบาลที่เกี่ยวข้องด้วย

ในการออกมาโต้กลับรายงานดังกล่าว รัสเซียและจีนกล่าวหาผู้รายงานกล่าวทำเกินกว่าเหตุ และ “ดูหมิ่นการค้าอาวุธที่ถูกต้องตามกฎหมาย” ในขณะเดียวกัน อินเดียกล่าวว่าสัญญาซื้อขายอาวุธที่เกี่ยวข้องกับบริษัทของรัฐได้รับการลงนามโดยรัฐบาลชุดที่แล้ว 

แอนดรูว์ตั้งข้อสังเกตว่าเขาไม่พบข้อมูลที่บ่งชี้ว่า หน่วยงานที่รัฐบาลสิงคโปร์หรือไทยเป็นเจ้าของหรือควบคุมโดยรัฐบาลเอง ได้อนุมัติหรือโอนอาวุธให้กองทัพเมียนมา และดูเหมือนว่าพ่อค้าอาวุธกำลังใช้ดินแดนของทั้งสองในการขนส่งอาวุธไปยังเมียนมา “โดยเฉพาะภาคการธนาคารและการขนส่ง” ทั้งนี้ รัฐบาลสิงโปร์ตอบรับกับรายงานว่า พวกเขาจะทำการทบทวนการมีประสิทธิภาพมาตรการควบคุมการส่งออกอาวุธ ทั้งนี้ ในรายงานไม่มีการระบุถึงการตอบรับต่อรายงานจากทางการไทย


ที่มา:

https://www.aljazeera.com/news/2023/5/18/myanmar-military-has-imported-weaponry-worth-1bn-since-coup?fbclid=IwAR0Elekr_-FGDDxCkBGlgh8b0oDWa30LzkLSkWNcDnB5gQ8_djOQo4Dt7o8