ไม่พบผลการค้นหา
หลัง ‘วิษณุ เครืองาม’ รองนายกฯ ออกมาชี้แจงโรดแมป คสช. ไล่ไทม์ไลน์เลือกตั้ง ธ.ค.61-พ.ค.62 ตั้งแต่การปลดล็อกพรรคการเมือง การออก พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดวันเลือกตั้ง ไปจนถึงการมีรัฐบาลใหม่ และ คสช.พ้นอำนาจเมื่อใด โดยกรอบวันเลือกตั้งจะอยู่ในช่วง 24 ก.พ. - 5 พ.ค. 2562

คสช. ปักธงไว้ 24 ก.พ. 2562 หลัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม เสียงแข็งมาตลอด ยืนยันมีเลือกตั้งแน่

ล่าสุด จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ระบุว่า คสช. อาจร่วมมือกับ กกต. ให้เลื่อนเลือกตั้งไป โดยยกประเด็นความกังวลว่าจะรับรองพรรคการเมืองไม่ทัน จึงมองกันไปถึงว่า คสช. จะมี ‘ตุกติก’ อะไรอีกหรือไม่ หลังเคยเลื่อนเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง

แต่ครั้งนี้ใช้ กกต. เป็นเครื่องมือ ทำให้ พล.อ.ประวิตร ฉุนไม่น้อยกับคำถามนี้

“พูดอย่างนั้นได้อย่างไร จะตุกติกได้อย่างไร คสช. วางโรดแมปมานานแล้ว พูดแบบนี้มาชกกันดีกว่า” พล.อ.ประวิตร กล่าว

“เฮ้ย คิดไปเอง พูดเอง ถามเอง ก็ตอบเองแล้วกัน ฉันยังไม่รู้เรื่อง จะไปพูดคุยกับใคร ไปคุยกับ กกต. ตรงไหน” พล.อ.ประวิตร โต้ นายจตุพร


ประวิตร

อีกสิ่งที่มีการประเมินสถานการณ์ ‘ข้ามช็อต’ ไปอีกคือช่วงหลังการเลือกตั้ง ที่ขั้วต้าน คสช. มองว่า กกต. อาจแจกใบแดง-ใบเหลือง จนทำให้เปิดสภาฯไม่ได้ หรือ เลือกนายกฯไม่ได้ และนำไปสู่ความขัดแย้งอีกครั้ง

เรื่องนี้ พล.อ.ประวิตร ก็ไม่ได้ตอบสื่อชัดเจน และเลี่ยงที่จะตอบคำถามถึงสถานการณ์ข้างหน้า โดยโต้สื่อคิดเองและพูดไปเอง เหตุการณ์เกิดขึ้นหรือยัง

สถานการณ์ทางการเมือง ‘หลังเลือกตั้ง’ จึงต้องจับตาว่าจะเกิดอะไรขึ้น ?

มีแม้กระทั่ง หากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถเป็นนายกฯได้ ก็มีกระแสมานานแล้วว่าจะใช้ ‘ช่องทางพิเศษ’ ในการแก้ปัญหา

หรือหากเกิดกรณีไม่สามารถเลือกนายกฯได้ เพราะไม่มีพรรคใดชนะขาด และไม่สามารถ ‘ฟอร์มทีมรัฐบาล’ ได้ในอนาคต ก็อาจจะต้องมีการจัดเลือกตั้งขึ้นใหม่

โดยมีการตั้ง ‘รัฐบาลเฉพาะกาล’ ขึ้นมา เพื่อจัดการเลือกตั้ง โดยมี ‘นายกฯเฉพาะกิจ’ มาทำหน้าที่ ในระยะเวลา 1 ปี โดยเชื่อกันว่าจะเป็นชื่อที่ได้รับ ‘การยอมรับ’ จากทุกฝ่าย

แต่ในเวลานี้สถานการณ์ในพรรคเพื่อไทย ก็มีความร้อนแรงไม่น้อย เพราะมีการตั้งพรรคไทยรักษาชาติขึ้นมา ที่นำโดย ‘ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช’ อดีต ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย เป็นหัวหน้าพรรค ‘ฤภพ ชินวัตร’ บุตรชาย ‘พายัพ ชินวัตร’ น้องชาย ‘ทักษิณ’ มาเป็นรองหัวหน้าพรรค ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของ ‘ทักษิณ – ยิ่งลักษณ์’ รวมทั้ง ‘มิตติ ติยะไพรัช’ บุตร ชาย ‘ยงยุทธ ติยะไพรัช’อดีตประธานรัฐสภา ที่ไปเป็นแกนนำพรรคเพื่อชาติในเวลานี้ด้วย รวมทั้งมีทีมงานของ ‘ยิ่งลักษณ์’ ไปร่วมพรรค


ทักษิณ.jpg

ขณะเดียวกันมีรายงานข่าวตามสื่อบางสำนักว่า ‘ทักษิณ – ยิ่งลักษณ์’ บินมาที่สิงคโปร์ เพื่อให้แกนนำพรรคเพื่อไทยและพรรคไทยรักษาชาติ เข้าพบเพื่อ ‘สร้างปึกแผ่น’ ในการทำงานสู้ศึกเลือกตั้ง

ตามยุทธศาสตร์ที่ ‘สุเทพ เทือกสุบรรณ’ แกนนำพรรครวมพลังประชาชาติไทย ระบุว่าเป็นการ ‘แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย’ ซึ่งก็เป็นไปตามระบบรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เกี่ยวกับระบบการนับคะแนน ส.ส.แบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ ที่นับร่วมกัน โดยบัตรเลือกตั้งใบเดียว นั่นเอง

ดังนั้นแต่ละพรรคและแต่ละขั้ว จึงต้องใช้ยุทธศาสตร์นี้ทั้งหมด อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อให้ได้เก้าอี้จาก ‘บัญชีรายชื่อ’ มากที่สุดด้วย แม้แต่ฝั่งเครือข่าย ‘สุเทพ – หนุน คสช.’ ก็ต้องทำ

ซึ่งกระแสข่าว ‘ทักษิณ – ยิ่งลักษณ์’ เดินทางไปสิงคโปร์สัปดาห์นี้ เป็นช่วงรอยต่อที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ อยู่ที่สิงคโปร์พอดี เพื่อประชุม ASEAN Summit จนทำให้มีการลือกันว่าไปเจอกันหรือไม่ ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ได้ออกมาสยบข่าวนี้แล้ว

“คงไม่ได้เจอกัน คนหนึ่งไปเที่ยว คนหนึ่งไปประชุม จะเจอกันได้ยังไง” พล.อ.ประวิตร กล่าว


ประชุมพรรคเพื่อไทย-ไพรมารีโหวต

ที่สำคัญมีการมองถึงโพลที่แต่ละฝ่ายจัดทำกัน แต่ในครั้งนี้มีรายงานออกมาว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐต่าง ‘สูสี’ กัน หลังมีอดีต ส.ส.ภาคอีสาน หลายคนร่วมทัพพรรคพลังประชารัฐ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์เองก็มีกระแสข่าวว่าเสียเก้าอี้ไปหลายตัวในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ยังคงเชื่อว่า “คนยังนิยมลุงตู่”

ส่วนก่อนหน้านี้ที่มีรายงานว่า ‘ทักษิณ’ ได้ให้บริษัทต่างชาติทำโพลคะแนนนิยม ซึ่งผลออกมาว่า ‘เครือข่ายเพื่อไทย’ ได้ 58 % หรือคิดเป็น 290 ที่นั่งนั้น เป็นตัวเลขที่ไม่ไปด้วยกันกับ ‘ฝ่ายความมั่นคง’ ที่เคยเปิดเผยว่า แม้ฝั่ง ‘ทักษิณ’ จะชนะ แต่จะชนะไม่ขาด ด้วยบริบทการเลือกตั้งครั้งนี้ที่เปลี่ยนไป

“ก็เชื่อไปสิ” พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงโพล ‘ทักษิณ’

ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการย้ายค่ายสายฟ้าแลบของ ‘ทายาทเฮียตือ’สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ลูกชายทั้ง 2 คน ‘ภราดร-กรวีร์’ หนี ‘หนูนา’กัญจนา ศิลปะอาชา แม่ทัพพรรคชาติไทยพัฒนา ไปหา ‘เสี่ยหนู’อนุทิน ชาญวีรกูล แม่ทัพพรรคภูมิใจไทย เรียบร้อยแล้ว จึงมีการพูดกันว่า ‘หนีหนูไปหาหนู’

ในห้วงเวลานี้จึงเป็นช่วง ‘ย้ายขั้ว-สลับค่าย’ เป็นช่วงฤดู ‘กบเลือกนาย’ สถานการณ์การจับขั้วจะยังร้อนแรงไปจนกว่าจะมีการ ‘ปลดล็อกพรรคการเมือง’ เข้าฤดูหาเสียง 100 %

แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาของ ‘นักการเมือง’ ที่ต้องเลือกทัพจากอุดมการณ์และแนวนโยบายที่ไปด้วยกันได้ ซึ่งขั้วทางการเมืองในเวลานี้ที่ชัดเจน ก็แบ่งเป็น 3 พวก ได้แก่ หนุน คสช. ไม่หนุน คสช. และ พวกที่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งกลุ่มนี้จะมีอัตราแกว่งสูงที่จะเอนเอียงไปร่วมกับข้างใดข้างหนึ่งได้ตลอด ที่สำคัญเป็นพรรคระดับกลางๆที่มีผลในการ ‘ต่อรองทางการเมือง’ ในอนาคตสูงด้วย

เดิมพันสูง ‘เลือกตั้ง’ ครั้งนี้ ‘ห้ามแพ้’ ลูกเดียว !!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog