ไม่พบผลการค้นหา
'ก้าวไกล’ ขอสภาเห็นชอบญัตติตั้ง กมธ. ศึกษาแนวทางลงรหัส G ให้เด็กไร้สถานะ ยืนยันเกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ไม่ใช่แค่ศึกษาธิการ เผยใกล้วาระพิจารณากฎหมายสภาชนเผ่าพื้นเมือง วอนสภาสนับสนุน-เลิกใช้วิธีอุ้มไปศึกษา

วันที่ 11 ตุลาคม 2566 ณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการลงรหัส G ร่วมแถลงข่าวยื่นหนังสือต่อ ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 1 

โดยณัฐวุฒิ กล่าวถึงความสำคัญของวันที่ 11 ตุลาคมของทุกปี ที่สหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันเด็กหญิงสากล ที่ผ่านมาพี่น้องประชาชนทราบข่าวความรุนแรงต่อเด็กและสตรีมาตลอด รวมถึงข่าวปัญหาการลงรหัส G ให้กับนักเรียนที่ไม่มีสถานะและเข้าไม่ถึงการศึกษาในประเทศไทย ซึ่งมีเด็กไร้สัญชาติจำนวนมากได้รับผลกระทบ จึงมีการประสานงานมาทางพรรคก้าวไกล ว่าต้องการใช้พื้นที่ของสภาฯ แก้ไขปัญหานี้ ตนจึงใช้โอกาสนี้รับเรื่องร้องเรียนและพร้อมส่งเรื่องต่อไปยังรองประธานสภาฯ คนที่ 1

ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า สัปดาห์นี้และสัปดาห์ต่อไปจะมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเด็กผู้หญิงและพี่น้องชาติพันธุ์รวมถึงบุคคลไร้สถานะในประเทศไทยในวาระงานสภาฯ ตนอยากให้พี่น้องประชาชนติดตามอยู่ 2 ประการ ประการแรก ญัตติขอให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการลงรหัส G และสถานะบุคคลให้กับนักเรียนที่ไร้สถานะ ได้ถูกบรรจุในสภาฯ และคาดการณ์ว่าจะมีการพิจารณาในวันพรุ่งนี้ แต่มีข่าวออกมาว่าวิปรัฐบาลได้ส่งสัญญาณไม่เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว ให้เหตุผลว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องตั้ง กมธ. ที่มีหลายฝ่ายเข้ามาร่วม

ซึ่งพรรคก้าวไกล รวมถึง ปารมี สส.เจ้าของญัตติมองว่า การลงรหัส G ให้กับนักเรียนที่ไร้สถานะไม่ได้เกี่ยวข้องแค่กระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน รวมถึงหน่วยงานอีกจำนวนมาก ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสิทธิของเด็กในระยะยาว ดังนั้น ยืนยันรัฐสภาต้องให้พื้นที่กับเรื่องดังกล่าว

ณัฐวุฒิกล่าวว่า ประการที่สอง คือ ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมือง ที่เสนอโดยภาคประชาชน คาดว่าจะมีการพิจารณาในสัปดาห์หน้า ซึ่งแม้ร่างดังกล่าว ไม่อาจประกบเข้ากับร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และคุ้มครองสิทธิพี่น้องชาติพันธุ์ที่มีการเสนอโดยหลายหน่วยงาน แต่ตนขอส่งเสียงให้ร่างสภาชนเผ่าพื้นเมืองของภาคประชาชน เป็นอีกร่างที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการคุ้มครองชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย จึงขอให้ทุกฝ่ายให้การสนับสนุนและรับหลักการ และขออย่าใช้วิธีการ ‘อุ้ม’ ไปศึกษา เพราะอุ้มไปแล้วก็เคยมีบทเรียนที่ไม่ใช่การไปศึกษาอย่างจริงจัง และเมื่อกลับมาแล้วก็ใช้เสียงข้างมากของสภาฯ ในการปัดตกร่างดังกล่าว ที่ส่วนใหญ่มาจาก สส.ฝ่ายค้านหรือจากภาคประชาชน จึงไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก