ไม่พบผลการค้นหา
ธนาคารโลกเปิดรายงาน 'ความยาก-ง่ายต่อการประกอบธุรกิจ' หรือ Doing Business 2019 ประเทศไทยได้ 78.45 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน แต่อันดับร่วงลงมาอยู่ที่อันดับที่ 27 จากปีก่อนอยู่ที่อันดับ 26 ส่วนท็อปทรียังเป็นของนิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และเดนมาร์ก ติดต่อกัน 3 ปีซ้อน

ธนาคารโลกแถลงรายงาน ความยาก–ง่ายในการประกอบธุรกิจ Doing Business 2019: Training for Reform โดยนิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และ เดนมาร์ก รั้ง 3 อันดับแรก 3 ปีซ้อน ขณะที่ ฮ่องกง และ เกาหลีใต้ ตามมาในอันดับที่ 4 และ 5 ส่วนสหรัฐฯ อยู่อันดับที่ 8 โดยมีนอร์เวย์ และจอร์เจีย แซงหน้า

นางสาวมารา วาร์วิค ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย บรูไน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ชี้ว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการก้าวสู่แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดของโลกด้วยคะแนน 78.45 เพิ่มจากปีที่แล้ว ที่ได้คะแนน 77.39 

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังคงจัดอยู่กลุ่ม 30 ประเทศแรก จาก 190 ประเทศทั่วโลกที่มีการจัดอันดับในรายงาน Doing Business โดยในปีนี้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 27 จากปีก่อนอยู่ที่อันดับที่ 26


"ประเทศไทยยังคงแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงบรรยากาศในการประกอบธุรกิจให้กับผู้ประกอบการเอกชน ซึ่งจะช่วยให้คนไทยได้มีงานที่ดีขึ้นและนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม" นางสาวมารา กล่าว


โดยประเทศไทยได้ปฏิรูปกฎระเบียบข้อบังคับ 4 เรื่อง ที่มีผลต่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ประกอบด้วย

  • ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนลดลง เนื่องจากการนำอัตราค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนธุรกิจแบบอัตราคงที่มาใช้
  • ด้านการขอใช้ไฟฟ้า มีความสะดวกมากขึ้น เนื่องจากมีการปรับลดขั้นตอนการดำเนินการขอเชื่อมไฟฟ้า และการเพิ่มความโปร่งใสในการเปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียมไฟฟ้า
  • ด้านการชำระภาษี มีการปรับปรุงระบบการคำนวณ และ ยื่นแบบภาษีรายได้นิติบุคคลทางระบบออนไลน์
  • ด้านการค้าระหว่างประเทศ มีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Matching System) มาใช้ในการควบคุมตู้สินค้า ซึ่งส่งผลในการลดระยะเวลาในการขนถ่ายสินค้าข้ามแดน

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าวว่า คะแนนของประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจที่สำคัญใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ ด้านการขอใช้ไฟฟ้า ด้านการชำระภาษี และด้านการค้าระหว่างประเทศ 

ในครั้งนี้ ธนาคารโลกได้เปลี่ยนหลักเกณฑ์การจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจใหม่จากเดิมที่ใช้ระยะห่างจากเป้าหมายที่กำหนด (Distance to Fontier:DTF) มาเป็นการวัดแบบ EODB เพื่อให้การคำนวณสะท้อนความเป็นจริงมากที่สุด

โดยวิธีนี้ประเทศที่ดีที่สุดในแต่ละตัวชี้วัด จะได้คะแนนเต็ม 100 ประเทศ ที่ทำได้ไม่ดีที่สุดในตัวชี้วัดนั้นได้คะแนน 0 คะแนน ส่วนประเทศอื่นจะได้คะแนนตามผลงานที่ทำได้เมื่อเทียบกับเกณฑ์กลางดังกล่าว 

สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิงคโปร์ครองอันดับ 2 จากการสำรวจประเทศทั่วโลก ไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อน, มาเลเซียอยู่ที่อันดับ 15 เพิ่มขึ้น 9 อันดับ, ไทยอันดับ 27 ลดลง 1 อันดับ, บูรไนอันดับ 55 เพิ่มขึ้น 1 อันดับ, เวียดนามอันดับ 69 ลดลง 1 อันดับ, อินโดนีเซียอันดับ 73 ลดลง 1 อันดับ, ฟิลิปปินส์อันดับ 124 ลดลง 11 อันดับ, กัมพูชาอันดับ 138 ลดลง 3 อันดับ, สปป.ลาวอันดับ 154 ลดลง 13 อันดับ และเมียนมาอันดับ 171 ไม่เปลี่ยนแปลง

ด้าน สำนักข่าวบลูมเบิร์ก วิเคราะห์ภาพรวมความยากง่ายในการทำธุรกิจในภูมิภาคอื่นๆ ดังนี้

เอเชีย

จีนและอินเดียค่อนข้างโดดเด่นในปีนี้ เนื่องจากนายนเรนทรา โมดิ นายกรัฐมนตรีอินเดียให้คำมั่นว่าจะปฏิรูปให้กระบวนการจัดตั้งธุรกิจในประเทศอินเดียง่ายขึ้นและตั้งเป้าที่จะขึ้นไปอยู่ใน 50 อันดับแรกของประเทศที่น่าทำธุรกิจที่สุดในโลก โดยอินเดียกระโดดขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 77 ในปีนี้ หลังจากที่อยู่ในอันดับที่ 100 เมื่อปีที่แล้ว (2560) หลังจากมีการอำนวยสะดวกทางการค้าด้วยการลดเวลาในการขนส่งข้ามพรมแดน ส่วนจีนขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 46 นับเป็นครั้งแรกที่จีนเข้ามาติดท็อป 50

ยุโรป

ใน 10 อันดับแรก มีประเทศในยุโรปอยู่ถึง 5 ประเทศ โดยจอร์เจียก้าวข้ามอังกฤษและสหรัฐฯ ขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 6 การเริ่มต้นธุรกิจที่จอร์เจียนั้นผ่านเพียงกระบวนการเดียวเท่านั้น ซึ่งน้อยที่สุดในโลกเช่นเดียวกับนิวซีแลนด์ที่เป็นอันดับที่ 1

ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ

ทั้งสองภูมิภาคนี้ยังคงประสบกับปัญหาความเท่าเทียมทางเพศ โดยมีอุปสรรคสำหรับนักธุรกิจหญิงใน 14 ประเทศ รายงานกล่าวว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 11 เป็นเพียงประเทศเดียวในแถบตะวันออกกลางที่อยู่ใน 20 อันดับแรก

สหรัฐฯ

สหรัฐฯ ตกมาอยู่ที่ 8 หลังจากพ่ายแพ้ให้กับจอร์เจียและนอร์เวย์ สหรัฐฯ และเกาหลีใต้เป็นเพียง 2 ประเทศ ใน 10 อันดับแรกที่ได้คะแนนลดลงจากปีที่แล้ว ท่ามกลางสิ่งกีดขวางใหญ่ๆ ในสหรัฐฯ นั้น ความล่าช้าทางราชการที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งธุรกิจและความล่าช้าในการเชื่อมต่อไฟฟ้าจากส่วนกลางเป็นประเด็นสำคัญ

แหล่งอ้างอิง : WSJ, Bloomberg