23 ม.ค. 2567 จาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟสบุ๊กแสดงความกังวลหลังมีการเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ต่อประธานรัฐสภา เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.256 โดยเห็นว่า พ.ร.บ.ประชามติฉบับปัจจุบันยังมีปัญหา “เสียงเกินกึ่งหนึ่งสองชั้น” ซึ่งจะมีผลทำให้เราไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยสสร.ไปอีกนานหรือตลอดไป
จาตุรนต์ระบุว่าอย่าให้ พ.ร.บ.ประชามติ เป็น “ทางตัน” แก้รัฐธรรมนูญเมื่อมีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญโดยสสร. ก็คงจะมีประเด็นว่าประธานรัฐสภาจะรับบรรจุเข้าระเบียบวาระเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างนี้หรือไม่
ในสมัยของสภาผู้แทนฯ ชุดที่แล้ว เคยมีประเด็นนี้มาก่อน ฝ่ายกฎหมายของประธานสภาเห็นว่าต้องทำตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าต้องทำประชามติเสียก่อน ประธานสภาในขณะนั้นจึงไม่ได้บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าระเบียบวาระจนกระทั่งยุบสภาไป
พอมาในคราวก็ยังมีประเด็นสำคัญว่าจะต้องทำประชามติเสียก่อนหรือไม่และเมื่อใด ดังนั้นต่อไปคงมีการยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัย
แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับพิจารณาหรือไม่ เมื่อใดและจะพิจารณาและวินิจฉัยในขั้นตอนใด ยังไม่มีใครทราบ
หากยื่นต่อศาลตั้งแต่ต้น ศาลฯอาจรับพิจารณาแล้ววินิจฉัยไปทางใดทางหนึ่งในทันทีก็ได้ หรือศาลฯอาจเห็นว่ายังไม่มีประเด็นต้องพิจารณาเพราะรัฐสภายังไม่ได้แสดงความตั้งใจที่จะแก้รัฐธรรมนูญตามที่มีการเสนอก็ได้
ถ้าศาลยังไม่รับพิจารณาในขั้นตอนแรก ก็คงต้องรอไปจนถึงขั้นที่รัฐสภามีมติรับหลักการในวาระแรกหรือรอจนรัฐสภาเห็นชอบในวาระที่สามเสียก่อน ซึ่งยังต้องใช้เวลาต่อไปอีกเป็นเดือนๆ (แต่ถ้าศาลฯรับพิจารณาตั้งแต่แรกและบอกว่าต้องทำประชามติเสียก่อน กกต.ก็ต้องจัดทำประชามติในเร็ววัน)
ปัญหามีว่าในการทำประชามตินั้น จะต้องทำตามกฎหมายประชามติที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น หากการทำประชามติเกิดขึ้นก่อนจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ก็ต้องใช้ พ.ร.บ.ประชามติปัจจุบัน ซึ่งจะมีปัญหาอย่างมากคือทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนเพราะหลัก “เสียงเกินกึ่งหนึ่งสองชั้น” (Double majority) ซึ่งจะมีผลทำให้เราไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยสสร.ไปอีกนานหรือตลอดไป
ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ชี้ขาดความสำเร็จในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีสสร.มาจัดทำรัฐธรรมนูญ จึงอยู่ที่ พ.ร.บ.ประชามติ ที่ใช้ในการทำประชามติ หากมีข้อยุติว่าต้องทำประชามติแล้ว ก็ต้องทำประชามติไปโดยใช้พรบ.ประชามติที่มีอยู่ในขณะนั้น จะบอกว่าขอรอให้แก้กฎหมายประชามติเสียก่อนย่อมเป็นไปไม่ได้
หมายความว่าเรื่องเร่งด่วนที่สุดคือต้องรีบแก้ไขกฎหมายประชามติให้แล้วเสร็จเสียก่อน และต้องบริหารจัดการช่วงเวลาที่จะมีการพิจารณาร่างฯในรัฐสภารวมทั้งช่วงเวลาที่จะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเกี่ยวกับการทำประชามติ เพื่อให้เกิดข้อยุติในการทำประชามติหลังจากมี พ.ร.บ.ประชามติฉบับใหม่เสียก่อน
เรื่องนี้คงต้องมีการหารือกันทั้งพรรคร่วมรัฐบาลแล้วพรรคฝ่ายค้านโดยเร็วแล้วหละครับ