ไม่พบผลการค้นหา
‘สมศักดิ์’ ยอมรับ ‘ทักษิณ’ เข้าเกณฑ์ระเบียบราชทัณฑ์ใหม่ แต่ไม่เคยเข้าไปล้วงลูกเอื้อประโยชน์ ย้อนถามสื่อเคยนอนคุกหรือไม่ แค่ไม่กี่คืนก็ป่วยหนักได้

วันที่ 20 ธ.ค. ที่อาคารรัฐสภา สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวของกรมราชทัณฑ์ที่มีชื่อตนเองเข้าไปเกี่ยวข้อง ในกรณีออกกฎกระทรวง ปี 2563 ว่า พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ ปี 2560 เป็นกฎหมายที่ออกมาในช่วงของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก่อนที่ตนจะเข้ามาเป็น สส. ซึ่งหลังจากมีการเลือกตั้งในปี 2562 ตนเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยได้ออกกฎกระทรวง มาตรา 33 เรื่องการจำแนก พฤติกรรม การรักษาพยาบาล ตลอดจนการเตรียมพร้อมก่อนปล่อยตัวผู้ต้องขัง ในปี 2563 

ต่อมามีข้าราชการ อดีตข้าราชการ และคณะกรรมการสิทธิมนุยชนได้เข้ามาหาตน เพื่อขอให้มีที่คุมขังนอกเรือนจำ ทั้งกับนักโทษ ผู้ต้องขัง หรือผู้ที่ถูกกล่าวหา ที่ไม่ควรจะต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ซึ่งตนก็เห็นด้วย จึงให้ปลัดกระทรวง และคณะทำงานของกระทรวงยุติธรรม ดำเนินการเรื่องนี้ แต่ยังไม่ทันเสร็จเรื่อง ตนก็ได้ลาออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และได้มาเห็นการทำระเบียบของกรมราชทัณฑ์ที่ออกมาช่วงนี้ และมีการกล่าวถึงตน ในช่วงที่มีการออกกฎหมาย เป็นกฎหมายที่ดี จึงขอให้ตนมาช่วยชี้แจง และทำความเข้าใจต่อสาธารณะ ในส่วนที่จะเข้าสู่กระบวนการการคัดแยกให้เป็นสากลขึ้น 

ส่งผลให้มีกระแสข่าวออกมาว่า มีการเอื้อประโยชน์กับผู้ต้องขังรายใดรายหนึ่งหรือไม่ ซึ่งตนก็ชี้แจงไปว่า ไม่ใช่ เป็นกระบวนการยุติธรรมที่อยู่ในกรอบสากล เพราะฉะนั้น การจำแนกผู้ต้องขัง และมีที่คุมขังนอกเรือนจำนั้น เป็นการดำเนินการตามหลักสากล และกฎหมายนี้ ก็อนุญาตให้ดำเนินการในลักษณะนี้ได้ แต่ต้องเป็นไปตามกระบวนการอย่างครบถ้วน ตามเกณฑ์ แต่การจำคุกที่มีโทษร้ายแรง จะไม่ถูกนำมาจำแนก เรื่องนี้เป็นเรื่องการทำความเข้าใจ ขณะนี้ก็เป็นเรื่องที่ดี ที่มีตัวอย่างในกรณีของอดีตนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในการคุมขัง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการอธิบายเรื่องทัณฑวิทยา ซึ่งตนก็ยินดีที่จะตอบคำถามในส่วนที่ยังขัดกับความรู้สึกของประชาชน และยังมีประเด็นไหนที่น่าจะต้องปรับแก้ให้ชัดเจน ทั้งนี้ ในฐานะที่ตนกำกับดูแลกระทรวงยุติธรรมอยู่ด้วยนั้น ก็ไม่ได้ไปล้วงลูก แต่ทบทวนสิ่งที่เคยผ่านมาให้เห็น

เมื่อถามว่า กรณีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเข้าเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ที่ออกมาใหม่หรือไม่ สมศักดิ์ กล่าวว่า เข้าเกณฑ์ เพราะเท่าที่ดูคือมีโทษไม่เกิน 4 ปี และไม่ใช่บุคคลที่อยู่ในข่ายสิ่งที่น่ากลัวของสังคม แต่เป็นโทษในลักษณะที่ไม่ได้เป็นภัยต่อสังคม จึงสามารถอยู่ในที่คุมขังได้ และเป็นโทษที่มีจำนวนน้อยกว่า 1 ปี

เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่า การที่ สมศักดิ์ ได้เข้าพรรคเพื่อไทย เพราะมีการเอื้อประโยชน์กันในส่วนนี้ สมศักดิ์ กล่าวว่า “ไม่ใช่หรอกครับ” พร้อมกล่าวต่อว่า ถ้าตนคิดว่าจะต้องเข้าพรรคเพื่อไทย ก็คงทำให้เสร็จในตอนนั้นไปแล้ว แต่ไม่ได้คิด มันเป็นไปตามครรลอง เป็นพัฒนาการของกฎหมายจากปี 2560 ไม่ได้คิดว่าจะไปอยู่พรรคการเมืองไหน แต่กฎหมายมันพัฒนาไปเข้าสู่ความเป็นสากล พร้อมยืนยันว่า กรมราชทัณฑ์ไม่ได้มีอำนาจใหญ่กว่าศาล

ส่วนของการรักษาตัวที่โรงพยาบาลของนายทักษิณ กว่า 120 วัน สมศักดิ์ ระบุว่า อยู่ในความเห็นของแพทย์ และอำนาจของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา และจากสถิติของเดือนนี้ ก็มีผู้ที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเกิน 30 วันเป็นจำนวนมากเกือบ 150 คน ไม่ใช่แค่ 1-2 คน ในอดีตก็มีมาก แต่ไม่ได้เปิดเผย ทักษิณ เป็นคนที่สาธารณะให้ความสนใจ ถ้ามีผู้ที่อธิบายเรื่องดังกล่าวให้สังคมเข้าใจ สังคมจะยอมรับและเดินหน้าต่อไปได้ 

เมื่อถามถึงการที่ ทักษิณ มีสุขภาพดีตอนที่อยู่ต่างประเทศ แต่เมื่อมาถึงประเทศไทยกลับป่วย ถือว่าแปลกหรือไม่ สมศักดิ์ ย้อนถามว่า “ก็น้องไม่เคยถูกจองจำ น้องลองไปสักสองสามวัน ชีวิตมันเครียดนะ เราเสียอิสรภาพหรือสิ่งต่างๆ ที่เราเคย ลองเข้าไปนอนสักคืนสองคืน นอนไม่หลับ คนอายุมากความดันขึ้น ป่วย”

สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ทางผู้บริหารเรือนจำและอธิบดีก็มองว่ามีความเสี่ยง เมื่อเห็นเหตุการณ์แล้วจึงส่งต่อไปยังโรงพยาบาลเพื่อความปลอดภัยของผู้ต้องขัง และเพื่อไม่ให้ตนเองต้องรับผิดชอบด้วย ใครไม่เคยไปนอนคุก ไม่เคยถูกจองจำ ลองไปสักคืนสองคืน จะพบว่าความเครียดเป็นต้นกำเนิดของโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลาย

สมศักดิ์ ยังยกตัวอย่างว่า โรคเครียดเป็นบ่อเกิดของโรคอื่นเช่นโรคเบาหวาน ความดัน เข้ามารุมเร้า พร้อมถามผู้สื่อข่าวว่าเคยเป็นหวัดภูมิแพ้หรือไม่ นอนไม่หลับสองคืนก็จะป่วยหนัก ตนเองก็เป็นเช่นกันเดี๋ยวนี้โรคภัยไข้เจ็บเยอะ ยิ่งคนที่อยู่ในเรือนจำเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ

เมื่อถามว่าจะสามารถเปิดเผยแค่เพียงชื่อโรคของ ทักษิณ ได้หรือไม่ สมศักดิ์ ยืนยันว่าส่วนนี้เป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ตนเองเพียงแค่มาพูดในทางวิชาการ