วันที่ 26 ม.ค. การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นพิเศษ ครั้งที่ 12 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายในญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นการอภิปรายครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ของ พิธา ภายหลังหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. กรณีการถือหุ้นไอทีวี และได้กลับมาทำหน้าที่ สส. หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ สส.ไม่สิ้นสุดลง
โดยก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาการอภิปราย พิธากล่าวต่อที่ประชุมสภาว่า
“ผมกลับมาแล้วครับท่านประธาน อาจจะเป็นเวลานานถึง 6 เดือน ที่ผมไม่ได้มีโอกาสเข้ามาอภิปรายปัญหาของพี่น้องประชาชนในสภาแห่งนี้ จนกระทั่งบัตรเสียบก็ยังไม่ได้ทำ”
พิธา อภิปรายว่า สำหรับญัตติเรื่องการบริหารจัดการขยะชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพื้นที่เมืองท่องเที่ยว เป็น 2 สถานที่ๆตนได้ลงพื้นที่เมื่อครั้งหยุดปฎิบัติหน้าที่ สส. คือบ่อขยะตำบลแพรกษาใหม่ จ.สมุทรปราการ และบ่อขยะเทศบาลนคร จ.ภูเก็ต บ่อขยะทั้ง 2 แห่งนี้มีความต่างกันพอสมควร เช่นที่ จ.สมุทรปราการ เป็นเมืองอุตสาหกรรมโรงงานอุตสาหกรรม และพี่น้องแรงงานเยอะ แต่ขณะที่ จ.ภูเก็ตเป็นจังหวัดท่องเที่ยว
จากข้อมูลที่ได้มาในขณะนี้ พบว่าที่ จ.สมุทรปราการ บ่อขยะแพรกษาใหม่มีความสูงกว่าตึก 5 ชั้น เนื่องจากมีขยะเกิดขึ้นในจังหวัดสมุทรปราการกว่า 2,830 ตันต่อวัน สามารถจัดการขยะ ได้อย่างถูกต้องตามมาตรฐาน 300 ตัน และขยะที่ถูกจัดการโดยไม่ถูกต้องกว่า 2,530 ตัน ซึ่งบ่อขยะที่แพรกษาใหม่ อยู่บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงเรียนเด็กเล็ก จึงเกิดความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย โดยGDP ของจังหวัดสมุทรปราการกว่า 6 แสนล้านบาท โดยองค์การบริหารส่วนตำบลได้รับการจัดสรรงบประมาณกว่า 1.6 พันล้านบาท หรือ 0.25 GDP ของ จ.สมุทรปราการ
ขณะที่ จ.ภูเก็ต พบว่า มีปริมาณขยะรายวันสูงถึง 871 ตันต่อวัน มีความสามารถเผาขยะได้เพียง 700 ตันต่อวัน ดังนั้นจึงกระทบต่อการท่องเที่ยวของ จ.ภูเก็ต ซึ่งเมื่อมอง GDP ของ จ.ภูเก็ต ที่มีกว่า 2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นกว่า 633 ล้านบาท หรือ 0.31 % ของ GDP จังหวัด
พิธา กล่าวว่า การจัดการขยะมองเป็นจุดไม่ได้ ต้องมองตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทางของการบริหารจัดการขยะ หากไม่สามารถบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางได้ก็ไม่สามารถที่จะไปมอง ไปที่ปลายทางได้เสมือนเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปี 2565 พบว่าประเทศไทยมีขยะสะสมกว่า 63 ล้านตัน ทั้งขยะมูลฝอย , กากของเสียของอุตสาหกรรม และของเสียอันตรายจากชุมชน
สำหรับกลางทางขยะ 100% สามารถจัดการได้ 88 % และ อีก 12 % เป็นขยะที่ไม่ได้รับการจัดการ ขณะที่ปลายทาง ประเทศไทยมีหลุมขยะทั้งหมด 1,941 หลุม แต่พบว่ามีหลุมที่ได้มาตรฐานเพียง 72 หลุม ดังนั้น จึงขอเสนอกรอบการทำงานไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ปัญหาขยะจำนวน 5 ข้อเสนอ ประกอบด้วย
1. ส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
2. ออกพระราชบัญญัติการบริหารจัดการขยะและการบทเรียนทรัพยากร
3. โอนอำนาจให้หน่วยงานส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการขยะ
4. เพิ่มเติมงบประมาณสำหรับการดำเนินการบริหารจัดการขยะ
5. ออกมาตรการด้านกองทุนฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนและสำหรับผู้รับบำบัดกำจัดขยะ