ไม่พบผลการค้นหา
ศิธา-สุดารัตน์ ประกาศชูกรุงเทพฯ เมืองมหานครสีรุ้ง สร้าง มหกรรมท่องเที่ยว "Bangkok Pride" ขณะเดียวกัน จะรับรองและคุ้มครองชีวิต LGBTIQ ด้วยข้อบัญญัติกรุงเทพฯ ร่วมมือกับเครือข่ายเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

วันที่ 26 เม.ย. 2565 น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) หมายเลข 11 พรรคไทยสร้างไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย ร่วมแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนต่อนโยบายด้านความหลากหลายทางเพศที่พรรคไทยสร้างไทย โดยมีมูลนิธิและเครือข่ายเพื่อความหลากหลายทางเพศ ร่วมแลกเปลี่ยน เช่น ตัวแทนจากมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย เยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยได้สะท้อน ถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองบุคคลข้ามเพศ โดยเฉพาะกฎหมายคุ้มครองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวโดยเสมอภาคและเท่าเทียมกันสำหรับคนทุกเพศ รวมถึงการคุ้มครองคนข้ามเพศในโลกการจ้างงาน และรับฟังเสียงของผู้เสียหายจากการถูกใช้ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ 

น.ต.ศิธา ระบุว่า จะขอคิดต่างเพื่อสร้างกรุงเทพฯให้เป็นมหานครสีรุ้ง โดยเห็นว่าผู้คนที่มีความหลากหลายทางเพศ คือส่วนสำคัญในการสร้างเมือง ดังนั้นประชากรกลุ่มนี้ คือผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ทำเม็ดเงินมหาศาลในแต่ละปี แต่ที่ผ่านมากลับต้องตั้งคำถามว่ากรุงเทพฯได้ทำอะไรเพื่อพี่น้องประชาชนกลุ่ม LGBTIQ ไปแล้วบ้าง 

จึงมีนโยบายที่จะ Liberate และ Empower ปลดปล่อยและสร้างพลังให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจากการถูกกดทับด้วยกฎหมายที่ล้าสมัยและเสริมสร้างศักยภาพ ให้พวกเขามีส่วนร่วมในการพัฒนา กำหนดทิศทางเพื่อสร้างกรุงเทพฯสีรุ้ง ให้เป็นมหานคร ที่ไม่ได้โอบรับความหลากหลายทางเพศแค่ลมปากอีกต่อไป 

เริ่มต้นจากการเลิกเห็นหัวประชาชนกลุ่มนี้แค่เดือน มิ.ย. หรือเดือน Pride แต่ต้องทำให้ทุกวัน ประชาชนกลุ่มนี้ดำรงชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯได้อย่างปลอดภัย ห่างไกลจากการเลือกปฏิบัติ และความรุนแรง จะทำให้เดือนPride ถูกยกระดับให้เป็นมหกรรมการท่องเที่ยวประจำเดือนของกรุงเทพฯ Bangkok Pride ด้วยกลไกของ Bangkok creativity อย่างเป็นทางการ

ศิธา ระบุว่า ตนจะขอยกระดับกรุงเทพฯให้เป็นมหานครระดับโลก กับการรับรองและคุ้มครองชีวิตLGBTIQ โดยออกข้อบัญญัติกรุงเทพฯ คุ้มครองการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ โดยสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ พร้อมสร้างพื้นที่ปลอดภัยทั้งในบ้านและสถานศึกษาเพื่อให้LGBTIQ ที่อยู่ในกรุงเทพฯได้เติบโตขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี 

รวมถึงการจัดสร้างบ้านพักฉุกเฉิน เพื่อรองรับ ผู้ที่เสียหายจากการถูกใช้ความรุนแรงทั้งในครอบครัวและพื้นที่สาธารณะ จะทำให้มั่นใจว่ากรุงเทพฯ มีทีมสหวิชาชีพที่ผ่านการฝึกอบรม และเข้าใจต่อวิถีของประชาชนกลุ่มนี้เป็นอย่างดี

ศิธา พร้อมย้ำว่าหากกรุงเทพฯมีผู้ว่าชื่อศิธา ปัญหาของผู้มีความหลากหลายทางเพศ จะต้องมีที่พึ่งพา โดยจะสร้างระบบที่ทำให้ทุกเสียงสะท้อนปัญหาที่พวกเขาเผชิญไม่ว่าจะเป็นการเลือกปฏิบัติ การถูกใช้ความรุนแรง การเข้าไม่ถึงโอกาส ด้วยเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งสามารถร้องเรียนมาถึงตนได้ เพื่อให้มีการแก้ปัญหา และรับผิดชอบได้ทันที ที่สำคัญขอให้มั่นใจว่าข้าราชการพนักงานในสังกัดกรุงเทพมหานครที่มีความหลากหลายทางเพศทุกคน จะได้รับการปฏิบัติ ด้วยความเคารพเสมอภาคเท่าเทียม

สุดารัตน์ ศิธา -D98C-4039-ADF5-7E8BE20074DE.jpegสุดารัตน์ -0C20-4FB3-9FA8-51856F299D29.jpeg