ไม่พบผลการค้นหา
‘ศิธา’ ผุดไอเดีย ‘เครดิตประชาชน’ ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ จะแก้ปัญหาปากท้องให้คนกรุงเทพฯ ด้วยการช่วยผู้ค้ารายย่อยที่เล็กกว่าเอสเอ็มอี มี กทม.เป็นตัวกลาง ปิดทางกู้เงินนอกระบบ ส่วงงบฯ รายจ่าย กทม.ต้องกล้าใช้งบฯ ไปขันน็อตประสานเอกชน-ราชการรับใช้ประชาชน ย้ำ กทม.สามารถประสานหน่วยงานต่างๆ ได้ ถ้าอำนาจท้องถิ่นร้องขอมา

วันที่ 6 เม.ย. 2565 น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) หมายเลข 11 พรรคไทยสร้างไทย ตอบคำถามของ ‘วอยซ์’ ที่ว่า ‘ถ้าคุณเป็นผู้ว่าฯ กทม. คุณจะทำเรื่องใดให้คนกรุงเทพฯ มีชีวิตดีๆ ที่ลงตัว ได้มากที่สุด’ โดยระบุว่า จากที่ได้ไปลงพื้นที่มา ปัญหาที่ประชาชนมองว่าสำคัญที่สุด คือปัญหาเรื่องปากท้อง ซึ่งประชาชนให้ความสำคัญมากกว่าปัญหาอื่นแทบเป็นเท่าตัว นโยบายที่เกี่ยวพันกับ กทม. คือการช่วยเหลือผู้ค้ารายย่อยที่ขนาดเล็กกว่าระดับธุรกิจเอสเอ็มอี อาทิ หาบเร่แผงลอย คนค้าขายที่ไม่ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเหมือนคนรวย ด้วยโครงการ ‘เครดิตประชาชน’

น.ต.ศิธา กล่าวว่า หลักการของ ‘เครดิตประชาชน’ คือ ประชาชนในแต่ละชุมชน จะรู้ว่าใครคือคนที่สำคัญได้รับเงินจากกองทุน ซึ่งร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยมี กทม. เป็นตัวกลาง บริษัทเอกชนที่ปล่อยเงินกู้ไม่กล้าปล่อยกู้ให้คนทำมาค้าขาย เพราะกลัวจะไม่สามารถตามทวงหนี้ได้ ชาวบ้านจะมีกระบวนการที่ทำกันเองโดยมี กทม. เป็นตัวกลาง ในลักษณะคล้ายกับกองทุนชุมชนในอดีต เพื่อให้ประชาชนไม่ต้องกู้เงินนอกระบบ แต่มีกระบวนการที่ประชาชนกลั่นกรองกันเอง กองทุนลักษณะนี้มีหนี้เสียต่ำมาก เพราะประชาชนแต่ละคนมีเครดิตสูง

สำหรับงบประมาณรายจ่ายของ กทม. ที่เหลืออยู่ไม่มากในปีงบประมาณล่าสุดนั้น ผู้ว่าฯ กทม. ควรบริหารจัดการอย่างไรให้ใช้นโยบายเกิดขึ้นจริง น.ต.ศิธา ระบุย้ำว่า กทม. ต้องรู้จักการคิดนอกกรอบ โดยไม่ขัดต่อข้อกฎหมาย มีข้อกฎหมายหลายที่จำนวนเกินครึ่ง ออกมาสร้างข้อจำกัดให้ประชาชน ต้องดูแลแก้ไข ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. สามารถทำได้หลายอย่างสมัยที่ตนเป็นประธานคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด มหาชน (ทอท.) เคยเอาที่ดินรกร้างว่างเปล่ามาทำเป็นสนามจักรยาน ที่มีมาตรฐานติดอันดับ 3 ของโลก ผู้ใช้บริการมากกว่า 1 ล้านคนต่อปี การทำแบบนี้ หากไม่คิดนอกกรอบ และไม่เข้าใจกฏหมาย ก็มักไม่กล้าทำ ตนทำให้คนไทยขี่จักรยานเพิ่มขึ้นปีละ 30 ล้านกิโลเมตร

“ผมเข้าใจข้อกฏหมาย ผมเข้าใจความรู้สึกของคน และผมกล้าคิดนอกกรอบในการทำประโยชน์ให้ประชาชน งบประมาณที่เหลือน้อยของ กทม. เราแค่ไปขันน็อต หาช่องทางประสานกับภาคเอกชน กำกับดูแลให้งบประมาณที่มีอยู่ กับข้าราชการ กทม. ให้ทำงานอย่างดีที่สุดเพื่อรับใช้ประชาชน”

ถามว่า ประเด็นที่ กทม. เป็นองค์กรที่มีอำนาจจำกัด น.ต.ศิธา ระบุว่า กทม. เป็นองค์กรที่ใหญ่มาก สามารถประสานได้หมด หากคิดแบบหน่วยงานราชการ ที่มองว่าไม่ใช่ภารกิจของตนจึงไม่ทำ โดยจะต้องคืนอำนาจให้ประชาชน สิ่งที่ผู้คนร้องขอ กทม. ก็อยากทำ หากรัฐบาลรู้ว่าคนกรุงเทพฯ หรือคนในท้องถิ่นร้องขอมา อย่างไรก็ต้องทำ

“ทุกคน One man, One vote กทม. ทำ ผมก็ยืนให้เห็นแบบนี้ว่ารัฐบาลไม่สนับสนุน จะเป็นพรรคไหนเข้าไปเป็นรัฐบาล เขาก็ต้องการคะแนนเสียงจากประชาชน เราสามารถทำได้ เพียงแค่ผู้ว่าฯ กทม. รู้จักคิดนอกกรอบ และมีความจริงใจในการแก้ปัญหา” น.ต.ศิธา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง