ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มไฟฟ้า สภาอุตสาหกรรมจี้ทบทวน ร่าง พ.ร.บ. การจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ชง 3 ข้อเสนอ "ขอเวลาปรับตัวไม่น้อยกว่า 2 ปี หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้-สร้างกลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน-เริ่มใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนและสำนักงานก่อน" ล่าสุด สนช. พิจารณากฎหมายในวาระที่ 2

นางกนิษฐ เมืองกระจ่าง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. และนายกสมาคมอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมไทย เปิดเผยว่า จากการที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ... ซึ่งได้มีการประชุมพิจารณาเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมานั้น 

"ผู้ประกอบการเห็นด้วยกับการมี พ.ร.บ. ฉบับนี้ แต่เสนอให้มีการแก้ไขปรับปรุงกลไกการบริหารจัดการซากฯ ให้มีประสิทธิผลเพียงพอในทางปฏิบัติ และสร้างความเป็นธรรมต่อผู้ผลิต"

โดยกลุ่มฯ ขอเสนอแนวทางในการแก้ไข พ.ร.บ.การจัดการซากฯ ดังนี้

1) ระยะเวลาที่บังคับใช้ใน พ.ร.บ. ไม่ควรน้อยกว่า 2 ปี หลังจากหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบได้ประกาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของอนุบัญญัติเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ภาคเอกชนมีเวลาเตรียมการ ภายหลังจากได้ทราบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าว

2) ขอบข่ายผู้มีส่วนร่วมในการดำเนินการตามร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ยังไม่ครอบคลุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้จัดจำหน่าย ผู้นำเข้า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการที่ให้บริการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ เป็นต้น และควรเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการร่าง พ.ร.บ.

3) การเริ่มต้นบังคับใช้กฎหมาย เสนอให้บังคับใช้กับ "ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนและสำนักงาน" โดยพิจารณาถึงความเป็นไปได้เชิงเศรษฐศาสตร์ หรือความคุ้มทุนในการจัดการซากผลิตภัณฑ์ควบคุม

จากข้อเสนอดังกล่าวข้างต้น ส.อ.ท. จะเสนอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากฯ โดยจะขออนุมัติจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขยายเวลาการพิจารณาเป็นครั้งที่ 1 ออกไปอีก 45 วัน เพื่อพิจารณาทบทวนเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ให้มีกลไกการจัดการซากฯ ที่เหมาะสม เป็นธรรมกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน และสามารถปฏิบัติได้จริง รวมทั้งป้องกันผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย และความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอปัจจุบันด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่าง พ.ร.บ. การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ดังกล่าว ผ่านมติเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค. ที่่ผ่านมา โดยมีเหตุผลเพื่อให้มีระบบการจัดการซากผลิตภัณฑ์ ฯ ที่มีประสิทธิภาพ โดยอาศัยความรับผิดชอบของผู้ผลิตและผู้นำเข้า ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ผู้ผลิตลดการใช้สารอันตราย รวมทั้งปรับปรุงการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ง่ายต่อการนำกลับมาใช้ใหม่ 

โดยที่ผ่านมา สนช. ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 21 คน โดยมีมติเลือก พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก สมาชิก สนช. เป็นประธาน กมธ.วิสามัญ และกำหนดให้มีกรอบเวลาพิจารณาให้เสร็จภายใน 45 วัน ก่อนเสนอกลับมาให้ที่ประชุม สนช.ลงมติอีกครั้ง ซึ่งล่าสุด ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว อยู่ในระหว่างการพิจารณาในวาระที่ 2 

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ. การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้เสนอร่างกฎหมาย ด้วยเหตุผลว่า ปัจจุบันการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ดังกล่าวส่วนใหญ่มีส่วนประกอบซึ่งเป็นสารอันตรายและโลหะหนักหลายชนิด หากรั่วไหลจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน จำเป็นต้องมีการจัดเก็บ รวบรวม คัดแยก ถอนชิ้นส่วน และกำจัดซากผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อให้มีระบบการจัดการการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพ โดยอาศัยความรับผิดชอบของผู้นำผลิตและผู้นำเข้า ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ผู้ผลิตลดการใช้สารอันตราย

รวมทั้งปรับปรุงการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ง่ายต่อการนำกลับมาใช้ใหม่ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อันเป็นการส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวย่อมจะต้องกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลบางประการ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :