ไม่พบผลการค้นหา
ว่าที่ ส.ส.นครพนม เพื่อไทย เสนอทางออกประเทศ คือให้ ส.ว. งดออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี แสดงสปิริตเคารพเสียงของประชาชน เปิดทางให้พรรคที่มีจำนวน ส.ส. มากที่สุดได้จัดตั้งรัฐบาล

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ว่าที่ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ลงพื้นที่ทุกอำเภอในเขตเลือกตั้ง พบว่า ประชาชนเป็นห่วงสถานการณ์การเมืองหลังเลือกตั้งมาก ได้เสนอทางออกประเทศเป็นความคิดรวบยอด สรุปได้ว่าในการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ ทุกภาคส่วนควรฟัง "เสียงประชาชน" ซึ่งสะท้อนจากการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา คือ

1. ให้พรรคที่ได้จำนวน ส.ส. มากที่สุดเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลก่อน ตามประเพณีทางการเมืองที่เคยปฏิบัติมา ยกตัวอย่างการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2539 พรรคความหวังใหม่ ได้ 125 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ ได้ 123 เสียง เฉือนกันเพียง 2 เสียง เมื่อจะจัดตั้งรัฐบาล นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น แสดงสปิริตให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ในฐานะที่พรรคความหวังใหม่ได้จำนวน ส.ส. มากกว่า แม้จะชนะกันเพียง 2 เสียง

2. ส.ว.เป็นสมาชิกรัฐสภา มีหน้าที่หลัก คือ กลั่นกรองกฎหมาย ที่ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร จึงควรทำงานตามหน้าที่หลักที่บัญญัติไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ 

สำหรับกรณีที่บทเฉพาะกาลของกฎหมายรัฐธรรมนูญให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีได้นั้น บทบัญญัติดังกล่าวมุ่งหวังให้ได้บุคคลที่เป็นกลางทางการเมืองเข้ามาบริหารประเทศ แต่ในข้อเท็จจริงปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี จากพรรคการเมืองหนึ่งไม่ได้เป็นกลางทางการเมือง แต่มีส่วนได้ส่วนเสีย มีประโยชน์ทับซ้อนเปรียบได้กับเป็นทั้งกรรมการและเป็นผู้เล่นไปในตัว 

ดังนั้นหนทางที่ดีที่สุด คือเป็นกลางที่สุด และเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ส.ว. ควรงดออกเสียงในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี โดยควรฟังเสียงจากประชาชนผ่านการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 เป็นหลักในการเลือกนายกรัฐมนตรี จึงจะเป็นทางออกที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนและชาวโลก ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นประเทศและส่งเสริมเกียรติยศ ศักดิ์ศรีของประเทศ

นายชวลิต กล่าวในที่สุดว่า หากพรรคการเมืองและ ส.ว.ฟังเสียงประชาชนผ่านการเลือกตั้งดังกล่าวข้างต้น นับเป็นการดำเนินการตามกรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่จำเป็นต้องพึ่งอำนาจนอกระบบ ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นประเทศจะตกต่ำลง หากไม่ยึดแนวทางประชาธิปไตยและประเพณีทางการเมืองที่ได้วางเป็นแนวทางและปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน