ไม่พบผลการค้นหา
‘จรยุทธ’ ผู้สมัคร ส.ส.กทม. ก้าวไกล ชี้ ‘หนี้นอกระบบ’ เหมือนระเบิดเวลา รัฐบาลต้องเป็นเจ้าภาพ ‘ปรับโครงสร้างหนี้’ แนะใช้แอปฯ 'เป๋าตัง' เป็นฐานข้อมูลเปิดทางให้ประชาชนกู้สินเชื่อในระบบได้ พร้อมเร่งผ่านร่าง พ.ร.บ.ล้มละลาย ฉบับ 'ก้าวไกล'

วันที่ 22 ก.ย. 2565 จรยุทธ จตุรพรประสิทธิ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม ต้นกล้าอาสา (Tonkla-Asa) และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตยานนาวา - บางคอแหลม พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตนมีโอกาสเข้าร่วมการเสวนา ในหัวข้อ ‘การเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อประกอบอาชีพและทางออกปัญหาหนี้นอกระบบของประชาชน’ ที่จัดโดย คณะกรรมาธิการ (กมธ.)) การคลังและสถาบันการเงินและตลาดเงิน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเรื่องนี้เป็นหนึ่งในที่ปัญหาใหญ่มาก แต่รัฐบาลกลับเพิกเฉย ทั้งในฝั่งของหนี้สินที่ประชาชนต้องทนทุกข์ อันเนื่องมาจากการบริหารล้มเหลวจนเกิดภาวะข้าวยากหมากแพงสวนทางกับรายได้ และเป็นผลกระทบที่สืบเนื่องมาจากวิกฤตโควิด - 19 ที่ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง หลายแห่งปิดตัวไป หลายแห่งยังไม่ฟื้นและภาระหนี้สินยังคงอยู่ทั้งเก่าใหม่ที่ไปหยิบยืมหรือกู้ยืมมา ซึ่งก็จะไปผูกพันกับปัญหาอีกฝั่งหนึ่ง นั่นคือการที่ประชาชนคนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบยาก หนี้สินที่กู้ยืมมาดังกล่าวจึงมักเป็น ‘หนี้นอกระบบ’ ที่จะพอกขึ้นเรื่อยๆ ถึงมีเงินจ่ายก็ตัดได้แต่ดอกแล้วยอดก็ทบเงินต้นต่อไป เป็น ‘กับดักหนี้สิน’ ที่มีประชาชนตกลงไปในนั้นนับล้าน เป็นเสมือนระเบิดเวลาอีกลูกของสังคมไทยที่รอวันระเบิดขึ้น

“รัฐบาลจะตีมึนบอกไม่รู้ ไม่รู้ ไม่รู้ ไปวันๆไม่ได้ นี่คือเรื่องปากท้องของพี่น้องประชาชนและภาคธุรกิจที่กำลังขาดความมั่นคง ผมคิดว่ารัฐบาลต้องทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการปรับโครงสร้างหนี้ ให้ได้ ซึ่งเรื่องนี้พรรคก้าวไกลเคยเสนอแนวทางให้จัดการแบบ One stop service โดยอาจให้สำนักนายกฯ เป็นเจ้าภาพบูรณาการหน่วยงานต่างๆ เพราะสามารถประสานหน่วยงานหลากหลายได้ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี"

จรยุทธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ก็ควรเตรียมวงเงินสักประมาณ 10,000 ล้านบาท เพื่อเป็นสินเชื่อของธนาคารออมสินในการใช้รองรับลูกหนี้ระหว่างการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อเอาเจ้าหนี้นอกระบบให้มาอยู่ในระบบ แล้วต่อรองค่างวดสำหรับดอกเบี้ยที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เพื่อนำไปหักลบกับเงินต้นได้อย่างเป็นธรรมกับทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้

นอกจากนี้ รัฐบาลก็ควรใช้เทคโนโลยีที่มีในมือให้เป็นอย่างแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ ซึ่งในนั้นมีข้อมูลผู้ประกอบการรายย่อยอยู่แล้ว ควรสามารถนำมาใช้เป็นฐานข้อมูลในการขอกู้สินเชื่อในระบบได้ เมื่อมีปัญหาสภาพคล่องอย่าให้เขาต้องเริ่มต้นด้วยเงินนอกระบบ การเป็นรัฐบาลมีหน้าที่หลักคือการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน จะต้องดึงประชาชนออกมาจากกับดักหนี้และทำให้เขาสามารถจัดการชีวิตและธุรกิจของเขาได้ หากมีรัฐบาลแต่ไม่ทำหน้าที่ตรงนี้ เราก็ไม่รู้จะมีรัฐบาลไว้ให้เปลืองภาษีทำไม” 

จรยุทธ กล่าวต่อว่า การช่วยเหลือลูกหนี้ในอีกทางหนึ่ง คือการรีบผ่านร่างพ.ร.บ.ล้มละลาย ที่เสนอโดย วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เพื่อให้บุคคลธรรมดาทุกคนมีสิทธิสามารถฟื้นฟูสภาวะทางการเงินของตนเองได้ ต้องเข้าใจให้ตรงกันว่าทุกคนหรือทุกธุรกิจมีโอกาสเจอสถานการณ์ไม่คาดคิดหรือวางแผนทางการเงินที่ผิดพลาดได้ โดยร่างนี้จะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดา ผ่านการเพิ่มสิทธิลูกหนี้ให้เจรจาปรับโครงสร้างหนี้หรือว่าฟื้นฟูหนี้สินบุคคลธรรมดากับเจ้าหนี้ทุกรายพร้อมกันได้ เป็นสิทธิคล้ายๆ กับลูกหนี้ธุรกิจ ที่สามารถขอฟื้นฟูปรับปรุงกับเจ้าหนี้ต่อศาล ซึ่งเดิมไม่มีกฎหมายรับรองสิทธินี้ทำให้ลูกหนี้แต่ละรายต้องไปเจรจาทีละราย แต่โดยเฉพาะเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด กฎหมายนี้จะยิ่งสำคัญมากเพราะทุกคนได้รับผลกระทบกันหมด การไม่มีช่องทางโอกาสให้ฟื้นฟูสภาวะทางการเงินจึงอาจนำไปสู่สถานการณ์ต่อเนื่องอื่นๆที่เลวร้ายและแก้ไขยากขึ้น

จรยุทธ ยังได้กล่าวถึงเรื่องกับดักรายได้ ว่า เป็นอีกเรื่องควรมองบริบทอย่างรอบด้านเพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆทางการค้าขาย โดยอาจเปลี่ยนมุมมองจากการมุ่งแข่งขันให้เห็นการทำธุรกิจแบบสนับสนุนกันมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาหลายคนเมื่อเห็นกิจการหนึ่งขายดีก็จะไปตั้งใกล้ๆแล้วขายของสิ่งเดียวกัน ซึ่งในความเป็นจริงปริมาณของผู้ซื้อตรงนั้นอาจไม่มากพอที่จะแบ่งตลาดสินค้าแบบเดียวกันได้มากและทำให้ไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่าการหมุนเวียนของรายได้ ซึ่งอาจจะพาให้กิจการล้มไปด้วยกันก็ได้ 

“ตอนผมทำธุรกิจร้านอาหารที่หน้าโรงเรียน ช่วงเริ่มต้นจะสำรวจก่อนว่ามีสินค้าอะไรขายอยู่ก่อนบ้าง แล้วเราก็ไม่ทำเหมือนเขาเลย เช่น ผมจะไม่ขายน้ำอื่นนอกจากน้ำเปล่าเพราะมีร้านน้ำอยู่ข้างๆ ก็คุยกันว่า ผมจะขายแต่อาหารไม่ขายเครื่องดื่มเดี๋ยวจะเป็นการตัดกำไรกัน แล้วให้เขาเอาเมนูของเขามาวางที่ร้านเพื่อส่งเสริมกันไปด้วยกัน แต่เราขอเรื่องโปรโมชั่น เช่นให้ลดราคาไม่ให้เหมือนหน้าร้านเพื่อเป็นประโยชน์ของลูกค้าเราด้วย แล้วเขาก็มีกำไรด้วย”

จรยุทธ ระบุว่า ถ้าประชาชนยังวนเวียนอยู่กับดักหนี้สินและกับดักรายได้ อาจจะทำให้ปัญหาหลายอย่างบานปลาย แหล่งทุนที่มีคุณภาพที่เข้าถึงยากไม่สะดวกสบายเท่าการกู้ยืมนอกระบบ อาจทำลายชีวิตเขาไปได้เลย จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการตัดวงจรหนี้นอกระบบให้ได้ตั้งแต่แรก มีการวางกลไกในระบบให้เขาเข้าถึงสภาพคล่อง ส่วนที่เป็นหนี้แล้วก็ต้องเร่งหาวิธีปรับโครงสร้างหนี้ให้เขาให้ได้ก่อนที่ระเบิดเวลาลูกนี้จะระเบิด เพราะหากระเบิดขึ้นมาผลกระทบจะเป็นวงใหญ่อย่างแน่นอน