วันที่ 10 ส.ค. 2565 ที่อาคารรัฐสภา สมชัย ศรีสุทธิยากร ในฐานะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กล่าวถึงเหตุการณ์รัฐสภาล่มเนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ ในวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.
โดย สมชัย มองว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเพราะกรรมาธิการได้ทำงานอย่างทุ่มเท เพื่อให้เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด ซึ่งแต่เดิมร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังมีหลายส่วนที่ต้องปรับปรุงแก้ไข ไม่ใช่เพียงแค่สูตรคำนวนหาร 100 หรือ 500 เท่านั้น ยังมีประเด็นอื่น เช่น การมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์ของประชาชนตามหน่วยเลือกตั้ง โดยเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งต้องอำนวยความสะดวก หรือการที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องประกาศผลคะแนนรายหน่วยทั่วประเทศ ภายใน 72 ชั่วโมงหลังการเลือกตั้ง ซึ่งแต่เดิมไม่มีการประกาศ เป็นต้น แต่ในเมื่อสภานี้ไม่สามารถออกกฏหมายได้ตามกำหนดเวลา 15 ส.ค. 65 เว้นแต่ประธานรัฐสภาจะเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และเรียกประชุมสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาเพิ่มเติม
สมชัย ยังกล่าวต่อว่า กรณีนี้จะไปโทษพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเรื่องของประชุมนั้นเป็นหน้าที่ของฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลต้องช่วยรักษา ดังนั้นจึงถือเป็นปัญหาของทุกฝ่าย สำหรับ ส.ส. ที่ขาดประชุมส่วนใหญ่เท่าที่ดูแล้วจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม ต้องตรวจสอบรายชื่ออย่างละเอียดอีกครั้ง ส่วนพรรคการเมืองอื่นอื่นต้องขอแสดงความชื่นชมที่ช่วยกันรักษาองค์ประชุมอย่างเต็มที่
สมชัย ยังระบุว่า การนัดประชุมเพิ่มนั้น ขึ้นอยู่กับการพูดคุยกันระหว่างวิป 3 ฝ่ายด้วย มิเช่นนั้น แม้จะนัดประชุมเพิ่มแต่อาจเกิดเหตุการณ์สภาล่มอีก ก็จะไม่มีประโยชน์ และสร้างรอยด่างพร้อยของสภาชุดนี้ ทั้งที่ได้แก้ไขกฎหมายและส่งกลับมายังสภาก่อนกำหนดด้วยซ้ำ
เมื่อถามว่าการไม่แสดงองค์ประชุมของ ส.ส. ว่าถือว่าเป็นการปกป้องรัฐธรรมนูญหรือไม่ สมชาย ระบุว่า สามารถแสดงตนส่งผลให้การประชุมสภาล่ม และทำให้ภาพลักษณ์ของสภาเสื่อมลง หากดูในเจตนาอาจมองได้ว่าเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้แทนราษฎร
สมชัย ยืนยันว่า จะยื่นเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และจะตั้งข้อสังเกตจากการขาดการประชุมรัฐสภาต่อเนื่อง 3 ครั้ง เป็นตะแกรงร่อนดูเจตนาของ ส.ส. ว่ามีเจตนาไม่เข้าประชุม โดยไม่มีเจตนาอันสมควร เป็นเหตุให้กฎหมายดังกล่าวไม่ทันกำหนดเวลา เท่ากับว่าขัดต่อประมวลจริยธรรมของ ส.ส. โดยเชื่อว่าไม่เกินหนึ่งสัปดาห์จะทำสำนวนฟ้องให้เสร็จ
ส่วนประเด็นที่จะมีการยื่นร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความมองว่าเป็นเรื่องของ ส.ส. และ ส.ว. กรรมาธิการคงไม่ได้เกี่ยวข้อง ซึ่ง สมชัย มองว่า ไม่ว่าจะเป็นการคำนวณแบบใดก็ขัดต่อรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น และหากศาลวินิจฉัยว่ามีการขัดในสาระสำคัญก็อาจส่งผลให้กฎหมายฉบับนั้นตกไปเลย แต่เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้
พรรคเล็กดิ้นสู้กดดันประธานรัฐสภา นัดประชุมเพิ่มเสาร์-อาทิตย์ ล่มอีกก็ให้รู้ไป
ด้าน นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ พร้อมด้วยตัวแทนพรรคการเมืองขนาดเล็ก ผู้สนับสนุนสูตรคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อแบบหาร 500 ในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่ …) พ.ศ. … แถลงข่าวหลังที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณากฏหมายดังกล่าวล่มไปเนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ โดยระบุขอบคุณพรรคร่วมรัฐบาลมาร่วมประชุม และชื่นชมพรรคเพื่อไทยเล่นเกมเตะถ่วงได้สุดยอด ขาด 3 เสียงในการโหวตเท่านั้น จนท้ายที่สุดต้องปิดประชุม แต่สงครามยังไม่จบยังไม่นับศพทหาร ที่ผ่านมายกแรก ฝ่ายหาร 100 ชนะ ยกสองฝ่ายหาร 500 ชนะ ยกที่สามฝ่ายหาร 500 แพ้ แต่ยังมียกที่ 4 5 6 ที่จะเป็นยังไงไม่รู้ แต่มั่นใจว่าเลือกตั้งครั้งหน้า สูตรหาร 500 แน่นอน
“เปิดได้ ล่มไปก็ให้มันรู้ สงครามยังไม่จบก็ยังมีอีกหลายยก” นพ.ระวี กล่าว
นพ.ระวี ยังฝากไปถึงพรรคร่วมรัฐบาลว่า แม้แต่ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล และทีมวิปพลังประชารัฐ ก็มาร่วมประชุมแต่ไม่ขานชื่อ ต้องตอบคำถามสังคมด้วย และหวังว่า พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พรรคพลังประชารัฐ อย่าฟังคนใกล้ชิด เพราะเชื่อว่าไม่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ถ้าคราวหน้าเรียกประชุม พลังประชารัฐต้องมาอย่างพร้อมเพรียง
ด้าน คฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเพื่อชาติไทย ระบุว่า วันนี้เราเห็นความอัปยศของรัฐสภา ขอบคุณพรรคร่วมรัฐบาลพรรคใหญ่ด้วยที่ทำแบบนี้ เพระโอกาสที่คุณเป็นนายกฯ ไม่มีแล้ว ไม่มีความสง่างาม อย่าคิดว่าบิ๊กใหญ่จะได้เป็นนายกฯ ด้วย เชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไปยังไงก็ 500 อย่าเพิ่งรีบเปิดแชมเปญ
ด้าน ปรีดา บุญเพลิง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน กล่าวว่า เราต้องการให้ทุกสาขาอาชีพมีโอกาสพูดและสะท้อนปัญหาตนเองในสภาผู้แทนราษฎร ให้รัฐบาลรับรู้และแก้ไข แต่วันนี้ปรากฏชัดแล้วว่า การเล่นเกมในสภาฯ ไม่ควรเกิดขึ้น ควรดำเนินไปตามครรลองของการประชุม ด้วยการลงมติในท้ายที่สุด ดังนั้น วันนี้จึงไม่เกิดความเป็นธรรมต่อคนไทยที่เฝ้าดูพฤติกรรมของ ส.ส. และ ส.ว. เลย
ปรีดา เผยว่า วันที่ 11 ส.ค.นี้จะยื่นหนังสือถึงประธานรัฐสภา เพื่อขอเปิดประชุมรัฐสภาเป็นพิเศษในวันเสาร์ที่ 13 และวันอาทิตย์ที่ 14 ส.ค. นี้ เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการของระเบียบวาระการประชุม ส่วนการตัดสินใจจะนัดประชุมหรือไม่อยู่ที่ประธานรัฐสภา ว่าจะเห็นความสำคัญของพี่น้องประชาชนหรือสมาชิกรัฐสภาที่ทำรัฐสภาล่มในวันเดียวกันนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง