วันที่ 8 ส.ค. ที่อาคารรัฐสภา พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สว. เผยถึงแนวทางการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า ที่ผ่านมา สาเหตุที่ไม่เห็นชอบ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลที่ผ่าน ๆ มา แสดงให้เห็นถึงการสร้างความแตกแยกในสังคม ทั้งการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 การทำลายความเป็นภูมิรัฐศาสตร์ของชาติ
โดยเกรงว่าหากพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะทำให้ประเทศเสียหาย เบื้องต้นคิดว่าแม้ไม่สนับสนุนพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็พร้อมสนับสนุนให้เป็นรัฐบาล กระทั่งเมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และ พิธา ไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรี สว. หลายคนถูกกระทำการละเมิดต่าง ๆ จากกลุ่มที่สนับสนุน พิธา และพรรคก้าวไกล พรรคก้าวไกลไม่ได้ห้ามปราม ซึ่งถือว่ามีส่วนสนับสนุน ดังนั้น จึงไม่สนับสนุนให้พรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลอีกด้วย
พล.อ.สมเจตน์ กล่าวอีกว่า เมื่อมาพิจารณาผลการเลือกตั้ง ประชาชนให้มาเพียง 2 ตัวเลือก คือ พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย จึงเหลือเพียงพรรคเพื่อไทย ซึ่งไม่สนใจว่าจะส่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนใดมาก็ตามจะโหวตให้ แม้มีปัญหาข้อมลทินอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยต้องไปแก้ไขและตรวจสอบตามกระบวนการยุติธรรม โดยประเทศต้องมีรัฐบาล
ขณะที่เมื่อวานนี้ (7 ส.ค.) ที่พรรคเพื่อไทยแถลงร่วมกับพรรคภูมิใจไทย รวม 212 เสียง จัดตั้งรัฐบาล ไม่ได้ติดใจอะไร แต่มีประเด็นที่พรรคเพื่อไทยระบุว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งแรก จะเสนอการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขอตั้งข้อสังเกตว่าจำเป็นต่อพรรคเพื่อไทยอย่างไร ทั้งที่ปัญหาสำคัญ คือ การมีรัฐบาลมาเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้องให้กับประชาชน
ทำให้คิดว่าพรรคเพื่อไทยมีภารกิจซ่อนเร้นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจเกี่ยวพันกับการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับคดีทุจริตคอรัปชั่น เปิดทางนายทุนพรรคเดินทางกลับประเทศไทยอย่างสง่างาม ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็จะไม่สนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย และสุดท้าย หากแคนดิเดตนายรัฐมนตรีทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลได้ แล้วมีการเสนอพรรคอื่น ตนก็จะงดออกเสียง