วันที่ 22 ส.ค. ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) วาระพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงอภิปรายเพื่อแสดงความเห็นต่อคุณสมบัติของ เศรษฐา ทวีสิน ผู้ได้รับการเสนอชื่อผู้สมควรได้รับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมเจตน์ บุญถนอม สว. ได้ร่วมอภิปรายแสดงความเห็น
หลังจาก เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา สมเจตน์ ได้ลงมติไม่เห็นชอบให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล เนื่องจากนโยบายกระทบต่อความมั่นคงของชาติ หลังจากนั้นจึงมีความตั้งใจมาโดยตลอดว่า จำเป็นจะต้องโหวตเห็นชอบนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย เพราะผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ได้คะแนนเสียงรวมกันถึง 290 เสียง เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร
“เมื่อผมไม่เห็นชอบให้พรรคก้าวไกล ผมก็มีความจำเป็นต้องเห็นชอบนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย มาบริหารประเทศตามที่ประชาชนรอคอย เพราะผลการเลือกตั้ง เสียงของประชาชนบังคับให้ผมลงมติเช่นนั้น แม้ผมจะไม่มีความเชื่อมั่นในพรรคเพื่อไทยเลย ว่าจะมีอิสระในการบริหารประเทศ ดำเนินนโยบายของตนเองหรือเปล่า แต่ผมไม่มีทางเลือกอื่น” สมเจตน์ กล่าว
สมเจตน์ ยังระบุว่า ทันทีที่พรรคเพื่อไทยได้เสียงสนับสนุนจากพรรคภูมิใจไทย ก็เสนอให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งที่พรรคภูมิใจไทยไม่มีเงื่อนไขดังกล่าว แต่พรรคเพื่อไทยอ้างว่าเป็นวิกฤตรัฐธรรมนูญ เป็นวาระเร่งด่วน จึงทำให้เกิดความสงสัยในเจตนา หากประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพในการลงประชามติรัฐธรรมนูญจริง เหตุใดจึงเลือกตั้งให้พรรคเพื่อไทยชนะถึง 2 ครั้ง จึงเป็นวาทกรรมอ้างเพื่อทำรัฐธรรมนูญใหม่เท่านั้น
สมเจตน์ หยิบยกว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 มีกลไกที่นักการเมืองคดโกงสุจริตไม่ต้องการ คือกลไกให้ สว. มีส่วนร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี แต่อำนาจดังกล่าวก็กำลังจะหมดไปไม่นาน รวมถึงกลไกลองค์กรอิสระเข้มงวด ที่ลงโทษนักการเมืองอย่างรุนแรง นอกจากนี้ ยังเป็นคดีไม่มีอายุความสำหรับนักการเมืองคดโกง ที่หลบหนีคดีอาญาไปเสวยสุขที่ต่างประเทศ กลไกเหล่านี้หรือไม่ที่พรรคเพื่อไทยไม่ต้องการ
สมเจตน์ มองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะยิ่งเพิ่มความขัดแย้งให้สังคมมากขึ้น และอาจเป็นเหตุให้รัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศได้ สร้างผลกระทบมากยิ่งกว่าการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เหตุใดรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจึงราดน้ำมันลงกองไฟ เพิ่มความขัดแย้งให้ลุกโชนมากขึ้น แล้วรัฐบาลเพื่อไทยจะมีปัญญาความคิดแก้ไขความเดือดร้อนให้ประชาชนได้อย่างไร
“ผมขอฝากไปยังแกนนำพรรคเพื่อไทยว่า ท่านได้เสียสัตย์เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จมาแล้วหลายครั้ง ผมเข้าใจ และผมเห็นใจ หากท่านจะเสียสัตย์เพื่อความสงบสุขของประเทศอีกครั้งหนึ่ง โดยการประกาศในรัฐสภาแห่งนี้ว่า จะไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญในทันที แต่จะไปเสนอในห้วงเวลาที่เหมาะสม เมื่อสังคมเกิดความสงบสุข ไม่มีความแตกแยกกัน การเสียสัตย์ในครั้งจะได้รับการสรรเสริญว่าเสียสัตย์เพื่อความสงบสุขของประเทศชาติและประชาชนโดยแท้จริง ไม่ใช่การเสียสัตย์เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองของท่าน” สมเจตน์ ระบุ