ไม่พบผลการค้นหา
รทสช. หนุนญัตติถามศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดทำประชามติ ยื่นหลักประกันไม่แตะหมวด 1-2 ‘เอกนัฏ’ ลั่น รธน. 60 ไม่ใช่ผลพวง ‘รัฐประหาร’ เหตุประชาชนเห็นชอบกว่า 15 ล้านเสียง

วันที่ 29 มี.ค. ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) ในญัตติให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ ม.210 (2) เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปรายเห็นด้วยกับญัตติที่ให้มีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อชี้ขาดการทำประชามติ เพื่อทำให้หายสงสัยในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ต้องทําอย่างไร และไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไรก็น้อมรับคําตัดสินทุกประการ แต่หัวใจสําคัญของเรื่องดังกล่าว ไม่ใช่การทําประชามติ แต่เป็นวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

เอกนัฏ กล่าวด้วยความเข้าใจว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น มีสมาชิกจากพรรคการเมืองไปให้คำมั่นสัญญากับประชาชนไว้ตอนช่วงหาเสียงเลือกตั้ง แต่ต้องขอเตือนสติว่า หากเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ‘เกือบ’ ทั้งฉบับ นอกจากจะใช้เวลานานแล้ว ยังมีความเสี่ยง และสิ้นเปลืองงบประมาณมาก ดังนั้น หากจะมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตัดการทำประชามติออกไป 1 ครั้งจากเดิม 3 ครั้ง ก็จะช่วยประหยัดงบประมาณไปกว่า 3,250 ล้านบาท 

“หากถอยกลับมาทบทวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่มีความจําเป็นต้องยกร่างใหม่ทั้งฉบับ เพราะร่างที่ใช้ในปัจจุบัน ก็มีสิ่งดีๆ ที่ควรรักษาไว้ หากมีปัญหาที่ต้องแก้ไข ก็สามารถเสนอแก้ไขรายมาตราได้ทันที ไม่ต้องทําประชามติให้เสียเวลา และงบประมาณ” เอกนัฏ กล่าว 

เอกนัฏ ยังกล่าวอีกว่า มีสมาชิกหลายคนยังกังวลกับวาทกรรม “เผด็จการประชาธิปไตย” และมองว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับนี้ เป็นผลพวงจากการรัฐประหาร จึงขอยืนยันว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เกิดขึ้นจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากผู้มีประสบการณ์ มีความสามารถ เป็นอิสระจากการเมือง และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และยังได้รับการเห็นชอบ จากการทําประชามติ โดยประชาชนทั่วประเทศกว่า 15 ล้านเสียง คิดเป็นกว่า 58% ดังนั้น วาทกรรมดังกล่าวจึงไม่เป็นความจริง 

เอกนัฏ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า สส. พรรครวมไทยสร้างชาติทั้ง 36 เสียง ยินดีที่จะโหวตเห็นด้วยกับญัตตินี้ แต่หากจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ตนก็จะยังยึดจุดยืนเดิมที่เคยหารือในช่วงจัดตั้งรัฐบาลไว้ว่า ต้องไม่แตะหมวด 1 หมวดทั่วไปเกี่ยวกับระบบการปกครอง หมวด 2 หมวดพระมหากษัตริย์ รวมถึงไม่กระทบต่อกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หากผู้เสนอญัตติวางหลักประกันให้เรามีความไว้วางใจ เราก็พร้อมจะสนับสนุน