ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุมรัฐสภาถกร่างแก้ไข รธน.วาระสอง เปิดทางตั้ง ส.ส.ร. โดยเสียงข้างมากโหวตกลับไปใช้เสียง 3 ใน 5 ในการโหวตวาระ1และ3 ของการแก้ไข รธน. พร้อมมีมติเสียงข้างมากให้ ส.ส.ร. 200 คนมาจากการเลือกต้ังโดยตรงของประชาชน

เมื่อเวลา 15.35 น. วันที่ 24 ก.พ. ที่รัฐสภา ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณา "ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ... ในวาระที่สอง พิจารณาเรียงลำดับรายมาตรา  (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) ซึ่งคณะกรรมาธิการเสนอ โดยในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ของกรรมาธิการเสียงข้างมาก เสนอให้ใช้เสียง 2 ใน 3 สำหรับรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น มีกรรมาการธิการเสียงข้างน้อยสงวนคําแปรญัตติ และฝ่ายค้านอภิปรายจำนวนมาก 

กรรมาธิการ รัฐธรรมนูญ รัฐสภา 64_210224.jpg

ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขดังกล่าว โดยในการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่ 1 และวาระที่ 3 ที่ต้องใช้เสียงถึง 2 ใน 3 ของรัฐสภา แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เดิมทีการแก้ไขรัฐธรรนูญปี 2560 เป็นเรื่องยากอยู่แล้วที่จะแก้ไข เพราะต้องอาศัยเสียง ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 คนขึ้นไป บวกกับ ส.ส.อีกเกินกึ่งหนึ่ง สะท้อนว่าผู้มีอำนาจ ซึ่งไมได้มาจากประชาชน ต้องการล็อคการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาไว้ โดยมีกระบวนการขัดขวางคนเห็นต่าง สร้างเนื้อหาเพื่อรักษาอำนาจ สืบทอดอำนาจ เช่นเดียวกับที่มี ส.ว. 250 คน เข้ามานั่งตรงนี้ โดยมีเจตนาต้องการให้การแก้ไขเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น จึงเสนอให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรใช้เสียงแค่เกินกึ่งหนึ่งก็พอ

ธีรัจชัย กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะนี้จะต้องคิดให้มาก ปัจจุบันคนอายุประมาณ 50-60 ปี ทำงานอยู่ในสภา และกำลังกุมอำนาจเศรษฐกิจ การเมือง แต่อีก 10 ปี ข้างหน้าคนเหล่านี้จะค่อยๆหมดไป ซึ่งรุ่นใหม่จะเข้ามาแทน แต่คนรุ่นใหม่ กลับไม่มีสิทธิ์ที่จะออกแบบโครงสร้างของประเทศ เราจะขัดขวางพวกเขาหรืออย่างไร ขอให้สภาเปิดโอกาสให้คนอายุระหว่าง 15- 30 ปี ได้เข้ามามีส่วนร่วม ขอโปรดปลดปล่อยให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมด้วย

รังสิมันต์ โรม 1664.jpg


ด้าน รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า เราต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญ 2560 สร้างวิกฤต ถูกกล่าวหาว่าสืบทอดอำนาจ แม้จะมีการลงประชามติ แต่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมมากพอ ถือเป็นรัฐธรรมนูญตราบาป เมื่อประกาศใช้จึงเป็นการซ้ำเติมปัญหา เราจึงจำเป็นต้องหาทางออกร่วมกัน

รังสิมันต์ กล่าวว่า สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่บัญญติให้การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องใช้เสียง 1 ใน 5 ตนเห็นว่าควรใช้เสียง 1 ใน 10 เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองขนาดกลาง หรือขนาดเล็ก สามารถเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยตัวเองได้ เพราะ 1 ใน 5 หรือ 100 คน มีเพียงพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐ เท่านั้น ที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ 

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งในชั้นรับหลักการ และวาระ 3 ควรใช้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง เพราะการใช้เสียงถึง 2 ใน 3 ถือว่าแก้ไขยากเกินไป การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องแก้ไขไม่ยาก และไม่ง่ายเกินไป เพราะหากแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ จะทำให้เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญ 

อนุทิน คารม รัฐสภา 609.jpgสุทิน เพื่อไทย รัฐสภา 91687.jpg


สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เสียง 2 ใน 3 กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือว่ามากเกินไป ซึ่งจะให้แก้ไขได้ยาก ยกเว้นจะเกิดวิกฤตทางการเมือง มีการรัฐประหาร แก้ไขนอกระบบสภา โดยวันนี้จะเห็นว่ามีการสร้างวงจรอุบาทว์ มีการเขียนรัฐธรรมนูญ ให้คนไม่ชอบ จากนั้น จึงจะมีคนออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย แล้วจบด้วยการรัฐประหาร 

“นับแต่ปี 2560 ประชาชนรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ เกิดปัญหาตามมามากมาย แต่เมื่อจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลับเขียนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้อีก ซึ่งสุดท้ายจะจบด้วยรัฐประหาร อยากให้เปิดใจคุยกัน หากจะไม่แก้ก็บอกมา ว่าจริงๆแล้วรัฐบาลอยากแก้ไขรายมาตรา และมีลางสังหรณ์ใจว่า กระบวนการแก้ไขนี้จะล้มลงด้วยกระบวนการอย่างใดอย่างหนึ่ง"

รปช.ค้านแก้ รนธ. หวั่นแก้หมวด 1-2

ด้าน เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย(รปช.) อภิปรายว่า จุดยืนของพรรค รปช.เราเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขทั้งฉบับ แต่เมื่อจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเห็นด้วยให้มีการแก้ไขเป็นรายมาตรา ทั้งนี้ เห็นว่า การเปิดให้ ส.ส.ร.200 คนที่มาจากการเลือกตั้งทำการร่างรัฐธรรมนูญ จะทราบได้อย่างไรว่า จะไม่เป็นการตีเช็กเปล่าให้ ส.ส.ร.จะสามารถแก้ไขอะไรก็ได้ 

เขตรัฐ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทำไม่ได้ เราต้องดำรงรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีมาตั้งแต่ปี 2475 ดังนั้น จึงมีความกังวลว่าจะมีการแก้ไขในหมวด 1 และ 2 รวมถึงในหมวดอื่นๆที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจ พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่ควรจะให้ทำได้ หากสภาสัญญาว่าจะไม่เกิด ก็จะทำให้ประชาชนสบายใจได้ 

“รัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดของประเทศ ผมมีความกังวล ถ้าจะเปิดให้รัฐธรรมนูญแก้ง่าย โดยกังวลว่าถ้ารัฐธรรมนูญแก้ง่าย เราจะไม่มีทางได้เรียนรู้รัฐธรรมนูญเลย เพราะนับแต่ปี 2475 เรามีรัฐธรรมนูญแล้ว 20 ฉบับ ให้แก้อีกก็เป็น 21 ฉบับ ผมอยากให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ต่อ เพราะผมคิดว่าเรายังใช้งานรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ไม่นานพอ และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่ได้ทำให้เห็นปัญหาอะไร ที่เกี่ยวข้องกับประชาชนเลย”

สมชาย สมาชิกวุฒิสภา รัฐสภา 706.jpg

โหวตคว่ำร่าง กมธ. แก้กลับยึดเสียง 3 ใน 5 โหวตแก้ รธน.วาระแรก-สาม

ทั้งนี้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้มีมติเสียงข้างมาก 441 เสียง ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของ กมธ. ต่อ 178 งดออกเสียง 13 เสียง ทำให้มาตรา 256 กลับไปใช้ตามร่างรัฐธรรมนูญเดิมที่ใช้เกณฑ์คะแนนที่ใช้เสียง ไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภา ​หรือ 450 เสียง ในวาระแรกและวาระสาม และไม่มีบทบัญญัติเพิ่มเติมให้มีกระบวนการตรวจสอบการตรารัฐธรรมนูญที่มิชอบโดยศาลรัฐธรรมนูญ

จากนั้นเข้าสู่การพิจารณามาตรา 4 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภายังมีมติตามร่างที่ กมธ.เสียงข้างมากเสนอ โดยกำหนดให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกต้ังโดยตรงของประชาชน จำนวน 200 คน ด้วยคะแนนเห็นด้วย 395 เสียง ไม่เห็นด้วย 13 เสียง งดออกเสียง 165 เสียง

ก่อนหน้านี้ในการพิจารณามาตรา 4 วิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยการมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ที่กมธ.เสนอให้มีส.ส.ร. 200 คน มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง แต่มีส.ว.บางส่วน อาทิ สมชาย แสวงการ ส.ว. อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการให้ส .ส.ร.200 คน มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยเห็นว่า ควรมี ส.ส.ร.บางส่วนมาจากการแต่งตั้ง เพื่อให้มีตัวแทนจากกลุ่มต่างๆเช่น นักเรียน นักศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการมาร่วมเป็นส.ส.ร.ด้วย ตามร่างเดิมที่เสนอมา โดยขอตั้งข้อสังเกตว่า หากส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โอกาสที่นักกฎหมายและผู้ทรงคุณวุฒิจะเข้ามาช่วยร่างรัฐธรรมนูญจะมีได้อย่างไร

ชลน่าน 671.jpg

ด้าน รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า เสนอ 3 ข้อ คือ 1.ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง 100% สอดคล้องกับที่ กมธ.เสนอมา 2.ควรกำหนดเขตเลือกตั้งเป็นเขตประเทศ และ 3.ให้มีการสมัคร ส.ส.ร.แบบกลุ่มได้

ส่วน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย เห็นว่า ควรใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง เพื่อให้เป็นการเลือกตั้งทางตรง 1สิทธิ 1เสียงมากกว่า โดยเพิ่มคำว่า ทางตรงลงไปในร่างรัฐธรรมนูญด้วย

ขณะที่ วีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอว่า ส.ส.ร.ควรมาจากการเลือกตั้ง 190 คน อีก 10 คน ให้ที่ประชุมอธิการบดีคัดสรรจากผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ร่างรัฐธรรมนูญทั่วประเทศ เพื่อให้ 10 คนนี้มาเป็นผู้ช่วยการร่างรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์แบบ

เวลา 23.33 น. ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม สั่งปิดการประชุมและนัดสมาชิกประชุมร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระที่สอง ต่อเนื่องในเวลา 09.30 น. วันที่ 25 ก.พ.นี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง