ไม่พบผลการค้นหา
กรมอนามัย ห่วงช่วงปิดเทอมเป็นโอกาสทำให้เด็กเสี่ยงอ้วน เหตุกินอาหารประเภทหวาน มัน เค็ม ปริมาณมากเกินไป และไม่ขยับกายมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ขอพ่อแม่ ผู้ปกครองคุมเข้มจัดเมนูอาหารสำหรับเด็กเน้นอาหาร 5 หมู่ เพิ่มผัก ผลไม้ พร้อมส่งเสริมให้เด็กมีกิจกรรมทางกาย

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ช่วงปิดเทอมอาจทำให้พฤติกรรมการกินของเด็กเปลี่ยนไป เนื่องจากเด็กใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น กินอาหารตามใจและเลือกกินอาหารที่ซื้อได้ใกล้บ้าน เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ขนมกรุบกรอบ น้ำหวานและน้ำอัดลมทุกชนิด รวมถึงอาหารประเภทอาหารขยะ หรือ Junk Food ที่ให้คุณค่าทางโภชนาการไม่สูงนัก แต่มีพลังงานสูง ซึ่งหากกินเป็นประจำอาจเสี่ยงขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายและยังส่งผลให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และหากไม่มีการขยับร่างกายหรือออกกำลังกายเป็นประจำ อาจเป็นความเสี่ยงที่เด็กจะเป็นโรคอ้วนตามมาได้

พ่อแม่ ผู้ปกครอง จึงควรดูแลเป็นพิเศษด้วยการจัดเตรียมเมนูอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลด หวาน มัน เค็ม เน้นเพิ่มผัก ผลไม้รสไม่หวานจัดในทุกมื้ออาหาร พร้อมทั้งให้เด็กลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง เช่น การนั่ง นอนดูโทรทัศน์ เล่นโทรศัพท์และเกมคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน เพิ่มกิจกรรมทางกายและส่งเสริมให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อพัฒนาระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น วิ่ง กระโดดเชือก เต้นแอโรบิค เป็นต้น โดยอยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุขณะออกกำลังกาย

ด้าน ดร. แพทย์หญิงสายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กล่าวว่า ใน 1 วัน เด็กวัยเรียนอายุ 6-14 ปี ควรได้รับพลังงาน 1,600 กิโลแคลอรี คือ ข้าว หรือแป้ง 8 ทัพพี เนื้อสัตว์ 6 ช้อนกินข้าว ผัก 12 ช้อนกินข้าว นม 2 แก้ว ผลไม้ 3 ส่วน (ผลไม้ 1 ส่วน เท่ากับ ผลไม้ลูกเล็ก เช่น องุ่น ลองกอง 8 ผล หรือผลไม้ ขนาดกลาง เช่น ชมพู่ มังคุด 2 ผล หรือผลไม้หั่นชิ้น เช่น มะละกอ สับปะรด 8 ชิ้นพอดีคำ) ตัวอย่างเมนูในหนึ่งมื้ออาหาร เช่น รายการ���ี่ 1 ข้าวไข่ตุ๋นใส่ผักหลากสี อาทิ มะเขือเทศ แครอท ผัดกะหล่ำปลี กล้วยน้ำว้า 1 ลูกรายการที่ 2 ข้าว หมูทอด แกงจืดหมูสับผักกาดขาวเต้าหู้ไข่ ส้มเขียวหวาน 1 ผล และรายการที่ 3 บะหมี่หมูแดงใส่ผักกวางตุ้ง มะละกอ 8 ชิ้นพอดีคำ หากเด็กไม่ชอบกินผัก ให้เลือกผักรสชาติไม่ขม อาจสับละเอียดเข้ากับอาหารเพื่อฝึกให้เด็กได้กินผัก 

นอกจากนี้ พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้เด็กเสนอเมนูอาหารบางอย่างที่ชอบในแต่ละวัน พาไปจ่ายตลาดเลือกซื้อผัก ผลไม้ที่อยากกิน ฝึกให้เด็กเป็นพ่อครัวแม่ครัวตัวน้อยช่วยปรุงอาหารเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม และควรฝึกเด็กให้กินอาหารตรงเวลา ไม่กินจุบจิบ ไม่กินขนมก่อนกินอาหารมื้อหลักเพราะจะทำให้อิ่มจนไม่สามารถกินอาหารมื้อสำคัญได้ ฝึกให้เด็กกินอาหารแต่ละประเภทอย่างพอดี ไม่ให้อาหารเป็นสิ่งต่อรอง เป็นรางวัลหรือทำโทษ ควรเตรียมอาหารว่างที่มีประโยชน์ให้เด็กกินตอนสายและตอนบ่าย เช่น ผลไม้สด น้ำผลไม้ ขนมไทยรสหวานน้อย ที่สำคัญควรให้เด็กดื่มนมจืดวันละ 2 แก้ว และดื่มน้ำสะอาด วันละ 6 - 8 แก้ว