ไม่พบผลการค้นหา
ส.ส.เพื่อไทยแนะรัฐบาลผ่างบสิ้นหวัง มุ่งสู่ทางตัน ใช้ปัญหาประชาชนเป็นข้ออ้างทำงบ แต่ไม่เคยแก้ปัญหา หล่อเลี้ยงรัฐราชการสืบทอดอำนาจ อัดรัฐบาลตั้งงบฯ ขาดดุล ชี้ ‘ประมาณการจัดเก็บรายได้’ ต่ำทุกปี ยกรบ.ชินวัตร เก็บรายได้มากกว่ารายจ่าย

วันที่ 1 มิ.ย. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเรื่องด่วนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการเป็นวันที่สอง โดย สกุณา สาระนันท์ ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย อภิปรายในหัวข้อ ความสิ้นหวังและทางตันของร่างงบฯ ปี 2566 โดยชี้ให้เห็นว่า ปัญหาใหญ่หลวงคือ หนี้สินของคนไทยกำลังพุ่งสูงถึง 90.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ กระแสรายได้ไม่พอกับรายจ่าย และยังเป็นหนี้ที่อยู่ผิดที่ผิดทาง เพราะที่ผ่านมาสถาบันทางการเงินเข้มงวดในการประกอบธุรกิจมากขึ้น เมื่อประชาชนต้องการลงทุน แต่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อธุรกิจ จึงต้องเข้าสู่สินเชื่อบุคคล ซึ่งต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่า เป็นการซ้ำเติมภาระประชาชน

“สิ่งที่รัฐบาลควรต้องทำคือ ปรับโครงสร้างสถาบันการเงิน เพื่อย้ายหนี้ไปเป็นสินเชื่อที่ก่อรายได้ เพื่อสร้างโอกาสให้ชาวบ้านได้ทำมาหากิน นี่คือความหมายของงบสิ้นหวัง เพราะรัฐบาลไม่ได้ใช้งบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ และของประชาชน”

ปัญหาการขาดแคลนน้ำ รัฐบาลได้ใส่งบประมาณการจัดการน้ำ ไปที่กรมชลประทานกว่า 7.7 ล้านบาท โดยระบบการกระจายน้ำยังไม่ทั่วถึง เมื่อดูแผนของรัฐบาลแล้ว ถ้าเราต้องการกระจายน้ำให้ครอบคลุมทั่วถึงทั้งประเทศ ต้องใช้เวลาถึง 700 ปี ระบบน้ำบาดาลในพื้นที่ภาคอีสาน มีความอุดมสมบูรณ์ เทคโนโลยีมีความแม่นยำ แต่งบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในปี 2566 เพิ่มขึ้นเพียง 1.3%

“การจัดงบเช่นนี้แสดงว่ารัฐบาลไม่เข้าใจปัญหา และไม่รู้วิธีการแก้ปัญหา กรมชลประทานมีงบพัฒนาแหล่งน้ำเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการใช้งบที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ประชาชนได้ประโยชน์ทันที รัฐบาลก็ไม่ต้องไปหางบเพิ่มที่ไหน เพียงแค่ยกโยกงบจากกรมชลประทานสักหมื่นล้าน ไปที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ก็จะช่วยให้เกษตรกรทั่วภาคอีสาน ได้มีน้ำใช้ในการเกษตรทั่วทุกครัวเรือนทันที แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ทำ” สกุณา กล่าว

สกุณา ยังกล่าวว่า ระบบรัฐราชการไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหาของประชาชน แต่รัฐบาลนี้ไม่เห็นหัวประชาชน ประชาชนจะถูกจัดออกจากระบบ กลายเป็นรัฐราชการที่ประชาชนเป็นตัวประกัน ใช้ปัญหาของประชาชนเป็นข้ออ้างในการจัดสรรงบประมาณ แต่ไม่เคยแก้ไขปัญหาได้จริงเลย วันนี้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า รัฐบาลนี้ทำได้เพียงใช้งบประมาณเพื่อหล่อเลี้ยงอำนาจของรัฐราชการ เพื่อค้ำจุนอำนาจของตัวเอง ด้วยเหตุนี้ ตนจึงไม่สามารถรับหลักการของร่างงบฯ ฉบับนี้ ให้ผ่านไปสู่ทางตันได้

ไชยา พรหมา ประชุมสภา งบประมาณ -CA5F-4F00-91C0-493ABB8F298B.jpeg

‘ไชยา’ อัด รัฐบาลตั้งงบฯ ขาดดุล ชี้ ‘ประมาณการจัดเก็บรายได้’ ต่ำทุกปี

ไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า งบประมาณฉบับนี้ขาดดุลต่อเนื่องแสดงตัวเลขที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล ตัวเลขที่แสดงให้เห็นคือ การจัดทำงบที่อยู่ในลักษณะขาดดุล ตั้งแต่ ปี 2557 - 2565 ยังอยู่ในการขาดดุล 7 แสนล้าน ประมาณ 4.04% ต่อ GDP ปี 2566 ขาดดุล 695,000 ล้านบาท หรือ 3.9% ต่อ GDP จะเห็นได้ว่า รัฐบาลตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ เศรษฐกิจตกต่ำ เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดับทุกตัว ไม่ว่าจะการส่งออก การท่องเที่ยว การบริโภคภายใน ประชาชนขาดกำลังซื้อ ตกงาน ถูกเลิกจ้างงาน การลงทุนเอกชนไม่เกิด การลงทุนรัฐบาลล่าช้า 

ไชยา เผยว่า จากรายงายของกรมบัญชีกลาง การเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2565 ใน 5 เดือนแรก ต่ำกว่าเป้าหมาย ส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ซึ่งเป็นภาษีของประชาชนนั้นต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันระดับการขาดดุล เฉลี่ยอยู่ที่ 2-3% ต่อ GDP และขยับอยู่ในระดับ 4% ต่อ GDP ในปีงบประมาณ 2565-2566 เป็นการจัดงบประมาณในลักษณะ ‘แก้เกี้ยว’ ทำตัวเลขเสมือนว่า รัฐบาลแสดงงบประมาณขาดดุลน้อยลงประมาณ 5 พันล้านบาท

ไชยา กล่าวว่า รัฐบาลได้ออกพ.ร.ก.เงินกู้ 2 ฉบับ ฉบับปี 2563 1 ล้านล้านบาท และฉบับปี 2564 จำนวน 5 แสนล้านบาท ส่งผลให้หนี้สาธารณะของประเทศสูงขึ้นแตะกับ 62.76% ต่อ GDP และตนนั้นได้ข้อมูลจากสำนักบริหารหนี้สาธารณะที่รายงานต่อครม.เมื่อ12 เม.ย. ว่า หนี้สาธารณะของเราเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ในรอบ 15 ปี แม้ตัวเลขหนี้สาธารณะยังไม่เกินกรอบวินัยการเงินการคลัง เพราะมีการแก้ไขเพดานหนี้ใหม่โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐตามมาตรา 10 ของกฎหมาย ว่าด้วยวินัยกฎหมายการเงินการคลังที่มี พล.อ.ประยุทธ์ นั่งเป็นประธาน จากไม่เกิน 60% ต่อ GDP ขยายไปเป็น 70% เมื่อ 16 เม.ย. 2563 โดยที่ พล.อ.ประยุทธ์ ลงนามประกาศนโยบายการเงินการคลังที่ส่งผลกระทบต่อการจัดงบประมาณในปีต่อๆ มา ดังนี้ 

1. การแก้ไขสัดส่วนงบกลาง รายการเงินสำรองใหม่เพื่อกรณีฉุกเฉิน จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 3.5% ของงบประมาณ เปลี่ยนเป็นไม่เกิน 7.5% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี แสดงให้เห็นว่า งบกลางจะกระโดดขึ้นเป็น 2 เท่าทันที

2.การแก้ไขสัดส่วนการชำระคืนเงินต้นจากเดิมนั้น ตั้งไว้ในการชำระไม่น้อยกว่า 2.5 ของงบประมาณ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ มีการแก้ไขไม่น้อยกว่า 1.5% ดูเสมือนว่าวิธีการดังกล่าวจะเป็นผลดีกับรัฐบาล แต่ข้อเท็จจริง เป็นการทำลายความน่าเชื่อถือทางการคลังของรัฐบาล ส่งผลให้หนี้สาธารณะสูงขึ้น และเป็นภาระของประชาชนในอนาคต นำไปสู่หายนะการคลังของประเทศในระยะยาว

ไชยา กล่าวว่า ส่วนการจัดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 นั้น ไม่แตกต่างจากปีที่แล้วเท่าไหร่ รายจ่าย 3.185 ล้านล้าน มาจากเป้าหมายของการจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 2.49 ล้านล้าน เป็นการกู้เงินชดเชยการขาดดุลงบประมาณอยู่ 695,000 ล้าน เห็นได้ว่า ตัวเลขถูกลดการขาดดุลงบประมาณ จากปี 2565 อยู่ที่ 5 พันล้านบาทนั้นเป็นการลดแก้เกี้ยว ให้ดูเหมือนว่า รัฐบาลจัดงบขาดดุลน้อยลง ทั้งๆ ที่เพดานหนี้เพื่อชดเชยการขาดดุลปี 2566 สามารถขยับได้ไปถึง 717,000 ล้านบาท 

การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ มาตรา 21 ระบุไว้ว่า การกู้เงินชดเชยการขาดดุลงบ สามารถทำได้โดยอำนาจกระทรวงการคลัง กู้ได้ไม่เกิน ร้อยละ 20 และ 80 ของงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้สำหรับคืนเงินต้นเงินกู้ของรัฐบาล ดังนั้นเพดานของปี 2566 อยู่ที่ 717,000 ล้านบาท แต่รัฐบาลนั้นตั้งไว้ต่ำกว่า การที่รัฐบาลเลือกการจัดทำงบแบบขาดดุล แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลมีความมั่นใจที่จะมีขีดความสามารถนำมาใช้จ่ายในงบประมาณแผ่นดิน ดังนั้นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบนั้นจะต้องนำเงินมาเพื่อใช้จ่ายให้กระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในภาพรวม รัฐบาลจะได้รับประโยชน์จากภาษีทางตรง และทางอ้อม

“แผนจัดซื้ออาวุธระยะยาวจำนวนมากนั้น รวมแล้ว 4.5 แสนล้านล้านบาท ในระยะสิบปีข้างหน้า สิ่งเหล่านี้อาจล้าสมัย วันนั้นถ้าเขารับกันด้วยนิวเคลียร์ รถถัง เรือดำน้ำอาจล้าสมัยไปแล้ว” ไชยา กล่าว 

ไชยา กล่าวว่า งบบูรณาการที่มีสูงถึง 218,477 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.86 ของงบประมาณรายจ่าย ถูกซ่อนไว้ในกระทรวง และไร้ประสิทธิภาพ ไม่มีความเหมาะสมเนื่องจากไม่สามารถวัดความสำเร็จให้ชัดเจนของเนื้อหาสาระของแต่ละโครงการได้ ทำให้การทำงานแบบบูรณาการเป็นเพียงรูปแบบและคำพูดที่สวยหรูเท่านั้น ขาดการบูรณาการอย่างแท้จริง ซับซ้อนซ่อนเงื่อน ส่วนงบประมาณรายจ่ายเพื่อการลงทุน แม้จะสัดส่วนอยู่ที่ 21.8% แต่ในรายละเอียดพบว่า งบลงทุนที่แท้จริงมีเพียง 15.46% อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าความเป็นจริง งบนี้ควรมากขึ้น และมุ่งไปสู่การกระตุ้นการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ การจัดทำงบครั้งนี้ไม่เหมาะสม และไม่สอดคล้องกับระบบสังคมที่เปลี่ยนแปลงในเหตุการณ์ปัจจุบัน ถึงแม้ปี 2566 จะสามารถกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลได้ถึง 717,000 ล้านบาทก็ตาม แต่ปัญหาที่ตามมาคือ จะสามารถจัดเก็บงบประมาณภาษีนั้นเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ เพราะถ้าการจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการณ์ ถามว่ารัฐบาลจะทำอย่างไร 

ไชยา กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ปี 2558 - 2565 ตัวเลขการประมาณการณ์จัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายทุกปี หนักสุดคือปี 2563 การจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการณ์ 340,000 ล้าน เป็นที่มาของกู้เงินชดเชยในส่วนที่ขาด ทำให้รัฐบาลกู้เงินเกินกรอบวงเงินที่ขออนุมัติจากสภา รัฐบาลใช้กลไกโดยใช้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินชดเชยรายจ่ายที่สูงกว่ารายรับ เป็นภาระของงบประมาณที่จะต้องจ่ายเงินคืนส่วนนั้นในปีถัดไป ซึ่งเรียกว่า ‘การตั้งจ่ายคืนรายการชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย’ และจะมีผลต่อการทำงบประมาณรายจ่ายปีต่อไป ทำให้เกิดการสะสมหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นทุกปี ซึ่งเกิดมาแล้วในปี 2565 งบส่วนนี้ตั้งจ่ายอยู่ที่ 24,000 ล้านบาท ซึ่งกู้เงินเกินกรอบงบเงินในปี 2564 แม้ว่าปี 2566 ไม่ปรากฏรายการนี้ แต่พอสิ้นปีงบประมาณ ปิดหีบการเสียภาษีนิติบุคคล เราจะรู้ตัวเลขว่า การจัดเก็บรายได้ในปี 2566 เป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ และจะมีการกู้เงินตั้งจ่ายในปี 2567 ต่อไป 

ไชยา กล่าวว่า ขณะที่องค์การอาหาร และเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลถึงวิกฤตราคาอาหารที่แพงขึ้นทั้งโลก สินค้าโภคภัณฑ์ ที่ซื้อขายมากสุดในโลก สูงขึ้นในรอบ 10 ปี เป็นผลมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจาก 2 ประเทศ ส่งออกวัตถุดิบทางการเกษตร เพื่อไปประกอบอาหารรายให้ฐ่ของโลก ในขณะที่ประเทศอื่นขาดแคลน ประเทศกลายเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก นี่คือการสร้างรายได้ให้กับประเทศ ส่วนในภาคประชาชน คนเริ่มเป็นหนี้ตั้งแต่อายุน้อย 25-35 ปี เป็นหนี้เกิดจากสินเชื่อบัตรเครดิตที่มีโปรโมชั่น 10 เดือน 0% เป็นการกระตุ้นให้เกิดบริโภคเกินตัว ทำให้เกิดภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว

จิรพงษ์ ประชุมสภา BD3-86AD-859CD382267E.jpeg

‘จิรพงษ์’ จวกจัดงบตั้งรายรับเอื้อธุรกิจใหญ่ ’ ยกรบ.ชินวัตร เก็บรายได้มากกว่ารายจ่าย 

ด้าน จิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ความสามารถในการบริหารรายรับของรัฐบาลนั้นทำให้ประเทศมีหนี้สินเป็นจำนวนมากเพราะใช้มาตรการทางด้านภาษีที่เอื้อธุรกิจขนาดใหญ่ อีกทั้งยังใช้นโยบายเสียภาษีแบบเสือนอนกินที่ออกมาตรการทางด้านภาษีเอื้อคนรวยสร้างความเสียหายให้กับประเทศ 

จิรพงษ์ กล่าวต่อว่า รายรับประจำปีในงบประมาณปี 2566 นั้นตั้งไว้ 3,185,000 ล้านบาท รัฐบาลประเมินรายได้อยู่ที่ 2,490,000 ล้านบาท และกู้เงินอีก 695,000 ล้านบาท ตั้งแต่รัฐบาลของ ชวน หลีกภัย (ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎรในปัจจุบัน) เรื่อยมาจนถึงรัฐบาลของ ทักษิณ ชินวัตร มีการจัดเก็บรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น มากกว่ารายจ่ายของประเทศ ทำให้มีเงินเหลือพอจนสามารถใช้หนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปรียบยุคนั้นได้ว่า 

“ใครจักใคร่ค่าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทองค้า ไพร่ฟ้าหน้าใส เรื่อยมาจนถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เราได้เก็บรายได้มากกว่ารายจ่ายทุกปี แม้ว่าตอนนั้นเราจะเผชิญการชุมนุมของผู้ประท้วงทางการเมือง และวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา หรือ Hamburger Crisis” จิรพงษ์ กล่าว 

จิรพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาลที่ผ่านมานั้นใช้มาตรการทางด้านภาษีอย่างมีประสิทธิผล และเป็นธรรม หลายรัฐบาลได้ใช้พ.ร.ก.เงินกู้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่นั่นทำให้รัฐบาลได้เม็ดเงินเข้ามาในรูปแบบภาษี ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 การจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าการประเมิณการทุกปี อัตราการเก็บภาษีนิติบุคคลของ SME ที่ระบุว่า รายได้ 300,000 - 3,000,000 บาท เก็บ 15% รายได้มากกว่า 3,000,000 บาท เก็บ 20% คำถามอยู่ที่ว่า ถ้าบริษัทใหญ่ที่มีรายได้มากกว่า 40,000,000 บาท ถึงหมื่นล้านบาท จะเสียภาษีเท่ากับ SME เล็กๆ อย่างนี้ไม่เป็นธรรม 

จิรพงษ์ เสริมว่า รัฐบาลออกนโนบายภาษีแบบเสือนอนกิน เสือนอนกินตัวสุดท้ายกำลังจะตาย เพราะกินไก่ ไม่เลี้ยงไก่ไว้กินไข่ ใช้พ.ร.บ.สรรพสามิต ซึ่งมีการแก้ไขตอนปี 2560 เอาภาษีขายปลีกแนะนำมาเป็นราคาขายต่อผู้บริโภค ยกเลิกราคาขายออกจากโรงงาน รัฐบาลเก็บภาษีสองขา โดยเฉพาะในภาษีเครื่องดื่มมีการจัดเก็บภาษีแบบ Two-Tier (ทูเทียร์) อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราตามปริมาณ คนดื่มโค้ก 10 บาท จะต้องเสียภาษีสรรพสามิต 2 บาท รวมมูลค่าเพิ่ม 3 บาท 

จิรพงษ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่โหดร้ายมากกว่านั้น การออกพ.ร.บ.ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างที่ออกเมื่อ 12 มี.ค. 2562 ก่อนที่จะมีสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ ฉะนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องมาโทษว่าสภาฯ ชุดนี้เป็นคนทำ รวมถึงปล่อยปะละเลยให้มีการทุจริตด้านภาษี เจ้าสัวรวยๆ ซื้อที่ไปปลูกไร่สวนผลไม้กลางกรุงเทพฯ เพื่อเลี่ยงภาษีในการจ่ายค่าภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง 

“การทำทรยศต่อประชาชน ขูดรีดภาษีประชาชน จะทำให้ประชาชนอยู่ได้อย่างร่มเย็นได้อย่างไร เพราะฉะนั้นผมจึงไม่อาจไว้วางใจให้ร่างพ.ร.บ.งบฯ ปี 2566 นี้ผ่านสภาฯ ได้”