เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 1 มิ.ย. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเรื่องด่วน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง โดย จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายเป็นคนแรกของพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยระบุว่า ได้ศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบฯ ฉบับนี้ พบว่านอกจากไม่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจแล้ว ยังออกแบบมาเพื่อขูดเลือดขูดเนื้อประชาชน ซ้ำเติมความทุกข์ยาก จึงขอเรียกร่างงบฯ ฉบับนี้ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับขูดรีดประชาชน
จิราพร กล่าวต่อว่า เราทราบกันดีว่ารายได้หลักมาจาก 2 ช่องทาง คือ รายได้จากภาษีอากร และรายได้จากรัฐพานิชย์ หรือรัฐวิสาหกิจ ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ระบุว่า รัฐบาลสามารถกู้เงินได้สูงสุด 7 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลจงใจปรับลดเงินกู้ลง 5 พันล้านบาท เพื่อให้ตัวเลขการกู้ดูน้อยลง ทว่าได้เพิ่มประมาณการรายได้เป็น 2.49 ล้านล้านบาท เพื่อจะได้เก็บภาษีเพิ่มอีก 9 หมื่นล้าน
“พฤติกรรมเช่นนี้ถือเป็นการเอาเปรียบประชาชนเป็นอย่างมาก รัฐบาลลดวงเงินกู้เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน ว่าเป็นรัฐบาลนักกู้ ที่กู้เพิ่มทุกปีจนเต็มเพดาน แต่มาเพิ่มการจัดเก็บภาษีรายได้จากรัฐวิสาหกิจ และผลักภาระให้พี่น้องประชาชนแทน เป็นการซ้ำเติมประชาชน ที่วันนี้ยังไม่เห็นแสงสว่างว่าจะฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัสแบบนี้ได้อย่างไร”
จิราพร อภิปรายว่า รัฐบาลตั้งเป้าว่าในปี 2566 จะจัดเก็บภาษีเงินได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 9.9 หมื่นล้านบาท แต่คำถามคือจะเก็บจากบริษัทขนาดใหญ่ หรือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ภาษีเงินได้นิติบุคคลกว่า 80% มาจากบริษัทขนาดใหญ่ รัฐบาลจึงมีมาตรการเอื้อให้บริษัทใหญ่เหล่านี้มีรายได้เพิ่ม เพื่อมาจ่ายภาษีให้เข้าเป้า โดยที่อาจจะละเลยไม่ใส่ใจนโยบายที่จะสนับสนุนบริษัทหรือธุรกิจขนาดเล็ก หากจัดเก็บภาษีได้ไม่ตามเป้า เคราะห์กรรมอาจตกลงมาที่บริษัทขนาดเล็กเหล่านี้ ที่บอบช้ำอยู่แล้วจากพิษเศรษฐกิจ
จิราพร ชี้ว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่รัฐบาลจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเต็มจำนวน แต่แทบจะเก็บจากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเศรษฐีคนรวยไม่ได้ เพราะใช้ช่องโหว่ทางกฏหมายให้เสียภาษีน้อยลง ดังจะเห็นได้ว่า ใจกลางกรุงเทพฯ เต็มไปด้วยสวนป่า สวนผลไม้ คนที่ต้องจ่ายภาษีจริงเป็นผู้มีรายได้ปานกลาง เพิ่งจะก่อร่างสร้างตัว ลงทุนเพื่อความมั่นคง จากที่บอบช้ำอยู่แล้ว กลับยังต้องจ่ายภาษีเต็ม
นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา รัฐวิสาหกิจยังต้องนำเข้ารายได้เข้าคลังเพิ่มขึ้น 5% เท่ากับว่าในแต่ละปีงบประมาณ รัฐวิสาหกิจต้องนำเงินเข้าคลังเป็น 50% ของรายได้ ซึ่งสะท้อนว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 นี้ รัฐบาลสิ้นไร้ไม้ตอก ไม่รู้จะหาเงินจากไหน จนต้องรีดเงินเพิ่มจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ
“แต่สิ่งที่รัฐบาลนี้ผิดเต็มๆ คือ ไปเรียกเก็บเงินเพิ่มจากรัฐวิสาหกิจ แต่กลับปล่อยปละละเลยให้รัฐวิสาหกิจไปขูดรีดประชาชนต่อ ตั้งแต่ปี 2565 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศขึ้นค่าไฟในรอบ 2 ปี จนปัจจุบัน ค่าไฟขึ้นเป็น 4 บาทต่อหน่วย สูงสุดในประวัติการณ์ ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้น”
“การที่รัฐบาลยอมปล่อยให้รัฐวิสาหกิจขึ้นค่าไฟโดยไม่กำกับดูแล เพราะต้องการได้ส่วนแบ่งกำไรนี้มาเป็นงบประมาณของรัฐบาลใช่หรือไม่ สรุปว่าประชาชนเสียทั้งขึ้นทั้งล่อง ภาษีก็เสีย ค่าไฟก็ต้องจ่ายแพงขึ้น ค่าครองชีพก็พุ่งกระฉูด แต่เงินในกระเป๋าลดลง แทบไม่มีช่องทางให้สามารถลืมตาอ้าปากได้ รัฐบาลนี้กำลังปล่อยให้ประชาชนไปตายเอาดาบหน้า”
จิราพร กล่าวว่า ช่วงที่เศรษฐกิจกำลังถดถอยเช่นนี้ รัฐบาลต้องมีมาตรการดูแลไม่ให้ค่าไฟขึ้น ไม่ได้หมายความว่าต้องให้รัฐวิสาหกิจขาดทุน แต่ให้กำไรลดลงบ้าง ไม่ต้องมาเก็บกับประชาชนเพิ่ม เพื่อเจือจุนประชาชนในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ตนคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คงไม่ได้รู้สึกรู้สา เพราะอาศัยอยู่บ้านหลวง ไฟฟรี น้ำฟรี รถฟรี จนเคยตัว เลยไม่ได้เข้าใจความทุกข์ยากของประชาชน
ทั้งนี้ จิราพร ยังระบุว่า ตลอด 8 ปี ที่ผ่านมา รัฐบาลยังวนเวียนกับวิธีหารายได้แบบเก่าๆ แบบ 10 ปีที่แล้ว ไม่ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อสร้างฐานรายได้ใหม่ๆ ให้กับประเทศดังที่เคยประกาศไว้ มัวแต่กินบุญเก่า รายได้หลักของประเทศคือการท่องเที่ยวจึงสูญหาย เศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดถึงมากขึ้นในช่วงหลังมานี้ แต่ไม่ถือเป็นสิ่งใหม่ เพราะได้ริเริ่มมาตั้งแต่ยุครัฐบาลไทยรักไทย ภายใต้ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้สนับสนุนพื้นที่ให้คนได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ และประสบความสำเร็จอย่างมาก
“ถ้ารัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ได้อยู่ยาว 8 ปี แบบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หน้าตาเศรษฐกิจไทยจะไม่ใช่แบบนี้แน่นอน” จิราพร อภิปราย
ในทางตรงกันข้าม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA กลับไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาล ทั้งที่เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แต่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเฉลี่ยเพียงปีละ 300 ล้านบาท ในร่างงบฯ 2566 ฉบับนี้ ได้รับน้อยกว่าปีที่แล้วราว 8 ล้านบาท และ 86% ของงบที่ได้มานี้ก็เป็นรายจ่ายประจำ เหลืองบลงทุนเพียง 14%
“คนทำนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ต้องไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กดทับเสรีภาพทางความคิดของประชาชน ความคิดสร้างสรรค์ไม่มีวันเกิดขึ้นได้ ภายใต้รัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจ ที่ไร้ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ” จิราพร กล่าว