ไม่พบผลการค้นหา
โฆษกพรรคเพื่อไทย เสนอรัฐบาลผ่อนปรนมาตรการ คงเข้มงวดการตรวจโรค เร่งเยียวยาให้ครอบคลุม

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ถือเป็นความก้าวหน้าไปอีกก้าว ของความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจของคนไทยทั้งประเทศ ในการร่วมมือกับแพทย์พยาบาลบุคลากรทางการสาธารณสุข จนทำให้ตลอดช่วงที่ผ่านมาจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง แม้จะยังไม่มีวัคซีน แต่ถือว่าคนไทยได้สร้างภูมิคุ้มกันด้านการตื่นรู้ มีความเข้าใจในหลักปฏิบัติเพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การก้าวไปสู่การแก้ปัญหาโควิดในระยะต่อไป มิอาจดูเฉพาะจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลง เพราะขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อลด แต่จำนวนคนฆ่าตัวตายจากการล็อกดาวน์กลับพุ่ง จะการ์ดไม่ตกจนไม่เห็นอะไร ไม่ทำอะไรเลยไม่ได้ เพราะคนจะอดตาย ปัญหาสังคมจะตามมา

จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล ให้ดำเนินการ 3 คลาย 4 เข้ม คือ 1.เลือกธุรกิจที่จะผ่อนคลาย 2.เลือกพื้นที่ที่จะผ่อนคลาย 3.เลือกเส้นทางสัญจรที่ปลอดโรคผ่อนคลาย ส่วน 4 เข้ม คือ 1.เข้มการตรวจควบคุมโรค กักตัว รักษา 2.เข้มการเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศ 3.เข้มการเยียวยาทางเศรษฐกิจ 4.เข้มการรับฟังความเดือดร้อนของประชาชน

“คนในสังคมทราบว่าอย่างน้อยอาจต้องสู้กับโควิด-19 อีกเป็นปี แต่การดำเนินมาตรการที่ไม่สอดรับกับสถานการณ์ ทำให้ประชาชนเสียโอกาส ใช้เวลาในการแก้ปัญหานานเกินไปและไม่ตรงกับสภาพปัญหาที่แท้จริง” นายอนุสรณ์ กล่าว

จี้ รัฐ เยียวยาถ้วนหน้า หยุดสถิติฆ่าตัวตายรายวัน

ขณะที่การเยียวยาประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 นายอนุสรณ์กล่าวว่า จนถึงขณะนี้มีประชาชนที่เข้าไม่ถึงการเยียวยามากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ สิ้นเดือนเมษายน 2563 รัฐบาลบอกว่าจะมีประชาชนผู้ผ่านเกณฑ์รับเงินเยียวยา 5 พันบาท 6.4 ล้านคน เฉพาะผู้ลงทะเบียนในโครงการเราไม่ทิ้งกัน 23.5 ล้านคน ถูกทิ้งให้รอมา 2 เดือน 17.1 ล้านคน จากการที่รัฐบาลออกมาตรการล็อกดาวน์ และอีกหลายมาตรการที่สะเปะสะปะ แล้วผู้ได้รับผลกระทบคือประชาชน

จากข้อมูลศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ พบว่าภาคครัวเรือนไทยค่อนข้างเปราะบางต่อการรับมือกับวิกฤต สะท้อนจาก 33.9 เปอร์เซ็นต์ ของครัวเรือนมีทรัพย์สินพอใช้ได้ 1 เดือน 48.2 เปอร์เซ็นต์ ของครัวเรือนมีทรัพย์สินพอใช้ได้ 2 เดือน 59.2 เปอร์เซ็นต์ ของครัวเรือน หรือ 12.7 ล้านครัวเรือน มีทรัพย์สินทางการเงินน้อยกว่าค่าใช้จ่าย 3 เดือน

นอกเหนือจากการตรวจสแกนหาผู้ติดเชื้อเพื่อมากักตัว รักษา ควรตรวจสแกนเอกซเรย์เพื่อค้นหาคนเข้าไม่ถึงการเยียวยา รัฐบาลจะอ้างเหตุในการขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขยายเคอร์ฟิว ก็หาเหตุไป แต่ไม่ควรอ้างเหตุในการไม่เยียวยาประชาชนหรือซื้อเวลาออกไปเรื่อยๆ การเยียวยาถ้วนหน้าอย่างมีหลักเกณฑ์ เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องพิจารณาอย่างจริงจังเร่งด่วน เพื่อหยุดสถิติคนฆ่าตัวตายรายวัน จากการล็อกดาวน์ประเทศของรัฐบาล

“ควบคุมโรคไม่ประมาทการ์ดอย่าตกไม่เป็นปัญหา แต่การเยียวยาอย่าการ์ดสูงจนมองไม่เห็นความทุกข์ร้อนของประชาชน การเยียวยาถ้วนหน้าอย่างมีหลักเกณฑ์ จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการเยียวยา หยุดสถิติฆ่าตัวตายรายวัน” นายอนุสรณ์ กล่าว