ไม่พบผลการค้นหา
กรมชลฯ ห่วงฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ ส่งผลน้ำไหลลงเขื่อนน้อย วอนประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด หวังเก็บน้ำทุกหยดเข้าเขื่อนอีก 38,000 ล้าน ลบ.ม. สสนก.เตือนเขื่อนน้ำน้อยขั้นวิกฤติ 18 แห่ง

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบนและประเทศไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวตังเกี๋ยและชายฝั่งของประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในระยะนี้ โดยบริเวณด้านตะวันตกของภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีการกระจายของฝนมากกว่าภาคอื่น ๆ แต่ปริมาณฝนที่ตกยังคงน้อยกว่าค่าปกติ ส่งผลให้้ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ น้อยลง

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 37,018 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมดมีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 13,093 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันมากกว่า 38,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,596 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 35 ของความจุอ่างฯ รวมกันมีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,900 ล้าน ลบ.ม. ซึ่ง 4 เขื่อนหลัก ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 16,200 ล้าน ลบ.ม.

ทางด้านแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ ทั่วประเทศส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย โดยแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 358 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 7.95 เมตร มีแนวโน้มลดลงและยังคงระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 60 ลบ.ม./วินาที เพื่อรักษาระบบนิเวศ ทั้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนที่ อ.บางไทรมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 67 ลบ.ม./วินาที

โดยกรมชลฯ ได้ติดตามสภาวะอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ คาดการณ์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำและสภาพน้ำท่าในแม่น้ำสายหลักและแม่น้ำสาขาต่างๆ พร้อมกำชับให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด พร้อมบูรณาการทุกหน่วยงานลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนและทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อให้มีปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอสำหรับอุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศ

สำหรับกรณีพื้นที่ปลูกข้าวนาปีบริเวณท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ ในเขตโครงการชลประทานหนองหวายเสี่ยงขาดแคลนน้ำ เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์อยู่ในเกณฑ์น้อยต้องสำรองน้ำไว้ใช้เฉพาะการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวายได้ประชุมกับผู้แทนกลุ่มผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนเพื่อวางแนวทางการใช้น้ำจากฝายหนองหวายที่มีอยู่ประมาณ 17 ล้าน ลบ.ม. ส่งน้ำแบบรอบเวรอย่างเคร่งครัด ทำให้การกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่เป็นไปอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

ด้านสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร หรือ สสนก. เตือนสถานการณ์เขื่อนมีน้ำใช้การน้อยขั้นวิกฤติ ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำ ร้อยละ 0 เขื่อนสิรินธรมีน้ำ ร้อยละ 1 เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีน้ำ ร้อยละ 6 เขื่อนคลองสียัดมีน้ำ ร้อยละ 6 เขื่อนสิริกิติ์มีน้ำ ร้อยละ 7 เขื่อนภูมิพลมีน้ำ ร้อยละ 8 เขื่อนจุฬาภรณ์มีน้ำ ร้อยละ 9 เขื่อนกระเสียว ร้อยละ 10 เขื่อนแควน้อยมีน้ำ ร้อยละ 12 เขื่อนทับเสลามีน้ำ ร้อยละ 13 เขื่อนขุนด่านปราการชลมีน้ำ ร้อยละ 13 เขื่อนลำพระเพลิงมีน้ำ ร้อยละ 14% เขื่อนแม่กวงมีน้ำ ร้อยละ 15 เขื่อนนฤบดินทรจินดามีน้ำ ร้อยละ 16 เขื่อนวชิราลงกรณ์มีน้ำ ร้อยละ 17 เขื่อนน้ำพุงมีน้ำ ร้อยละ 18 เขื่อนห้วยหลวงมีน้ำ ร้อยละ 18 และเขื่อนศรีนครินทร์มีน้ำ ร้อยละ 19 ของความจุอ่าง