ไม่พบผลการค้นหา
ปัญหาการจัดการระบบสาธารณสุขของอิตาลีอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นไปอย่างรวดเร็ว จนมียอดแซงหน้าเกาหลีใต้ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อิตาลีเป็นประเทศที่ออกมาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19 เป็นประเทศแรกๆ ของโลก นับตั้งแต่เริ่มเกิดกสนแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศจีน รัฐบาลอิตาลีส่ังห้ามเที่ยวบินจากจีนทุกเที่ยวเข้าอิตาลี พร้อมทั้งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศ แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่อาจห้ามการแพร่ระบาดในครั้งนี้ได้

แมสซิโม่ กัลลี หัวหน้าแผนกโรคติดต่อของโรงพยาบาลซัคโคในมิลานกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่เชื้อไวรัสโควิด-19 จะเข้ามาในอิตาลีก่อนหน้าที่จะมีการประกาศมาตรการห้ามการเดินทางและอยู่ในระยะฟักตัวของเชื้อไวรัส และเชื้อไวรัสฟักตัวในร่างกายผู้ติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการต่างๆ ของโรคออกมา

อีกทั้งมีความเป็นไปได้ว่า เชื้อไวรัสอาจจะมากับผู้ป่วยบางรายที่เข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลในโคโดโญ ทางเหนือของอิตาลี ซึ่งเป็นที่ที่พบผู้ติดเชื้อรายแรกของประเทศเมื่อวันที่ 20 ก.พ.

หลังจากอิตาลีพบผู้ติดเชื้อรายแรก เพียง 17 วันต่อมา ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในอิตาลีก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนแซงหน้าเกาหลีใต้ โดยมีรายงานยอดผู้ติดเชื้อแล้วเกือบ 10,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 463 ราย

ขณะที่มาตรการของรัฐบาลอิตาลีล่าสุดมีประกาศปิดเมืองทุกเมืองของประเทศ ห้ามประชาชนเดินทางเข้าออกในเมืองต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะในเขตพื้นที่สีแดงอย่างแคว้นลอมบาร์ดี และเเคว้นเวเนโต รวมถึงเมืองอื่นๆ ทางตอนเหนือของประเทศ

ระบบสาธารณสุขที่เป็นปัญหา

อิตาลีมีระบบสาธารณสุขแห่งชาติ (SSN) เป็นระบบที่รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นใช้ข้อมูลคนไข้ร่วมกัน ซึ่งมาจากการกระจายอำนาจทางสาธารณสุขให้กับท้องถิ่น และได้กลายเป็นจุดอ่อนของการควบคุมการระบาดในครั้งนี้ เพราะการดำเนินนโยบายหรือการประกาศมาตรการไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกันระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น

ลอเรนโซ คาซานี ผู้อำนวยการคลินิกเอกชนสำหรับผู้สูงวัยกล่าวว่า ระบบสาธารณสุขของอิตาลีไม่พร้อมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ก็สามารถตอบสนองต่อการรักษาได้อย่างรวดเร็ว

เขายังกล่าวว่า ทางการอิตาลีควรมีการแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องและมีการเตรียมพร้อมรับมือกับกรณีฉุกเฉิน ซึ่งที่ผ่านมาเกิดความสับสนและขาดการวางแผนร่วมกันในระดับภูมิภาค รวมไปถึงการประสานงานกันระหว่างคลินิกเอกชนและโรงพยาบาลของรัฐ

รายงานของหน่วยงานวิจัยสาธารณสุขของมหาวิทยาลัย OASI ระบุว่า งบประมาณในระบบสาธารณสุขของอิตาลมีสัดส่วนเพียง 6.8 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีประเทศเท่านั้น ทั้งนี้แม้ว่าระบบสาธารณสุขของอิตาลีจะมีประสิทธิภาพเพียงใด แต่ก็ยังคงขาดแคลนทรัพยากรและประสิทธิภาพการทำงานในยามฉุกเฉิน

เมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา รัฐบาลอิตาลีประกาศแผนฉุกเฉินเพื่อเป็นงบประมาณในการควบคุมการระบาดและสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศกว่า 7,500 ล้านยูโร หรือประมาณ 255,000 ล้านบาท

อิตาลีกำลังตกอยู่ภาวะผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล

ผู้อำนวยการสมาคมการแพทย์ของอิตาลีออกมากล่าวเตือนว่า ในแคว้นลอมบาร์ดี ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดของโควิด-19 ในอิตาลี กำลังขาดแคลนเตียงคนไข้ ซึ่งปัจจุบันกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของโรงพยาบาลในแคว้นลอมบาร์ดีมีคนไข้เข้ารับการรักษาเต็มหมดแล้ว

ปัจจุบันหน่วยงานรักษาผู้ป่วยวิกฤตรักษาผู้ป่วยอยู่ 567 ราย ขณะที่ทั่วประเทศมีเตียงรองรับคนไข้เพียง 5,395 เตียงเท่านั้น

ฟิลิปโป อัลเนลลี ประธานสมาพันธ์ภาคีแพทย์อิตาลีกล่าวว่า หากลอมบาร์ดียังประสบกับปัญหานี้ เขากังวลว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากมีการระบาดของเชื้อไวรัสในทางตอนใต้ของอิตาลี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ขาดแคลนทั้งอุปกรณ์การแพทย์และเจ้าหน้าที่การแพทย์ด้วยเช่นกัน

ในเรื่องการขาดแคลนรัฐมนตรีสาธารณสุขของอิตาลีได้สั่งให้เพิ่มหน่วยรักษาผุ้ป่วยวิกฤตเพิ่ม 50 เปอร์เซนต์ รวมถึงการเพิ่มเตียงในแผนกผู้ป่วยติดเชื้อป่วยเพิ่มขึ้น 2 เท่า รวมไปถึงเพื่มอัตรากำลังหมอและพยาบาลเพิ่ม 20,000 คน

นอกจากนี้ยังให้แพทย์ทหารในเขตที่มีการระบาดไม่รุนแรงเข้าไปช่วยเหลือในการรักษาผู้ติดเชื้อในพื้นที่สีแดง ซึ่งเป็นพื้นที่แถบทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี

ปัจจุบันอิตาลียังไม่สามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ ขณะที่รัฐบาลกลางของอิตาลีจะออกมาตรการต่างๆทั้งการปิดเมือง ห้ามประชาชนเดินทาง การสั่งปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ การร้องขอห้ามจัดกิจกรรมในที่สาธารณะ รวมไปถึงการยกเลิกการแข่งขันฟุตบอลในประเทศเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19

ที่มา CNA / aljazeera

ข่าวที่เกี่ยวข้อง