ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน (กรณีรายได้ไม่พอสำหรับรายจ่าย) ประจำปีงบฯ พ.ศ. 2567 รวมจำนวน 8,268.469 ล้านบาท และให้ กค. เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ กำหนดวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ในการกู้เงิน ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
กระทรวงคมนาคม รายงานว่า ขสมก. ได้เสนอขออนุมัติการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ประจำปีงบฯ พ.ศ. 2567 ซึ่ง คกก.บริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ มีมติเห็นชอบแล้วในคราวประชุมครั้งที่ 18/2565 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 สาระสำคัญดังนี้
ขสมก. ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากผลประกอบการที่ขาดทุนและไม่ได้รับเงินชดเชยผลการขาดทุนตามจำนวนที่เกิดขึ้นจริง ทำให้ ขสมก. ยังมีหนี้สินค้างชำระรวมทั้งสิ้น 136,602.529 ล้านบาท (ณ วันที่ 30 กันยายน 2565)
ขสมก. ได้จัดทำประมาณการเงินสดรับ-จ่าย ในปีงบฯ พ.ศ. 2567 คาดว่าจะมีเงินสดคงเหลือปลายงวดขาดมือ จำนวน 23,635.409 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอที่จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดสภาพคล่องทางการเงินและสามารถทำให้องค์กรบริหารจัดการต่อไปได้ ขสมก. จึงมีความจำเป็นต้องกู้เงินจำนวน 23,635.409 ล้านบาทดังกล่าว โดยส่วนหนึ่งจะนำไปชำระคืนหนี้เงินกู้เดิมที่ครบกำหนดชำระและไถ่ถอนพันธบัตรเงินกู้ จำนวน 15,366.940 ล้านบาท ซึ่ง ขสมก. ได้นำเสนอ กค. เพื่อบรรจุเข้าแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบฯ พ.ศ. 2567 แล้ว จึงคงเหลือเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน และเป็นเงินสดหมุนเวียนในการดำเนินงานของ ขสมก. ในปีงบฯ พ.ศ. 2567 (เดือน ต.ค. 2566- ก.ย. 2567) จำนวน 8,268.469 ล้านบาท
ขสมก. พิจารณาแล้วเห็นว่า หาก ขสมก. กู้เงินมาชำระหนี้ (แทนการผิดนัดชำระหนี้) จะจ่ายค่าดอกเบี้ยเงินกู้ประมาณร้อยละ 1.188 (อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2564- 30 ก.ย. 2565) หรือปีละ 51.273 ล้านบาท ซึ่งทำให้ ขสมก. สามารถประหยัดค่าดอกเบี้ยค้างชำระลงได้ปีละ 221.124 ล้านบาท หรือร้อยละ 81.177 ต่อปี