วันที่ 10 ก.พ. 2564 ที่รัฐสภา สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวภายหลังการประชุมหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ว่า ได้มีการพิจารณาเรื่องที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ จะเสนอญัตติด่วนในสภาฯ โดยขอให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้้แทนราษฎรเกี่ยวกับการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจของพรรคฝ่ายค้านว่าถูกต้องหรือไม่ โดยญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ผ่านการวินิจฉัยของประธานสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้วและได้บรรจุเป็นวาระการประชุมพร้อมส่งให้นายกรัฐมนตรีรับทราบแล้ว แต่การที่ ไพบูลย์จะนำเรื่องนี้กลับมาทบทวนใหม่นั้นตนไม่เข้าใจว่ามีความคิดเช่นไรและคงเป็นการสมคบคิดกันที่จะทำลายระบบประชาธิปไตยมากกว่าเพราะทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย และที่เห็นได้ชัดคือการเกิดความแตกแยกกันภายในของพรรคร่วมรัฐบาลเอง
ด้าน ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ประธานสภาฯ บรรจุระเบียบแล้วย่อมแสดงว่าญัตติมีความถูกต้องไม่มีข้อบกพร่องใดๆทั้งสิ้น ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร หากเกิดปัญหาขึ้นในสภา แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามเมื่อดูรายละเอียดของ ไพบูลย์ มีข้อความหลายข้อความที่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริง เช่นได้นำเอาสถาบันไปเกี่ยวข้องกับการเมืองทำให้สภามีการอภิปรายเกี่ยวกับสถาบันอย่างกว้างขวาง ตนขอยืนยันว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ถ้าดูสาระสำคัญจะเห็นว่าเป็นการกล่าวหานายกรัฐมนตรีโดยตรงซึ่งเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีต้องนำเอาข้อความที่ถูกกล่าวหาไปแก้ไข
ทั้งนี้ หากดูจากข้อบังคับการประชุมสภาฯ แล้ว สภาไม่ควรจะรับญัตติของ ไพบูลย์ เพราะไม่มีเหตุผลที่จะพิจารณาญัตติดังกล่าว และที่ผ่านมาไม่เคยมีญัตติเช่นนี้มาก่อน ที่จะตีความการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยศาลรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย หากสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบญัตติของ ไพบูลย์โดยไม่มีเหตุผลต่อไป สภาผู้แทนราษฎรจะเดินหน้าลำบาก การร่วมมือในอนาคตจะเกิดขึ้นยาก
ด้าน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หังหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวเพิ่มเติมว่าตนอยากให้ความมั่นใจกับประชาชนว่าจะไม่ทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจยุติลง หรือเลื่อนออกไป และฝากไปยังรัฐบาลว่าอย่าวิตกกังวลมากเกินไป ซึ่งในญัตติ ไพบูลก็เป็นการตอกย้ำว่าได้เอาสถาบันเข้ามาปกปิดความผิดอย่างชัดเจน
สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่าญัตติเหมาะสมแล้ว ซึ่งการหยุดการอภิปรายไม่ไว้วางใจคงไม่เกิดขึ้น แต่จะทำให้สังคมเห็นข้อเคลือบแคลง พร้อมตั้งคำถามเพื่อต้องการสอบจริยธรรมของ ไพบูลด้วย
ด้าน วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ระบุว่าในฐานะที่ตนเคยอดีตเป็นประธานรัฐสภาว่า หากตนเป็นประธานรัฐสภา จะไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เนื่องจากเป็นอำนาจของประธานสภาฯ ตามข้อบังคับ และรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ที่จะบรรจุวาระการประชุม ซึ่งเมื่อประธานบรรจุไปแล้ว ก็ไม่มีข้อสงสัยที่จะนำไปสู่การยับยั้งการพิจารณาระเบียบวาระ และหากส่งศาลก็จะเป็นการย้อนแย้งในคำวินิจฉัยของประธานสภาฯ พร้อมชี้ว่า หากไพบูลย์ จะเสนอญัตติด้วยวาจา เกรงจะเป็นการเสียเวลาเปล่า และตนเชื่อว่า ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะใช้ดุลยพินิจและไม่ส่งศาล ทั้งนี้ขอประชาชนต้องไม่หวั่นไหวว่าการอภิปรายจะไม่เกิดขึ้น หรือหากส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตนเชื่อด้วยความเคารพว่า ศาลจะรู้เรื่องอำนาจหน้าที่ ในการบรรจุวาระการประชุม ก่อนจะย้ำว่า ญัตติของฝ่ายค้านเป็นการป้องกันสถาบัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง